มท.1 ตอบกระทู้ สว. นโยบายต่อราษฎรผู้ไม่มีสัญชาติไทย ยืนยันรัฐบาลดูแลทุกกลุ่มให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง พร้อมชี้แจงกรณีผับเมาน์เท่น บี ย้ำเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
วันนี้ (8 ส.ค. 2565) เวลา 09.30 น. พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตอบกระทู้ถามที่ 026 ของ นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกวุฒิสภา เรื่อง นโยบายต่อราษฎรผู้ไม่มีสัญชาติไทย และกระทู้ถามด้วยวาจา ต่อกรณีผับเมาน์เท่น บี อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ของนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 20 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) โดยมีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง เป็นประธาน พร้อมด้วยสมาชิกวุฒิสภา เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพระสุริยัน ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย และมีมาตรการและแนวทางการปฏิบัติ ทั้งในเชิงนโยบาย การออกมาตรการต่าง ๆ ให้กับกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสัญชาติที่อยู่ในประเทศไทยแบ่งออกเป็นกลุ่ม ๆ แตกต่างกันไป ทั้งเรื่องการให้สถานะ สิทธิและสวัสดิการพื้นฐานที่ควรจะได้รับ ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ การเดินทาง ฯลฯ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ 1) กลุ่มชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ จำนวน 481,140 ราย ซึ่งมีทั้งผู้ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทย จำนวน 349,692 ราย และกลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศไทย จำนวน 131,448 ราย และ 2) กลุ่มต่างด้าวอื่น ๆ จำนวน 453,481 ราย ทั้ง (1) กลุ่มต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ จำนวน 54,666 ราย (2) กลุ่มบุตรที่เกิดในประเทศไทย จำนวน 66,522 ราย และ (3) กลุ่มบุคคลที่ไร้รัฐไร้สัญชาติ หรืออ้างว่าเป็นคนไทยแต่ไม่สามารถหาหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลได้ รวมถึงที่อ้างว่าเป็นชนกลุ่มน้อยที่ตกหล่นจากการสำรวจ จำนวน 72,832 ราย
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมในรายละเอียดว่า แนวทางการดำเนินการต่อกลุ่มที่ 1 (กลุ่มชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์) รัฐบาลได้ดำเนินการ (1) แก้ไขปัญหาบุคคลที่ไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎร เพื่อเป็นการสร้างอัตลักษณ์ จัดทำฐานข้อมูลรายการบุคคล การออกบัตรประจำตัว เพื่อไว้ในการแสดงตน และจำแนกคุณสมบัติต่าง ๆ เพื่อรอการพัฒนาสถานะตามคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนด อาทิ การสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติ (บัตรสีชมพูและบัตรสีขาว) เพื่อให้สามารถพักอาศัยในประเทศไทยได้ การรับแจ้งเกิดและออกสูติบัตร การจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (2) การแก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิอาศัยในประเทศไทย ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาสถานะให้สิทธิอาศัยอยู่อย่างถาวร (ได้รับใบถิ่นที่อยู่) ของคนกลุ่มนี้ โดยต้องมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 15 ปี และมีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายสัญชาติกำหนด เมื่อได้รับใบถิ่นที่อยู่ถาวรแล้วสามารถที่จะพัฒนาไปให้ถึงการได้รับสัญชาติไทยได้โดยการขอแปลงสัญชาติตามกฎหมายสัญชาติต่อไป และ (3) การแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลเฉพาะผู้เกิดในราชอาณาจักร ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาสถานะการได้สัญชาติไทย โดยต้องมีบิดามารดาเป็นชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ และอพยพเข้ามาและมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 15 ปี และมีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายสัญชาติกำหนด สามารถพัฒนาไปถึงการได้รับสัญชาติไทยได้ สำหรับแนวทางการดำเนินการต่อกลุ่มที่ 2 (กลุ่มต่างด้าวอื่น ๆ) รัฐบาลมีแนวทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาสถานะของบุคคลกลุ่มนี้โดย (1) แก้ไขปัญหาบุคคลที่ไม่มีเอกสารทะเบียนราษฎร ซึ่งกลุ่มคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย (ถือใบสำคัญถิ่นที่อยู่และใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว) จะมีสถานะเป็นผู้ได้รับสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย สามารถพัฒนาสถานะไปสู่การขอสัญชาติได้ (2) การแก้ไขปัญหาสัญชาติเฉพาะบุตรที่เกิดในประเทศไทย ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพัฒนาสถานะการได้สัญชาติไทยของคนกลุ่มนี้ โดยต้องศึกษาจบปริญญาตรีก็สามารถที่จะเข้าสู่กระบวนการขอถือสัญชาติเป็นไทยหากมีคุณสมบัติครบตามที่กฎหมายสัญชาติกำหนด และ (3) กลุ่มไร้รัฐ ไร้สัญชาติ และกลุ่มตกหล่นจากการสำรวจ ขณะนี้ให้ขึ้นทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนเป็นเวลา 5 ปี หากมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนดก็จะได้รับสิทธิให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว แต่ส่วนสิทธิการมีใบถิ่นที่อยู่ถาวรรัฐบาลยังไม่มีแนวทางในการให้ถิ่นที่อยู่ถาวรแต่อย่างใด กล่าวโดยสรุปคือ รัฐบาลได้มีการพัฒนาสถานะของราษฎรผู้ไม่มีสัญชาติไทยตามลำดับขั้นตอนเพื่อพัฒนาไปสู่การมีสัญชาติไทยตามที่กฎหมายกำหนด
“สำหรับการให้สิทธิและสวัสดิการ คณะรัฐมนตรีได้มีมติตั้งแต่ปี 2553 ให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบการรักษาพยาบาลให้กับกลุ่มที่รัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิทุกคน ด้านการศึกษาก็มีมติให้โรงเรียนและสถานศึกษาทุกแห่ง รับเด็กที่ไม่มีสัญชาติทุกคนเข้ารับการเล่าเรียนได้พร้อมออกหลักฐานรับรองการศึกษา และได้อุดหนุนงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายเทียบเท่ากับเด็กที่มีสัญชาติไทยตามสิทธิการศึกษาขั้นพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาให้สามารถเข้าถึงกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ด้านการประกอบอาชีพ รัฐบาลอนุญาตให้สามารถประกอบอาชีพได้ทุกประเภท เว้นอาชีพที่สงวนเฉพาะคนไทย รวมถึงอยู่ระหว่างพิจารณาให้บุคคลกลุ่มเลข 0 (บัตรสีขาว) และกลุ่มเลข 6 (บัตรสีชมพู) ให้สามารถฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อประกอบอาชีพได้ สำหรับการเดินทางของผู้ไม่มีสัญชาติไทย สามารถเดินทางได้หากมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ รวมถึงการแจ้งย้าย ซึ่งกลุ่มชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงต้องมีการควบคุมพื้นที่ อย่างไรก็ตามหากประสงค์จะเดินทางจะต้องขออนุญาตต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน โดยยืนยันว่ารัฐบาลได้ดูแลตามหลักมนุษยธรรม โดยมีหลักเกณฑ์ ขั้นตอน เพื่อให้มีสิทธิใกล้เคียงกับคนไทย และสามารถผลักดันให้เป็นพลังของประเทศได้” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติม
นอกจากนี้ พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ตอบกระทู้ถามด้วยวาจา ต่อกรณีเมาน์เท่น บี อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ของนายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา โดยกล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีการมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่อย่างเคร่งครัด ยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส รับผิดชอบ ภายใต้หลักของกฎหมาย และยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักมาโดยตลอด สำหรับกรณีร้านเมาน์เท่น บี อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ได้มีการแจ้งขออนุญาตจากท้องถิ่น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้กำกับดูแล ซึ่งผู้ประกอบการแจ้งขออนุญาตเปิดเป็นร้านอาหารต่อมามีการดัดแปลงเป็นสถานบริการ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อทั้งเจ้าหน้าที่ของท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ว่ามีการปล่อยปละละเลย หรือบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร รวมถึงต้องพิจารณาในการใช้กฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยในเบื้องต้นได้สั่งการให้นายอำเภอสัตหีบ ออกจากพื้นที่โดยให้ช่วยราชการกรมการปกครอง และตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าได้มีการปล่อยปะละเลย ละเว้น หรือบกพร่องต่อการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่หรือไม่อย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสอบสวน และไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีกในอนาคต นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือสั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ควบคุมและกำกับดูแลสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ตามนโยบาย “ลดอบายมุข สร้างสุขให้สังคม” โดยให้เข้มงวดกวดขัน ตรวจตราสถานบริการและสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ หากพบว่าสถานบริการและสถานประกอบการใดกระทำการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่อย่างเง้มงวด ทั้งทางอาญาและทางปกครองแล้ว
*************************
กองสารนิเทศ สป.มท.
วันที่ 8 ส.ค. 2565