กองทัพเรือ ชี้แจงกรณีการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 : พลเรือโท ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจง กรณีที่ นายยุทธพงษ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และนาวาอากาศเอก อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทยได้ออกมากล่าวหากองทัพเรือ ในโครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับประจำฐานบินชายฝั่งของกองทัพเรือว่าไม่มีความโปร่งใสนั้นกองทัพเรือขอชี้แจงรายประเด็น ดังนี้
1.เหตุใดกองทัพเรือจึงเปลี่ยนแบบ UAV ของประเทศจีนเป็น UAV ของประเทศอิสราเอล ขอชี้แจงว่าขอบเขตของงานหรือรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของยุทโธปกรณ์ (TOR) สำหรับโครงการจัดหาอากาศยานไร้คนขับ UAV ประจำฐานบินชายฝั่งไม่มีการระบุว่าเป็นการจัดหา UAV จากประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยในขั้นรายงานขอซื้อได้กำหนดให้เป็นการจัดหาโดยวิธีคัดเลือก และต่อมากองทัพเรือโดยคณะกรรมการจัดซื้อได้มีหนังสือเชิญชวนไปถึงบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศที่มีคุณสมบัติถูกต้องตรงตามความต้องการ ทั้งด้านยุทธการของกองทัพเรือจำนวน 5 บริษัท จาก 4 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐ, อิศราเอล, ตุรกี และจีน ให้เข้ามายื่นข้อเสนอและเปิดให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอขออนุมัติจัดซื้อจากกระทรวงกลาโหม
2.กรณีข้อสงสัยว่ากองทัพเรือไม่เลือกซื้อของดี ทำไมต้องเลือก UAV จากประเทศอิสราเอล ซึ่งไม่มีกองทัพเรือประเทศไหนซื้อมาใช้งาน และมีสถิติการตกบ่อยมาก กองทัพเรือขอเรียนให้ทราบว่าการจัดหา UAV ครั้งนี้ได้ยึดถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยคณะกรรมการจัดซื้อได้พิจารณาคัดเลือกข้อเสนอและประเมินคะแนนตามคุณสมบัติที่ได้กำหนดไว้ใน TOR อย่างครบถ้วนและต่อคำถามที่กล่าวหาว่าเป็นที่มีสถิติการตกบ่อยมากนั้นจากการสืบค้นข้อมูลแล้วทราบว่าข้อมูลที่นำมากล่าวอ้าง เป็นอากาศยานไร้คนขับ แบบ Hermes 900 HFE (High Fuel Engine) รุ่น Star Liner ของบริษัท ELBIT รัฐอิสราเอล ซึ่งพัฒนาและปรับปรุงมาจากแบบพื้นฐานของ Hermes 900 เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการด้านยุทธการของกองทัพบกประเทศสวิตเซอร์แลนด์และสาเหตุของการตกก็ระบุไว้ชัดเจนว่า เกิดขึ้นระหว่างการทดสอบการบินด้วยความเร็วสูงจนทำให้โครงสร้างมีการสั่นที่รุนแรงซึ่งทำให้ส่วนหางเครื่องหลุดจากลำตัวและทำให้ควบคุมเครื่องไม่ได้ และตกลงสู่พื้นในที่สุด ซึ่งไม่ได้เกิดจากปัญหาของเครื่องยนต์แต่ประการใด
3.ประเด็นที่กล่าวว่ากองทัพเรือจัดซื้อ UAV (HERMES 900) ที่มีประวัติการตกบ่อยและราคาแพงกว่าที่กองทัพอากาศฟิลิปปินส์ (ทอ.ฟป.) จัดซื้อ (ทอ.ฟป.จัดซื้อที่ราคาลำละ 340 ล้านบาท ในขณะที่ ทร.จัดซื้อลำละ 1,340 ล้านบาท)
3.1 ข้อเท็จจริงคือ ท.อ. ฟิลิปปินส์จัดซื้อระบบ UAV.มูลค่า 175,000,000 USD หรือประมาณ 5,950 ล้านบาท ประกอบด้วย UAV 2 แบบ คือ HERMES 450 จำนวน 3 ลำและ HERMES 900 จำนวน 9 ลำหากแยกเฉพาะจำนวน 9 ลำ จะเป็นมูลค่า 160,000,000 USD.- (5,440 ล้านบาท) ราคาระบบละ 17.77 ล้านเหรียญ (604 ล้านบาท/ลำ ส่วนกองทัพเรือไทยจัดซื้อ UAV ระบบจำนวน 7 ลำ 120,000,000.- USD หรือประมาณ 4,004 ล้านบาทราคาระบบละ 17.14 ล้านเหรียญ (582.8 ล้านบาท/ลำ) หากเปรียบเทียบเฉพาะอุปกรณ์มาตรฐาน UAV ของทร.ไทยราคาเพียงลำละ 15 ล้านเหรียญ (499 ล้านบาท )
3.2 ทอ.ฟิลิปปินส์และทร.ไทยจัดหาระบบ UAV ซึ่งมีอุปกรณ์ประกอบชุดและความต้องการด้านยุทธการแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง หากเปรียบเทียบเฉพาะอุปกรณ์มาตรฐานที่ทั้ง 2 ประเทศ มีเหมือนกัน ทร.ซื้อระบบ UAV ได้ในราคาที่ถูกกว่าและได้อุปกรณ์มากกว่า
3.3 ราคาระบบ UAV ของทอ.ฟิลิปปินส์ และ ทร.ไทยเป็นราคาไม่รวมระบบอาวุธแต่ของ ทร.ไทยมีการติดตั้ง Hardware และ Software ในอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อรองรับการติดตั้งระบบในอนาคต
ส่วนกรณีที่มีการตกของของ ทอ.ฟิลิปปินส์ นั้นเป็นการตกขณะการบินทดสอบซึ่งเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่สามารถเกิดขึ้นได้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ที่ https://dronewars.net/drone-crash-database/
4.การกล่าวหาที่ว่ากองทัพเรือเลือกแต่ UAV ของบริษัทจันทรเกษมอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นั้นกองทัพเรือขอเรียนให้ทราบว่าขอบเขตของงาน (TOR) สำหรับโครงการนี้ตามที่ได้นำเรียนไปแล้วนั้นได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอที่เป็นบริษัทผู้ผลิตในต่างประเทศไว้หลายประการ โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
4.1 ต้องเป็นนิติบุคคลที่เป็นผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายหรือเป็นหน่วยงานหรือเป็นองค์กรของรัฐบาลที่มีอาชีพรับจ้างหรือจำหน่ายอากาศยานไร้คนขับพร้อมส่วนสนับสนุนและการบริการที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสามารถให้การฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่กำลังพลที่ต้องใช้งานอากาศยานไร้คนขับได้
4.2 ต้องมีผลงานผลิตหรือจำหน่ายอากาศยานไร้คนขับให้กับกองทัพของประเทศผู้ผลิตหรือกองทัพของชาติอื่นมาแล้ว
4.3 ต้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และ/ใจหรือทรัพย์สินทางปัญญาและ/หรือมีสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญานั้น ทั้งในส่วนของการออกแบบพัฒนา และปรับปรุง โดยผู้อื่นและ/หรือร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งเงื่อนไขอื่นในการนำส่วนสนับสนุนและการบริการที่เกี่ยวข้องของเจ้าของลิขสิทธิ์ไปใช้งานกับบุคคลที่สาม
ดังนั้นผู้ได้รับการคัดเลือกสำหรับโครงการนี้ ซึ่งจะมาเป็นคู่สัญญากับกองทัพเรือนั้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอขออนุมัติจัดซื้อจากกระทรวงกลาโหม
5.ข้อสงสัยที่ว่ากองทัพเรือจะรับประกันได้อย่างไรว่าการดำเนินโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ ไม่เหมือนโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ขอเรียนว่าการดำเนินโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือทุกโครงการ ได้ยึดและถือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 กฎกระทรวง
คำสั่งมติ ครม. และหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมาทุกโครงการของกองทัพเรือประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
โดยในส่วนของโครงการจัดหา UAV ประจำฐานบินชายฝั่งในครั้งนี้ ได้ถูกคัดเลือกเข้าร่วมการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมประจำปีงบประมาณ 2565 โดยในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างคณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต (คณะกรรมการ ค.ป.ท.) ได้จัดให้มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งประเทศ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและสังเกตการณ์ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงการ ซึ่งคณะผู้สังเกตการณ์ได้มีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในระหว่างดำเนินโครงการมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามวัตถุประสงค์ เกิดความคุ้มค่าต่อการใช้จ่ายงบประมาณ ดังนั้น จากการมีส่วนร่วมดังกล่าว กองทัพเรือจึงมั่นใจว่าโครงการจะประสบความสำเร็จและบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการในที่สุด
6.UAV ที่ ทร.จะจัดซื้อมีราคาแพงมากแตกต่างจากการจัดซื้อภายในประเทศกับ สทป. ซึ่งส่อให้เห็นว่าหากการจัดซื้อเป็นไปตามแผนงานที่ ทร. กำหนดจะมีเงินทอน 1,000 ล้านบาท ในข้อนี้ กองทัพเรือขอชึ้แจงว่าการจัดหาระบบอากาศยานไร้คนขับ ประจำฐานบินชายฝั่ง ของกองทัพเรือในการปฏิบัติการเพื่อรักษาสิทธิ์ และอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลของไทย และคุ้มครองเส้นทางคมนาคมทางทะเลเข้า-ออกประเทศไทย ให้ได้อย่างต่อเนื่องโดยใช้ในการตรวจการพื้นน้ำ พิสูจน์ทราบชี้เป้าพ้นระยะขอบฟ้า
รวมทั้งช่วยเหลือในการป้องกัน และปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายทางทะเล การบรรเทาสาธารณภัยทางทะเล และชายฝั่ง ตลอดจนสนับสนุนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล
ดังนั้น เพื่อให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องใช้อากาศยานที่มีประสิทธิภาพสูงเช่น เพดานบิน (Ceiling) ไม่น้อยกว่า 25,000 ฟุต ความเร็วสูงสุด (Maximum Speed) ไม่น้อยกว่า 100 น็อตระยะเวลาปฏิบัติการบินต่อเนื่อง (Endurance) ไม่น้อยกว่า 20 ชั่วโมง มีการใช้งานที่ผ่านการยอมรับการใช้งานมาแล้วเป็นอย่างดีโดยต้องมีชั่วโมงการใช้งานไม่น้อยกว่า 10,000 ชั่วโมงและจะต้องมีใช้งานในประเทศผู้ผลิต ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าการวิจัยและพัฒนาหรือการผลิตอากาศยานไร้คนขับ ภายในประเทศไทยปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใด หรือผู้ประกอบการใดๆมีผลิตภัณฑ์ที่มีขีดความสามารถตอบสนองกับภารกิจของกองทัพเรือได้ซึ่งการพัฒนาและการผลิตจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการวิจัยและพัฒนาอีกหลายปี
ทั้งนี้โครงการที่มี ส.ส.ผู้ทรงเกียรติ กล่าวว่าองค์กรในไทยสามารถผลิต UAV ขนาดกลาง โดยใช้เทคโนโลยีในประเทศไทยนั้น จากการสืบค้นข้อมูลทราบว่าโครงการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยและพัฒนา และต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นหลัก รวมทั้งโครงการพัฒนาดังกล่าวมีขีดความสามารถที่ต่ำกว่า และไม่สามารถรองรับความต้องการทางยุทธการที่กองทัพเรือต้องการได้
โฆษกกองทัพเรือ ยืนยันว่า กองทัพเรือยังคงเดินหน้าพัฒนากองทัพเรือให้มีความทันสมัย เข้มแข็งสามารถปฏิบัติภารกิจในการปกป้องอธิปไตย และผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชนและประเทศชาติ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุดโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ตรวจสอบได้ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พลเรือเอก สมประสงค์นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ
สุรเชษฐ ศิลานนท์
รายงาน