เรื่องเล่าของทุเรียนสำหรับคนชอบทาน
17 มิถุนายน พ.ศ. 2496 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสสวนทุเรียนเมืองนนท์
เป็นช่วงที่มี กลิ่นทุเรียน หอมโชยมาเตะจมูกอยู่บ่อย ๆ ช่วงนี้ ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ ชุดนี้เป็นภาพเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จประพาสสวนทุเรียน จ.นนทบุรี วันนี้เมื่อ 68 ปีที่แล้ว
เช้าตรู่วันนั้น…มีฝนโปรยปรายบ้างเล็กน้อย แต่ช่วงสายสภาพอากาศกลับปลอดโปร่ง ท้องฟ้าแจ่มใสขึ้น เวลาประมาณ 10.00 น. เรือพระที่นั่งตะวันส่องแสง ติดตามด้วยเรือประจำทวีป และขบวนเรืออารักขา ก็แล่นเข้าเขต จ.นนทบุรี ประชาชนที่มาคอยชื่นชมพระบารมีทั้งบนฝั่งและลอยเรืออยู่ในลำน้ำต่างเปล่งเสียงไชโยโห่ร้องกันอื้ออึง
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ในฉลองพระองค์ชุดสากลสีขาว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงโบกพระหัตถ์ช้า ๆ ขณะที่เรือแล่นเอื่อยขึ้นตามลำน้ำจนกระทั่งเข้าจอดเทียบท่าสะพานน้ำซึ่งจัดถวายไว้เป็นพิเศษ ณ “บ้านแสงประภา” บ้านชั้นเดียวหลังใหญ่ทาสีครามอ่อนที่อยู่ริมน้ำ ต.บางกระสอ ทั้งสองพระองค์ทรงก้าวขึ้นจากเรือด้วยพระพักตร์ยิ้มแย้มและเบิกบานพระราชหฤทัย
ในการเสด็จประพาสเมืองนนทบุรีครั้งนั้นก็เพื่อทอดพระเนตรสวนทุเรียน อันเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดนนทบุรี รวมถึงทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรด้วย ซึ่งชาวนนทบุรีส่วนใหญ่ทราบล่วงหน้าถึงการเสด็จฯ เยือนเนื่องจากผู้ว่าฯ นนทบุรี ขุนบุรีภิรมย์กิจ (พริ้ม จารุมาศ) ต้องออกสำรวจพื้นที่ตั้งแต่เชิงสะพานพระราม 6 ขึ้นไป แต่หาสวนที่เหมาะไม่ได้ เนื่องจากบางสวนไม่มีทุเรียนเหลืออยู่ บางสวนสมบูรณ์แต่ไม่ได้อยู่ติดริมน้ำ ในที่สุดได้ก็เลือกสวนของ “นายประวิทย์ สงวนเงิน”
เมื่อทั้งสองพระองค์เสด็จฯ มาถึง ทรงซักถามถึงชนิดและวิธีปลูก รวมถึงการใส่ปุ๋ยและการบำรุงดูแล เสด็จฯ ผ่านสวนใดเจ้าของสวนก็ได้นำผลไม้จากสวนของตนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย รวมทั้งถวายกระจง (ไม้สอย) ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ทรงสอยมังคุดด้วย ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงสำราญพระอิริยาบถตลอด
เมื่อถึงเวลาเสวยพระกระยาหารกลางวัน ทั้งสองพระองค์ทรงประทับที่พลับพลา ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตรภูมิประเทศรอบ ๆ อย่างพอพระราชหฤทัย โดยทางจังหวัดจัดเรืออาหารมาจอดที่ท่าน้ำหลายลำ มีอาหารหลายประเภท พระองค์จึงทรงสั่งมหาดเล็กให้ระงับการตั้งโต๊ะเสวยพระกระยาหารที่เตรียมมา เพราะมีพระราชประสงค์ที่จะเสวยอาหารพื้นเมืองทางเรือ และรับสั่งให้แม่ค้าจัดพระกระยาหารขึ้นถวายด้วยชามและตะเกียบปกติที่มี และประทับเสวยที่พระเก้าอี้ไม่ได้ประทับโต๊ะเสวยที่เตรียมไว้ ทั้งยังทรงยกชามและตะเกียบด้วยพระอิริยาบถเช่นเดียวกับสามัญชนด้วย
ในครั้งนั้น ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระอารมณ์เบิกบานและเสวยได้มาก ทรงโปรดแกงปลาไหล และไอศกรีมเป็นพิเศษ ซึ่งหลังจากนั้นได้พระราชทานเงินเหรียญทองชนิด 50 สตางค์ ห่อผ้าขาวจำนวน 1 ตำลึง เป็นเงินก้นถุงแก่แม่ค้าทุกคนที่จัดอาหารมา ส่วนของหวานนั้น เจ้าหน้าที่จัดฉีกทุเรียนขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย หลากหลายพันธุ์ เช่น ก้านยาว กบ มะไฟ ซึ่งล้วนแต่เป็นทุเรียนที่มีชื่อเสียง ทรงโปรดและชมทุเรียนชนิดกบ ว่ามีรสหวานและมันจัดมาก
ก่อนเสด็จฯ กลับ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จขึ้นประทับบนบ้านเจ้าของสวนทุเรียน แล้วทรงมีพระราชปฏิสันถารถึงความเป็นอยู่และอาชีพที่กระทำอยู่ แล้วพระราชทานหีบบุหรี่ถมเงินจารึกพระปรมาภิไธยย่อแก่ นายประวิทย์ สงวนเงิน 1 หีบ รวมทั้งพระราชทานให้แก่ผู้ที่มาคอยเฝ้าฯ ตามเสด็จครั้งนั้นคนละ 100 บาท พร้อมกับเงินเหรียญ 1 ตำลึงด้วย
ก่อนที่จะทรงก้าวลงเรือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รับสั่งแก่ผู้มาคอยเฝ้าฯ รับเสด็จและนำเสด็จด้วยประโยคสั้นๆ ว่า “ขอบใจทุกคน” พร้อมทรงถ่ายภาพผู้มาส่งเสด็จด้วยพระองค์เอง ยังความปลาบปลื้มใจแก่พสกนิกรผู้มาเฝ้าฯ เป็นล้นพ้น