DSI บุกค้นแหล่งผลิตยากำจัดวัชพืชและแมลง ในพื้นที่ จ.สงขลา อ้างเป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพ แต่พบใช้วัตถุอันตรายเป็นส่วนผสม
สืบเนื่องมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ซึ่งเป็นมาตรการเชิงรุกในการคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร ปลอดส่วนผสมของวัตถุอันตราย
จากการประสานข้อมูลร่วมกัน พบข้อมูลว่ามีผู้ประกอบการบางรายในพื้นที่จังหวัดสงขลา ลักลอบนำสารที่เป็นวัตถุอันตราย ประเภทพาราควอตไดคลอไรด์ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 ผสมลงในผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและจำหน่ายให้เกษตรกร ภายใต้ชื่อทางการค้าว่า “มีเฮงรถถัง” และ “มีเฮงน๊อคเอาท์” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงมอบหมายให้กองคดีคุ้มครองบริโภคสืบสวนพบว่า ผู้ประกอบการชื่อ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีเฮงสยาม” ผู้ผลิตยากำจัดวัชพืชและผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงหลายชนิด ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลาได้โฆษณาเพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในโซเชียลมีเดีย ใช้ชื่อทางการค้าดังกล่าว โดยอ้างว่าเป็นน้ำหมักชีวภาพเป็นอินทรีย์ชีวภาพ 100% แต่มีสรรพคุณกำจัดวัชพืชแบบทำลายล้าง ซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างไปจากสารอินทรีย์วัตถุทั่วไป จึงได้ซื้อตัวอย่างและนำส่งกรมวิชาการเกษตรตรวจพิสูจน์หาสารอันตราย ผลตรวจพบมีส่วนผสมของพาราควอตไดคลอไรด์ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นสารควบคุมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. 2556 บัญชี 1.1 ลำดับที่ 353 ที่นำไปใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในการกำจัดวัชพืชทางการเกษตร และยังพบว่าผลิตภัณฑ์มีส่วนผสมของฟิโพรนิล ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นสารควบคุมตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 บัญชี 1.1 ลำดับที่ 446 ที่นำไปใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในการกำจัดแมลง และเมื่อตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนไม่พบข้อมูลการขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมาย การกระทำของผู้ประกอบการเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จึงมีความผิดฐานผลิต หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 73 และฐานผลิตหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามมาตรา 45 (4) ตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งคดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 78 ได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประกาศ กคพ.(ฉบับที่ 8) พ.ศ.2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ข้อ 20 อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจึงรับเรื่องดังกล่าวไว้เป็นคดีพิเศษเพื่อดำเนินคดีแล้ว
ล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 19 กรกฎาคม 2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ พันตำรวจโท สุภัทธ์ ธรรมธนารักษ์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะกำกับดูแลกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค สั่งการให้ ร้อยโท ภชภณ สุพานิชวรภาชน์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการส่วนคดีคุ้มครองผู้บริโภค 1 พร้อมเจ้าหน้าที่กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค นำหมายศาลจังหวัดสงขลาเข้าตรวจค้นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ ในอำเภอหาดใหญ่ และอำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา จำนวน 3 จุดพร้อมกัน ผลการตรวจค้นสามารถยึดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวัตถุอันตรายที่ไม่ได้รับอนุญาตเป็นจำนวนมาก โดยจะนำไปเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดีต่อไป
ทั้งนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ขอแจ้งไปยังผู้ที่มีสารพาราควอตไดคลอไรด์ สารฟิโพรนิล และสารอันตรายอื่นไว้ในครอบครอง จะต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น หากปัจจุบันยังพบมีการจำหน่าย ใช้เป็นส่วนผสมหรือขายให้ประชาชนอีก กรมสอบสวนคดีพิเศษ และกรมวิชาการเกษตร จะได้บูรณาการการทำงานร่วมกันในการดำเนินคดีอย่างเข้มข้นกับผู้ที่กระทำความผิดต่อไป
สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน