ศาลเยาวชนและครอบครัว จ.ภูเก็ต จัดโครงการภัยออนไลน์ อันตรายกว่าที่คิดเพื่อให้ความรู้แก่เด็กเรื่องสื่อออนไลน์
วันที่ 15 ส.ค.65 ที่โรงเรียนสตรีภูเก็ต : นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “ภัยออนไลน์ อันตรายกว่าที่คิด” โดยมีนายธีระพล มิตรประยูร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ต ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบ พร้อมคณะผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง นำโดย ดร.นิลุบล ลิ่มพงศ์พันธุ์ และ นักเรียนจำนวน 5 โรงเรียนเข้าร่วม
นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคม เป็นยุคแห่งการสื่อสารไร้พรมแดนนำไปสู่การเกิดเครือข่ายสังคมใหม่ที่เรียกว่า “เครือข่ายสังคมออนไลน์” จากสถิติเด็กและเยาวชนไทยใช้เวลาอยู่กับสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นส่วนใหญ่จากการสำรวจพบว่า แนวโน้มการใช้คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้สื่อสังคมออนไลน์เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่ Facebook Twitter YouTube Line และ Instagram ในขณะที่ความรุนแรงหลากหลาย รูปแบบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจำนวนมากมาจากสื่อออนไลน์ซึ่งเป็นภัยเงียบ สร้างความสูญเสียและผลกระทบมาก โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน จึงจำเป็นต้องร่วมกันป้องกัน/และแก้ปัญหาโดยเฉพาะการสร้างการยนรู้เท่าทันสื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสื่อ สร้างความตระหนักรู้ถึงภัยจากการใช้สื่อออนไลน์ มีทักษะในการเข้าถึงสื่อและสามารถวิเคราะห์ประเมินสื่อจากอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดภูเก็ตจึงได้จัดโครงการ “ภัยออนไลน์ อันตรายกว่าที่คิด” ขึ้น โดยจัดบรรยายให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาจากสถานศึกษาในจังหวัดภูเก็ต
นายประกอบ ลีนะเปสนันท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กล่าวว่า การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของเด็กอาจจะนำภัยมาให้อย่างคาดไม่ถึง ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตมากเป็นอันดับต้นของโลก เด็กไทยจึงมีความเสี่ยงต่อภัยไซเบอร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก ท่ามกลางความเจริญของเทคโนโลยี ภัยเงียบที่แอบซ่อนมาคือ ภัยจากสื่อออนไลน์ ที่กำลังคืบคลานคุกคามต่อสุขภาวะของเด็กและเยาวชนไทยอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ทั้งการเสพติดเกมและเสพเนื้อหาที่มีความรุนแรงสู่พฤติกรรมการเลียนแบบ เสพสื่อลามกสู่การล่วงละเมิดทางเพศ การเล่นเกมการเสี่ยงทายสู่การพนันออนไลน์ การกลั่นแกล้งรังแกบนโลกไซเบอร์ (Cyber bullying) สู่ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย ฯลฯ ทุกปัญหาจากภัยออนไลน์ ล้วนมีผลต่อการหล่อหลอมทัศนคติและพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนในระยะยาว ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือกันจัดการให้เด็กและเยาวชนเดินสู่เส้นทางการใช้โลกออนไลน์ที่เหมาะสม เพื่อเป็นอนาคตของชาติที่ดีที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ดังนั้น จึงขอให้เด็กและเยาวชนจงตั้งใจและนำเอาความรู้ที่ได้รับในวันนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด เพื่อตัวเราเองและเพื่อครอบครัวของเรา
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน