“วัชระ” จี้ถาม “พรพิศ” เรียกค่าปรับเอกชนกว่า 6 พัน ล. ล่าช้าหรือจะปรับ 0 บาทจากปมขยายเวลาก่อสร้างอาคารรัฐสภา ส่อผิด ม.157
(1 ก.ค.65) เมื่อเวลา 13.15 น.ที่อาคารรัฐสภา นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านงานสารบรรณถึงนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กรณีแจ้งเรียกค่าปรับกับผู้รับจ้างก่อสร้างล่าช้านั้น การปฏิบัติหน้าที่ราชการของเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ มีการปฏิบัติหรือละเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และหรือกฎหมายอื่นหรือไม่ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการหรือไม่
โดยข้อเท็จจริง ตามสัญญาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ สัญญาเลขที่ 116/2556 ที่อ้างถึงได้สิ้นสุดลงจากการขยายเวลาครั้งที่ 4 ของนายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 31 ธ.ค.63 แล้ว สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือที่ สผ 0005/2 ลงวันที่ 4 ม.ค.64 ลงนามโดยนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไปยังผู้รับจ้าง แจ้งเรียกค่าปรับวันละ 12,280,000 บาท ตามจำนวนที่ล่าช้าจนถึงวันที่ผู้รับจ้างทำงานแล้วเสร็จ ต่อมาในวันที่ 8 เม.ย. 64 สำนักงานฯ โดยนางพรพิศ ได้มีหนังสือที่ สผ 0005/5646 แจ้งผู้รับจ้างว่า ณ วันที่ออกหนังสือฉบับดังกล่าว ผู้รับจ้างยังทำงานไม่แล้วเสร็จ ค่าปรับนับถึงวันที่ในหนังสือจะเป็นจำนวนเงิน 1,208,440,000 บาท (หนึ่งพันสองร้อยแปดล้านสี่แสนสี่หมื่นบาทถ้วน) ซึ่งจะเกิน 10% ของวงเงินค่าจ้างก่อสร้าง จึงขอแจ้งให้ผู้รับจ้างเร่งรัดทำงานพร้อมเสนอแผนการแล้วเสร็จ รวมถึงให้แจ้งกลับถึงความยินยอมจะเสียค่าปรับให้กับสำนักงานฯ โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ในกรณีค่าปรับส่วนที่เกินร้อยละ 10 ของวงเงินค่าจ้าง ซึ่งผู้รับจ้างได้มีหนังสือตอบกลับมาตามเอกสารเลขที่ ซท /2021/0148 ลงวันที่ 23 เม.ย. 64
จากเหตุที่กล่าวมาข้างต้น จึงขอสอบถามมายังนางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ ดังนี้
1) ก่อนจะหมดเวลาในสัญญาจ้าง 6 เดือน (กรกฎาคม 2563- ธันวาคม 2563) ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีการประเมินต่อผลงานของผู้รับจ้างว่า มีแนวโน้มจะทำแล้วเสร็จตามกรอบเวลาในสัญญาคือ 31 ธ.ค. 63 หรือไม่ เพราะว่าหากไม่มีการบริหารที่ดีในการที่จะต้องทำการวิเคราะห์ประเมินข้อมูลข้อเท็จจริงของการทำงานของผู้รับจ้างก่อสร้าง จะทำให้ยังมีการเบิกจ่ายเงินงวดงานค่าจ้างอยู่ต่อไปตามปกติ จนวงเงินค่าจ้างคงเหลือเมื่อหมดเวลาในสัญญาจะมีเงินไม่เพียงพอต่อค่าปรับที่จะเกิดขึ้น
2) ปัจจุบันวงเงินค่าจ้างค้างจ่ายเทียบกับวงเงินค่าปรับตามจำนวนที่จะต้องคิดค่าปรับทั้งช่วงก่อนและหลัง วันที่ 30 มิ.ย. 65 สถานะเป็นอย่างไร ราชการโดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เสียเปรียบผู้รับจ้างหรือไม่
3) ตามสัญญาข้อที่ 22 การหักเงินเพื่อชดใช้และ/หรือค่าเสียหายระบุชัดเจนว่า ให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้ว่าจ้างสามารถหักได้จากค่าจ้างค้างจ่าย หรือจากหลักประกันสัญญาหรือจากเงินประกันผลงาน โดยหักได้ทันที ทำไมสำนักงานฯ จึงไม่หักทันที โดยเฉพาะการหักเงินมาจ่ายค่า man-month ของที่ปรึกษาบริหารโครงการ/ควบคุมงาน CAMA / ATTA ที่สำนักงานฯ มีภาระผูกพันต้องจ่ายค่าจ้างในช่วงเวลาที่เลยสัญญาจ้างก่อสร้างที่เกิดเหตุจากความล่าช้า/ความผิดพลาดของผู้รับจ้าง
4) หากเงินงวดค้างจ่ายไม่เพียงพอ ทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีหนังสือถึงธนาคารผู้ออกหลักประกัน หรือไม่ว่าทางราชการประสงค์จะขอให้ธนาคารผู้ออกหลักประกัน ทำการจ่ายชำระหนี้ค่าปรับหรือค่าควบคุมบริหารการก่อสร้าง ในวงเงินเท่าไหร่ต่อเดือนจนกว่างานจะเเล้วเสร็จซึ่งเป็นการตรวจสอบกับธนาคารผู้ให้หนังสือหลักประกันด้วยว่าธนาคารมีข้อติดขัดอะไรหรือไม่อย่างไร
5) ในส่วนของเงินประกันผลงาน ตามสัญญาข้อ 6 ที่กำหนดไว้ให้หักร้อยละ 5 และ ให้สิทธิผู้รับจ้างขอคืนได้ทันทีด้วยการนำหลักประกันจากธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ในวงเงินที่เท่ากับเงินประกันผลงานที่จะขอคืนมายื่นแลก ต้องสอบถามว่า ปัจจุบันสถานะเงินค้ำประกันที่เป็นเงินสดที่หักไว้ มีเหลืออยู่เท่าใดและถูกจ่ายคืนโดยได้หลักประกันธนาคารมาแทนเท่าใด หากมีแต่หลักประกันธนาคารเพียงอย่างเดียว ได้มีหนังสือแจ้งไปยังธนาคารผู้ออกหลักประกันหรือไม่ว่า ราชการจะขอให้ธนาคารเป็นผู้จ่ายเงินชำระหนี้ค่าปรับ/ค่าควบคุมงานตามสัญญา
6) นับแต่ผิดสัญญาการก่อสร้าง ค่าปรับเริ่มนับหนึ่งจากวันที่ 1 ม.ค. 64 ตามหนังสือที่ลงนามแจ้งเรียกค่าปรับลงวันที่ 4 ม.ค. 64 และวันที่ 8 เม.ย. 64 วันนี้วันที่ 1ก.ค. 65 ระยะเวลาผิดสัญญาล่วงเลยมาแล้ว 547 วัน คิดเป็นค่าปรับจำนวน 6,717,160,000 บาท ได้มีหนังสือแจ้งเรียกค่าปรับหรือไม่ อย่างไร หรือจะคิดค่าปรับเป็นศูนย์บาท
7) ตาม พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 79 และหลักเกณฑ์กระทรวงการคลังว่าด้วยมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการบริหารจัดการความเสี่ยงสำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2562 ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ ได้ดำเนินการบริหารจัดการความเสี่ยงโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบจากความเสียหายทางด้านเงินงบประมาณ หรือทุจริตหรือไม่ อย่างไร หากไม่จัดทำถือว่ามีเจตนาหรือปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ใช่หรือไม่
จึงขอให้เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ในฐานะหน่วยงานของรัฐ เพื่อสอบถามการปฏิบัติหน้าที่ราชการว่าได้รักษาผลประโยชน์ของทางราชการตามกฎหมายที่พึงต้องปฏิบัติแล้วหรือยัง