อว. เพื่อประชาชน นวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ใน ครม. สัญจรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 2 วช. นำโดรนเพื่อการเกษตรและฝึกอบรมการบินให้กับเกษตรกรและผู้นำชุมชน ณ วิทยาลัยการอาชีพนาแก จ.นครพนม
เมื่อวันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2568 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การประยุกต์ใช้โดรนเพื่อการเกษตรในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในการอบรมและมอบประกาศนียบัตร ซึ่งมี ว่าที่ร้อยตรีพงษ์อนัน เปลี่ยนเอก ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพนาแก และ นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล นายกสมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ พร้อมด้วย พลเอก กนก ภู่ม่วง, พลเอก วินัฐ อินทรสุวรรณ, รศ.ดร.ณัฐวุฒิ เดไปวา, รศ.ดร.อนรรฆ ขันธะชวนะ, รศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ (วช.), นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, นายพิมะ แสงมณี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาคู่, คณาจารย์, ผู้นำเกษตรกร และผู้เข้ารับการอบรม ให้การต้อนรับ ณ วิทยาลัยการอาชีพนาแก จังหวัดนครพนม
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) กล่าวว่า (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนมาใช้ในการส่งเสริมภาคเกษตรกรรม โดยเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความยั่งยืน โดรนเกษตรในปัจจุบันเป็นเครื่องมืออัจฉริยะที่ผสานระบบ GPS การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศ และการพ่นสารอย่างแม่นยำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูก การจัดอบรมในครั้งนี้มุ่งเน้นการถ่ายทอดองค์ความรู้ตามความต้องการของพื้นที่ (demand driven) เสริมสร้างทักษะเชิงปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้จริง โดยเฉพาะในอำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความเหมาะสมทั้งด้านสภาพพื้นที่และศักยภาพของเกษตรกร
ว่าที่ร้อยตรีพงษ์อนัน เปลี่ยนเอก ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพนาแก กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันมีค่ายิ่ง ให้กับ วิทยาลัยการอาชีพนาแก เกษตรกร ตลอดจน บุคลากรที่ส่งเสริมการเกษตร คณาจารย์ นักศึกษา ตลอดจนประชาชนที่สนใจในการต่อยอดในการทำงานหรือพัฒนาศักยภาพของตนเองในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม ขอขอบคุณสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และ สมาคมกีฬาเครื่องบินจำลองและวิทยุบังคับ ในความเอื้อเฟื้อ ความตั้งใจ และความทุ่มเทของท่าน ที่มุ่งมั่นพัฒนาเยาวชนและบุคลากรให้มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการอบรมเชิงปฏิบัติการโดรนเพื่อการเกษตรในครั้งนี้
นายพิศิษฐ์ มิตรเกื้อกูล หัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า “ศูนย์การเรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดรนเพื่อการเกษตรแห่งนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีโดรน พร้อมทั้งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาทักษะและสร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ศูนย์ฯ ประกอบด้วยอุปกรณ์การเรียนรู้ที่ทันสมัย อาทิ เครื่องชาร์ตแบตเตอรี่ โดรนเพื่อการเกษตรพร้อมอุปกรณ์ครบชุด และระบบฝึกบินจำลอง (Flight Simulator) อีกทั้งยังมีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านอากาศยานไร้คนขับที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถขอรับใบอนุญาตนักบินโดรนได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย”
ในกิจกรรมครั้งนี้ ดร.วิภารัตน์ฯ ได้มอบใบประกาศนียบัตร แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมเพื่อรับรองการเข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นหลักฐานแสดงถึงความรู้ความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตร อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อการเรียน การทำงาน หรือประกอบอาชีพในอนาคตสร้างโอกาสในการพัฒนาตนเองและชุมชนให้ก้าวสู่เกษตรอัจฉริยะ (smart farming) ได้ในอนาคต