การเมือง

“วัชระ-สมบูรณ์” ร้อง “ชวน” ฟัน “พรพิศ” กับพวกส่อทุจริตแก้สเปคก่อสร้างอาคารรัฐสภา


12 กรกฎาคม 2022, 18:07 น.

 

“วัชระ-สมบูรณ์” ร้อง “ชวน” ฟัน “พรพิศ” กับพวกส่อทุจริตแก้สเปคก่อสร้างอาคารรัฐสภาเอื้อเอกชนรวยแต่ราชการเสียหายมหาศาล

 

วันที่ 12 ก.ค.65 เวลา 11.20 น. ที่อาคารรัฐสภา : นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และนายสมบูรณ์ ทองบุราณ อดีต สว.ร่วมลงนามในหนังสือยื่นถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับพวกกระทำการส่อทุจริตเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับเหมาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ ซึ่งนับถึงวันนี้เป็นวันที่ 3,361  ของการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบที่ยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างเลขที่ 116/2556 ลงวันที่ 30 เม.ย.56 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

นายวัชระฯ และนายสมบูรณ์ฯ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า ก่อนหน้านี้ได้มีหนังสือร้องเรียน ประธานกรรมการ ป.ป.ช. (พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ) กล่าวหานางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับพวกและบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้กระทำการส่อทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ฯ โดยมีคำสั่งงานแก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้รับจ้างดำเนินการงานเปลี่ยนแปลงแก้ไขรายละเอียดของงานก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ตามสัญญาจ้างก่อสร้างข้อ 19 โดยลดแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์บอร์ด หนา 15 มม. 1 แผ่น ในผนังกันเสียงและผนังดูดซับเสียงห้องประชุมกรรมาธิการ บริเวณชั้น 3-4 จำนวน 113 ห้อง ตามข้อเสนอของผู้รับจ้าง แต่ไม่ปฏิบัติตามความเห็นของผู้ออกแบบ คำสั่งของเลขาธิการในการลดสเปคผนังห้องประชุมกรรมาธิการดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยหลักบริหารสัญญาประกอบพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และการออกเอกสารคำสั่งดังกล่าวไม่เป็นผลดีต่องานราชการ โดยสามารถระบุถึงเหตุผลที่คำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยหลักบริหารสัญญาประกอบพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ ดังนี้

 

1.ด้วยคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว ย่อมมีผลทำให้ต้องมีการแก้ไขสัญญา ซึ่งเหตุผลตามความเห็นของกรรมการตรวจการจ้างเสียงข้างมาก ที่เสนอให้สำนักงานฯ เห็นชอบไปตามข้อเสนอของผู้รับจ้าง ในการลดแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ หนา 15 มม. ไม่มีส่วนใดสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา 97(2), (3)

 

2.ลำดับช่วงเวลาของการเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงลดแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ของผู้รับจ้างไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการเสนอเมื่อมีเหตุการณ์จากการตรวจสอบงานก่อสร้างห้องประชุมกรรมาธิการของผู้ควบคุมงานและผู้ออกแบบแล้วพบว่า ผู้รับจ้างก่อสร้างผนังห้องประชุมกรรมาธิการผิดแบบ การรื้อเปลี่ยนแปลงเพิ่มแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์จะมีมูลค่าที่สูงกว่าค่าแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ ผู้รับจ้างจึงขอเสนอแก้ไขรายละเอียดแบบผนังห้องประชุมกรรมาธิการด้วยการลดแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์แทนการรื้อ

 

3.หากมีการแก้ไขรายละเอียดผนังห้องประชุมกรรมาธิการตามที่ผู้รับจ้างเสนอจะทำให้งานก่อสร้างผนังห้องประชุมกรรมาธิการมี 2 รูปแบบ คือ จะมีผนังห้องประชุมกรรมาธิการส่วนหนึ่งที่มีแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์สองด้านในแผ่นผนังหนึ่ง ๆ (ตรงตามแบบคู่สัญญา) จำนวน 48 ห้อง แต่จะมีอีกส่วนหนึ่งของห้องประชุมกรรมาธิการที่จะเหลือแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ด้านเดียวในแผ่นผนังหนึ่ง ๆ (ตามข้อเสนอของผู้รับจ้าง) จำนวน 65 ห้อง ทางสำนักงานฯ จะตอบคำถามความเป็นสองมาตรฐานนี้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างไร

 

4.ข้อสรุปในที่ประชุมคณะกรรมการตรวจการจ้างที่มีสองฝั่ง คือ ฝั่งเสียงข้างมากที่เห็นชอบตามข้อเสนอของผู้รับจ้างกับฝั่งกรรมการเสียงข้างน้อยที่ยืนยันให้ผู้รับจ้างทำการแก้ไขให้เป็นไปตามแบบรูปในสัญญา และนำเรียนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะหัวหน้าส่วนราชการเพื่อพิจารณาสั่งการ ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 การที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรสั่งการโดยมีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมในเดือนมิถุนายน 2565

ซึ่งระยะเวลาล่วงเลยมากว่า 1 ปี จึงไม่มีเหตุผลเรื่องความจำเป็นในการใช้ห้องประชุมกรรมาธิการ จนทำให้การแก้ไขผนังให้ถูกตามแบบไปกระทบต่อการใช้งานห้องประชุม เพราะเวลาที่ล่วงเลย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาสั่งการเป็นช่วงปิดสมัยประชุม/งดประชุมด้วยโรคระบาดโควิด-19 ที่ผู้รับจ้างสามารถทำงานแก้ไขรื้อเพิ่มแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ได้โดยไม่กระทบต่อการจะใช้งานห้องประชุม ประกอบกับผนังดูดซับเสียงเป็นสาระสำคัญของการจัดสร้างห้องประชุมเพื่อมิให้เสียงการประชุมภายในเล็ดลอดไปภายนอก เนื่องจากการประชุมคณะกรรมาธิการเป็นการประชุมลับ และป้องกันเสียงจากภายนอกรบกวนการประชุม

 

ทั้งนี้ การลดเนื้องานดังกล่าวซึ่งลดแผ่นซับเสียงห้องประชุมจำนวนมากถึง 65 ห้อง และสำนักงานฯ เข้าใช้งานห้องประชุมทุกห้องแล้ว แต่กลับมิได้ปรับลดระยะเวลาทำงานลงจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้รับจ้างอย่างชัดแจ้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

จึงขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบและพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามอำนาจและหน้าที่ต่อไปโดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาและปกป้องผลประโยชน์ของทางราชการและประชาชน

 

สุรเชษฐ ศิลานนท์ รายงาน

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดการเมือง

เรื่องล่าสุด