ข่าวประชาสัมพันธ์

กรมชลประทาน จัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อม


26 กรกฎาคม 2022, 18:50 น.

 

กรมชลประทาน จัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อม “โครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จ.เพชรบุรี”

วันที่ 26 ก.ค.65 ที่องค์การบริหารส่วน จังหวัดเพชรบุรี : นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จังหวัดเพชรบุรี ตั้งอยู่ในแนวร่องน้ำผ่านของลุ่มน้ำเพชรบุรี เมื่อเกิดฝนตกหนักเกิน 230 มิลลิเมตร ติดต่อกันเกิน 48 ชั่วโมง จะเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าสู่แม่น้ำเพชรบุรี ทำให้ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำและที่ราบลุ่มแม่น้ำเพชรบุรีประสบอุทกภัยเป็นประจำทุกปี “โครงการจัดทำแบบจำลองคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง จังหวัดเพชรบุรี” จะเป็นการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยพื้นน้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรีตอนล่าง เขตอำเภอท่ายาง, อำเภอบ้านลาด, อำเภอชะอำ, อำเภอเมืองเพชรบุรี, อำเภอเขาย้อย และอำเภอบ้านแหลม ซึ่งตามแผนการแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยพื้นที่น้ำท่วมของกรมชลประทาน จะใช้รอบปีการเกิดซ้ำของน้ำหลากที่ 25 ปี เท่ากับ 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยมีแผนการระบายน้ำออกสู่ทะเลเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ดังต่อไปนี้

1) ระบายน้ำแม่น้ำเพชรบุรี ออกสู่ทะเลตามธรรมชาติ จำนวน 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

2) การปรับปรุงคลองระบายน้ำ D1 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

3) ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D9 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (มีการก่อสร้างและใช้งานแล้ว)

4) ปรับปรุงคลองระบายน้ำ D18 ให้สามารถระบายน้ำได้ จำนวน 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทั้งนี้ปริมาณน้ำอีก 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะถูกควบคุมโดยอาคารที่ถูกก่อสร้างในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน

 

อย่างไรก็ตาม การเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล เพื่อป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมชายฝั่ง ระบบนิเวศ และการไหลวนของกระแสน้ำ

 

กรมชลประทานจึงได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดำเนินการศึกษาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ นิเวศวิทยาทางทะเลและผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การดำเนินโครงการระบายน้ำในพื้นที่ชลประทานออกสู่ทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรอบ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และเป็นที่ยอมรับของชุมชนในพื้นที่ โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชน และหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องการออกแบบเชิงหลักการ D1
การออกแบบเชิงหลักการของคลอง D1 ประกอบด้วย 7 รายการ ดังต่อไปนี้

1) เปิดร่องน้ำ ออกแบบให้แนวร่องน้ำตั้งฉากกับแนวชายฝั่งทะเล ยื่นเข้าไปในทะเลจากปากคลองระบายน้ำสาย D1 มีความกว้าง 45 เมตร ยาว 280 เมตร ลึก 5 เมตร และมีความลาดชัน (Slope) ซ้ายขวาของร่องน้ำอย่างน้อย 1V : 5H เพื่อให้ระบายน้ำ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

2) ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ออกแบบให้ตอบสนองกับประตูควบคุมน้ำ โดยสร้างเป็นเขื่อนหินทิ้ง เนื่องจากก่อสร้างง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด ดูดซับพลังงานคลื่นดีที่สุด และลดการสะท้อนของคลื่น

3) การก่อสร้างประตูควบคุมน้ำ ออกแบบเพื่อให้ระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก และกักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง โดยออกแบบ ให้มีประตูควบคุมน้ำ 5 บาน กว้างบานละ 8 เมตร มีอัตราการไหลของน้ำ (Qd) เท่ากับ 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

4) สร้างคลองตัวยู เป็นคลองดาดคอนกรีต เพื่อช่วยลดค่าความขรุขระ และเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำ มีความกว้าง 33 เมตร ลึก 5 เมตร และมีระยะพ้นน้ำ (Freeboard) 2.0 เมตร สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 350 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้การบริหารจัดการน้ำท่วมในพื้นที่ท้ายน้ำมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาน้ำหลากท่วมในพื้นที่ตำบลบางเก่าได้

5) ก่อสร้างคันคลองตัวยูเป็นถนน 2 เลน กว้าง ประมาณ 8 เมตร พร้อมไหล่ทาง ตลอดความยาวประมาณ 25 กม. ทั้ง 2 ฝั่งคลอง ทำให้ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากถนนดังกล่าว ในการท่องเที่ยว ออกกำลังกาย หรือกิจกรรมพักผ่อนอื่นๆ บริเวณที่มีการปรับภูมิทัศน์ และชายหาดที่สวยงาม

6) ปรับภูมิทัศน์ริมคลอง ออกแบบให้เป็นที่พักผ่อน สันทนาการ และออกกำลังกาย

7) ระบบสูบน้ำ ออกแบบให้เป็นระบบสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ (Mobile Pump) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ ในกรณีที่ในพื้นที่ไม่สามารถระบายได้ทัน

จากการออกแบบเชิงหลักการดังกล่าว ประเมินมูลค่าก่อสร้างโครงการได้ประมาณ 12,434 ล้านบาท (ไม่รวมค่าเวนคืนที่ดิน) และมีค่าบำรุงรักษาปากร่องน้ำ ปีละประมาณ 9.0 ล้านบาท ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม คลองระบายน้ำ D1 ในระยะก่อสร้างที่ส่งผลกระทบด้านลบในระดับน้อย (-1) จำนวน 10 ประเด็น คือ ลักษณะภูมิประเทศ ทรัพยากรดิน สมุทรศาสตร์ ธรณีวิทยาและธรณีสัณฐานชายฝั่ง อุทกวิทยาและการระบายน้ำ คุณภาพน้ำผิวดิน แพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน การคมนาคมขนส่งทางบก เศรษฐกิจ–สังคม และสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว ส่วนในระยะดำเนินการ มีผลกระทบด้านบวกในระดับมาก (+3) จำนวน 1 ประเด็น คือ ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี อุทกวิทยาและการระบายน้ำ และผลกระทบด้านบวกในระดับปานกลาง (+2) คือ เศรษฐกิจ–สังคม

การออกแบบเชิงหลักการด้านท้ายน้ำคลอง D9 เพื่อแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากการก่อสร้าง คลอง D9

การออกแบบเชิงหลักการของคลอง D9 แบ่งออกได้เป็น 10 องค์ประกอบ ดังต่อไปนี้

1) การเปิดร่องน้ำ ออกแบบให้แนวร่องน้ำตั้งฉากกับแนวชายฝั่งทะเล ยื่นเข้าไปในทะเล เพื่อให้ระบายน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยออกแบบให้ร่องน้ำ มีความกว้าง 25 เมตร ยาว 500 เมตร ลึก 3 เมตร และมีความลาดชัน (Slope) ซ้ายขวาของร่องน้ำ อย่างน้อย 1V : 5H

2) เขื่อนกันคลื่น (พนังกันปากคลอง) ออกแบบให้ตอบสนองกับประตูควบคุมน้ำ โดยสร้างเป็นเขื่อนหินทิ้ง ทั้งด้านทิศเหนือและทิศใต้ของคลอง ความยาวข้างละประมาณ 120 เมตร สาเหตุที่เลือกใช้เขื่อนหินทิ้ง เนื่องจากก่อสร้างง่ายที่สุด ราคาถูกที่สุด สามารถดูดซับพลังงานคลื่นดีที่สุด และช่วยลดการสะท้อนของคลื่น

3) ขุดเปิดร่องน้ำเดิม ทำการขุดตะกอนดินที่ทับถมร่องน้ำในอดีต (ก่อนปี พ.ศ.2558) คลอง D9 ได้ไหลออกตรงสู่ทะเลในเส้นทางด้านทิศใต้ โดยตะกอนที่ได้จากการขุดลอก นำไปเสริมหาดในบริเวณที่กัดเซาะทางด้านใต้ของเขื่อนกันคลื่น และนำไปเสริมหาดบริเวณกัดเซาะทางด้านเหนือ อีก 1 กม.

4) เสริมหาด (Beach Nourishment) บริเวณกัดเซาะ พื้นที่ประมาณ 3,000 ตารางเมตร โดยจะใช้ตะกอนทราย จำนวน 30,000 ลูกบาศก์เมตร ที่ได้จากการขุดลอกเปิดร่องน้ำในอดีต มาเสริมชายหาดที่กำลังประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง

5) ทำคันคลองเป็นถนน เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ผิวจราจร 6 เมตร และมีไหล่ทาง 2 เมตร ความยาว ประมาณ 1.02 กิโลเมตร ทั้ง 2 ฝั่งคลอง เพื่อประโยชน์การเดินทางของประชาชนบริเวณดังกล่าว

6) สร้างคลองตัวยู เป็นคลองดาดคอนกรีต เพื่อช่วยลดค่าความขรุขระ และเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำ ความยาว ประมาณ 1.02 กิโลเมตร มีความกว้าง 25 เมตร สูง 3 เมตร และมีระยะพ้นน้ำ (Freeboard) 2.0 เมตร สามารถระบายน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

7) ปรับภูมิทัศน์ริมคลอง ออกแบบให้เป็นที่พักผ่อน สันทนาการ ออกกำลังกาย และส่งเสริมการท่องเที่ยว

8) สูบน้ำหลากจากชุมชน โดยออกแบบเป็นเครื่องสูบน้ำแบบเคลื่อนที่ (Mobile Pump) เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่

9) ที่จอดเรือ ซึ่งเป็นปัญหาความเดือดร้อนที่สำคัญของพี่น้องชาวประมง โดยทำการขุดลอกบริเวณปากคลองเดิม เพื่อทำเป็นที่จอดเรือ พื้นที่ ประมาณ 12,000 ตารางเมตร (ประมาณ 7.5 ไร่) และนำตะกอนไปเสริมหาดบริเวณที่มีการกัดเซาะทางด้านเหนือได้

10) ทำสะพานท่องเที่ยวข้ามคลองที่ขุดร่องน้ำเดิม เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กสำหรับให้คนเดิน กว้างประมาณ 5 เมตร ความยาวสะพานประมาณ 25 เมตร เพื่อเป็นการเชื่อมพื้นที่ทั้งฝั่งตำบลปึกเตียนกับตำบลหนองขนาน ซึ่งในอนาคตท้องถิ่นสามารถพัฒนาพื้นที่สาธารณะประโยชน์ในบริเวณใกล้เคียงเป็นแหล่งท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชนที่ต่อเนื่องจากการทำประมง การทำเกษตรกรรม ในพื้นที่ รวมทั้งสถานที่พักผ่อน ออกกำลังหรือดำเนินกิจกรรมของชุมชนได้ นอกจากนี้ในอนาคตเรือประมงสามารถเข้าออกทางสะพานท่องเที่ยวนี้ได้ ทำให้เรือประมงสามารถทำกิจกรรมได้มากขึ้น
จากการออกแบบเชิงหลักการดังกล่าว ประเมินมูลค่าก่อสร้างโครงการได้ประมาณ 718 ล้านบาท และมีค่าบำรุงรักษาปากร่องน้ำด้านใต้ ปีละประมาณ 7.2 ล้านบาท และค่าขุดลอกรักษาพื้นที่จอดเรือปากคลองด้านเหนือ ปีละประมาณ 5.76 ล้านบาท รวมค่าดำเนินการประมาณ 12.96 ล้านบาทต่อปี

 

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะก่อสร้างด้านท้ายของ คลอง D9 มีผลกระทบด้านลบในระดับน้อย (-1) จำนวน 7 ประเด็น คือ สมุทรศาสตร์ ธรณีวิทยาและธรณีสัณฐานชายฝั่ง อุทกวิทยาและการระบายน้ำ คุณภาพน้ำผิวดิน คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่ง แพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน และเศรษฐกิจ–สังคม ส่วนในระยะดำเนินการ มีผลกระทบด้านบวกในระดับมาก (+3) จำนวน 2 ประเด็น คือ อุทกวิทยาและการระบายน้ำ ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี และผลกระทบด้านบวกในระดับปานกลาง (+2) จำนวน 2 ประเด็น คือเศรษฐกิจ–สังคม และด้านสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว

การออกแบบเชิงหลักการของผังแม่บทบริเวณคลอง D18 แบ่งได้เป็น 6 องค์ประกอบ ดังต่อไปนี้

1) การเปิดร่องน้ำ ออกแบบให้แนวร่องน้ำตั้งฉากกับแนวชายฝั่งทะเลยื่นเข้าไปในทะเล เพื่อให้ระบายน้ำได้ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยออกแบบให้ร่องน้ำ คลอง D18 มีความกว้าง 30 เมตร ยาว 500 เมตร ลึก 3 เมตร และมีความลาดชัน (Slope) ซ้ายขวาของร่องน้ำเท่ากับ 1V : 5H

2) สร้างคลองเข็มพืด เนื่องจากบริเวณท้ายน้ำของคลอง D18 มีพื้นที่จำกัด ดังนั้นจึงต้องสร้างคลองเข็มพืด ระยะทางประมาณ 2.84 กม. และทำการตอกเข็มพืดโดยใช้เครื่องจักรในเรือบาร์จ หลังจากนั้นจึงทำการขุดลอกคลอง และนำตะกอนที่ขุดมาทิ้งบริเวณหลังแนวเข็มพืด

3) ปลูกป่าชายเลน บนกองดินตะกอน ที่บริเวณปากคลอง D18 หลังแนวเข็มพืด พื้นที่ประมาณ 12,500 ตารางเมตร (ประมาณ 7.8 ไร่)

4) ปรับปรุงพื้นที่จอดเรือ บริเวณท่าเรือแหลมผักเบี้ย พื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร (ประมาณ 25 ไร่) เพื่อให้จอดเรือได้ จำนวน 120 ลำ

5) ปรับปรุงประตูควบคุมน้ำ บริเวณถนนคันกั้นน้ำเค็ม เพื่อให้ระบายน้ำในช่วงน้ำหลาก กักเก็บน้ำจืดไว้ใช้ในช่วงหน้าแล้ง รวมทั้งสามารถบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ได้ เนื่องจากบริเวณคลอง D18 มีการทำนาข้าว นาเกลือ และการเลี้ยงสาหร่ายโดยออกแบบให้ประตูควบคุมน้ำ 3 บาน กว้างบานละ 8 เมตร เพื่อให้ระบายน้ำ (Qd) ได้ 100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
จากการออกแบบเชิงหลักการดังกล่าว ประเมินมูลค่าก่อสร้างโครงการได้ประมาณ 1,053 ล้านบาท และมีค่าบำรุงรักษาปากร่องน้ำด้านเหนือ ปีละประมาณ 20 ล้านบาท และค่าขุดลอกตะกอนตลอตลอดแนวคลองปีละ 8.5 ล้านบาท รวมค่าดำเนินการประมาณ 20.85 ล้านบาทต่อปี

 

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในระยะก่อสร้างมีบางส่วนที่ส่งผลกระทบด้านลบในระดับน้อย (-1) จำนวน 8 ประเด็น คือ สมุทรศาสตร์, อุทกวิทยาและการระบายน้ำ, คุณภาพน้ำผิวดิน, คุณภาพน้ำทะเล แพลงก์ตอนและสัตว์หน้าดิน, การคมนาคมขนส่งทางบก, เศรษฐกิจ–สังคม และสุนทรียภาพและการท่องเที่ยว ส่วนในระยะดำเนินการ มีผลกระทบด้านบวกในระดับมาก (+3) จำนวน 2 ประเด็น คือ ผังเมืองรวมจังหวัดเพชรบุรี อุทกวิทยาและการระบายน้ำ และผลกระทบด้านบวกในระดับปานกลาง (+2) จำนวน 2 ประเด็น คือ การคมนาคมขนส่งทางน้ำ และเศรษฐกิจ–สังคม

 

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดข่าวประชาสัมพันธ์

เรื่องล่าสุด