คอลัมนิสต์

ความเชื่อมั่นและศรัทธา


20 เมษายน 2025, 12:45 น.

 

องค์กรตำรวจ อยู่คู่แผ่นดินไทยมานานเนกาเลแล้ว ในสมัยโบราณ ตำรวจทำหน้าที่เป็นองครักษ์พระมหากษัตริย์

 

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คนต่างด้าวท้าวต่างแดน หลายประเทศ เข้ามาติดต่อเพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และค้าขายพระองค์ทรงให้มี กองตำรวจภูธรขึ้น เพื่อดูแลความสงบ ความเรียบร้อย ในต่างจังหวัดจึงยกย่องว่า พระองค์คือ <พระบิดาตำรวจไทย>

 

ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการรวมกองพลตระเวน<นครบาล> กับกองตำรวจภูธร เป็นหน่วยงานเดียวกัน ระดับกรม เรียกว่า <กรมตำรวจ> เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2458

 

และได้มีพระราชกฤษฏีกา แบ่งส่วนราชการให้กรมตำรวจมีฐานะเป็น <สำนักงานตำรวจแห่งชาติ> เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2541

 

ตำรวจมีหน้าที่พิทักษ์สันติราษฏร์คนดีต้องอยู่เย็นเป็นสุขคนร้ายต้องอยู่ร้อนนอนคุก

 

ไม่ว่าจะมีคดีอะไรเกิดขึ้นผู้กระทำความผิดพากันหลบหนีหัวซุกหัวซุนถึงอย่างไรก็ไม่อาจพ้นมือตำรวจไปได้

 

<ตำรวจยุคเก่า>

  • ยุคตำรวจเดินเท้าตรวจ
  • ยุคตำรวจขี่ม้าล่าโจร
  • ยุคตำรวจใช้ปืนคาบศิลา ปืนสเตน ปืนคาร์บิน
  • ยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยี

 

ประชาชนเชื่อมั่น ศรัทธา ตำรวจมาก เช่น พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเดช ฉายา นายพลหนังเหนียว

 

<ยุคมือปราบ> ปราบจริง ยิงจริง นิ่งไม่พูด อาทิเช่น

  • พล.ต.อ.บุญทิน วงศ์รักมิตร ฉายา อินทรีอีสาน
  • พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ฉายา เสือใต้
  • พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ ฉายา สิงห์เหนือ
  • พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา เดอะอ๊อด สิงห์นครบาลเหนือ
  • พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ เดอะโต้ง เสือนครบาลใต้
  • พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี เดอะอู๊ด FBI.

และอีกหลาย ๆ ท่าน ที่ทุ่มเททำงานเพื่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชน

 

ถ้าเอ่ยชื่อขึ้นมาเมื่อไหร่ พวกคนเลว คนร้าย คนชั่ว คนทำผิดกฎหมาย จะกลัวจนอกสั่นขวัญแขวนไม่กล้าไปก่อกรรมทำเข็ญเพราะกลัวไปเกิดใหม่

 

ทางฝ่ายตำรวจที่ทำงานด้านสอบสวนก็จะรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้ จากเขียนด้วยมือ มาใช้พิมพ์ดีด เอกสารเป็นตั้ง บางคดี สู้กันถึงสามศาล ส่วนมาก ตำรวจเป็นฝ่ายชนะคดี

 

<มือสอบสวนชั้นครู>ในอดีต อาทิเช่น

  • พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ ฉายา อาจารย์แหวง
  • พล.ต.ท.ประยูร โกมารกุล ณ นคร ฉายา อาจารย์ยูร
  • พล.ต.ต.บรรเจิด จุฑามาศ ผมไม่รู้ฉายา รู้แต่ว่าใจดี มีสปิริตกับผู้ใต้บังคับบัญชา
  • พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมโน ฉายา อาจารย์นวย แต่สื่อตั้งฉายาให้ว่า นวยทนได้

และอีกมากมายหลายท่าน ที่ล้วนอยู่ในความทรงจำของหน่วยงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน มิรู้ลืม

 

<ยุคปัจจุบัน>

  • ยุคเทคโนโลยี
  • ยุคโซเชียลมีเดีย
  • ยุคแกะรอยโทรศัพท์
  • ยุคมือปราบกล้องวงจรปิด
  • ยุคที่มีความพร้อมในการทำงานมากที่สุด

แต่เวลาพี่น้องประชาชน มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ ทำไมพี่น้องประชาชนถึงต้องไปหา

  • ปวีณา หงสกุล
  • สายไหมต้องรอด
  • กัน จอมพลัง
  • อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์
  • ทนายความบางคน

พอคนเหล่านี้ พาผู้เสียหายมาแจ้งความร้องทุกข์ ตำรวจก็กุลีกุจอกัน เพื่อรับเรื่อง เพื่อสอบสวน เพื่อจับกุม เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย อย่างรวดเร็วมีการออกข่าว ออกสื่อ กันเอิกเกริก

 

ผมชื่นชมนะ ที่คนเหล่านั้น มีน้ำจิตน้ำใจช่วยเหลือคนที่ได้รับความทุกข์ ความเดือดเนื้อร้อนใจ ด้วยความเต็มใจ ด้วยความมีน้ำใจ มิใช่เพราะกระหายแสง แถมมีผลงานชัดเจน เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมหลายเรื่อง

 

มีส่วนช่วยกระตุ้น ทำให้ตำรวจได้บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติเพื่อพี่น้องประชาชน

 

แต่…อีกมุมมอง พี่น้องประชาชน สูญสิ้นความเชื่อมั่นและศร้ทธา ในการทำงานของตำรวจแล้วหรืออย่างไร ? จึงต้องไปหาตัวช่วย

 

ทำอย่างไร ตำรวจจะเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธากลับคืนมา เช่นในอดีต

 

ไม่…ยาก ถ้าตำรวจทุกคน <รู้จักหน้าที่ตัวเอง>

 

มีอีกหลากหลายแนวทาง ตัวอย่างเช่น

โดยการ<เคารพ เอื้อเฟ้อ ต่อหน้าที่ กรุณาปราณีต่อประชาชน>มีความหมายตรงตัว<เพื่อนบอกมา>

 

โดยมีหลักในการทำงาน<เอาหลักเป็นนาย ไม่เอานายเป็นหลัก>ความหมายคือ ทำงานโดยยึดหลักการ แม้ว่าคนที่เป็นนายจะสั่งถ้านอกหลักการ ก็ไม่ทำ มีเหตุผลชี้แจงได้ มีจิตใจมั่นคง ไม่เอนเอียง เพราะไม่ใช่ความถูกต้อง

 

อนาคตอาจจะเจริญช้า แต่มั่นคง อยู่รอดปลอดภัย

 

พวกเอาใจนาย อาจโตไว แต่ก็อาจล้มได้ตลอดเวลา<น้องบอกมา>

 

สุดท้ายเป็นวิธีการหนึ่ง ที่<ผมใช้>มาตลอด คือ การทำงานต้อง<เอาใจใส่ และใส่ใจเข้าไปด้วย>เพื่อให้งานมีชีวิต

 

<เอาใจใส่> คือหน้าที่
<ใส่ใจ> คือวิธีการ

 

ตัวอย่างเช่น
สายตรวจ มีหน้าที่ออกตรวจตราพื้นที่ เพื่อป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

 

ออกตรวจด้วยความ<เอาใจใส่>ตามหน้าที่ จุดตรวจโน้น จุดตรวจนี้ ลงลายมือชื่อตรวจ ถ่ายภาพ ส่งไลน์ เป็นหลักฐานหมด ครบทุกจุด

 

แต่ถ้า<ใส่ใจ>เข้าไปด้วย เช่น พูดคุยกับผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน แม้กระทั่งยาม หรือ รปภ. สอบถามถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ชุมชนเพื่อหาข่าวในทุกมิติก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างมากมายทำให้งานสายตรวจ <มีชีวิต>ขึ้นมาเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับวางแผนป้องกันปราบปรามอาชญากรรมได้

 

พล.ต.ต.ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา เคยให้ผมเขียนบทกวี ทำเป็นป้ายขนาดใหญ่ติดไว้ทั่วบ้านทั่วเมืองตามย่านชุมชน ทางแยกและหน้า ภ.จว.

 

<ถ้าพึ่งใคร ไม่ได้ ให้มานี่

ตำรวจดี มีบริการ ช่วยท่านได้

บำบัดทุกข์ บำรุงสุข จากหัวใจ

โรงพักไหน ไม่บริการ เชิญท่านมา>

 

ถ้าตำรวจทำได้อย่างนี้ ทำอย่างรู้จักหน้าที่ตัวเอง อย่างที่กล่าวถึงแนวทางตัวอย่างการทำงานไว้ข้างต้น หรือแนวทางอื่นที่เห็นว่า ดี มีประโยชน์ต่อการทำงานเพื่อช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์ สร้างความสุขแก่พี่น้องประชาชน

  • ปวีณา หงสกุล
  • สายไหมต้องรอด
  • กัน จอมพลัง
  • อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์
  • ทนายความบางคน

อาจจะไม่ต้องมาเหนื่อยกับการเป็นตัวช่วยตำรวจก็ได้

 

ช่วยกันนะ เพื่อให้องค์กรตำรวจ เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริงโดยไม่ต้องไปหาตัวช่วย แต่ถ้ายังทำไม่ได้ ยังเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธากลับคืนมาจากพี่น้องประชาชนไม่ได้ผมก็ขอน้อมคารวะแด่ตัวช่วยกิตติมศักดิ์ทุกคนจากใจจริงครับ

 

พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด