สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวง อว. สร้างความปลอดภัยให้ประชาชน ด้วยระบบเฝ้าระวังภัยทางนิวเคลียร์ เชื่อมโยงเครือข่ายโลก
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ รรท. เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามนโยบายของท่านศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง (อว.) ที่ท่านมุ่งสนับสนุนการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านความมั่นคงความปลอดภัย และนำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ให้เกิดกับประเทศชาติและ ประชาชน ซึ่ง สนง.ปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวง (อว.) ได้นำนโยบายมาขับเคลื่อน ด้วยการสร้างความปลอดภัยให้ประชาชน ด้วยระบบเฝ้าระวังภัยทางนิวเคลียร์ เชื่อมโยงเครือข่ายโลก เนื่องจากการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ทั่วโลกและในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั้งในด้านพลังงาน การแพทย์ การวิจัย อุตสาหกรรม เกษตร และอื่น ๆ รวมถึงการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางด้านนิวเคลียร์เพื่อความมั่นคงของประเทศต่างๆ ซึ่ง (ปส.) กระทรวง (อว.) ได้พัฒนาระบบเฝ้าระวังภัยทางนิวเคลียร์และรังสีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ผ่านการเชื่อมโยงกับระบบการเฝ้าตรวจระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังภัยระดับโลกที่มีสถานีเฝ้าตรวจการทดลองนิวเคลียร์ที่มีศักยภาพสูง จำนวน 321 แห่งทั่วโลก สามารถตรวจสอบและเฝ้าระวังภัยทางนิวเคลียร์ได้อย่างแม่นยำและทันสมัยในทุกสถานการณ์
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทย โดย (ปส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสี มีบทบาทสำคัญในการเป็นหน่วยประสานงานหลักระดับชาติในการดำเนินการตามพันธกรณีของสนธิสัญญาห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty, CTBT) ผ่านการจัดตั้งและดำเนินงานเครือข่ายสถานีเฝ้าตรวจ 2 แห่ง ภายใต้ระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศ (International Monitoring System – IMS) ได้แก่
1. สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี อาร์เอ็น 65 (Radionuclide Monitoring Station, RN65) ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็น 1 ใน 80 สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี ที่ติดตั้งอยู่ทั่วโลก มีหน้าที่ตรวจจับอนุภาคกัมมันตรังสีในอากาศ และ ปส. มีแผนจะทำการติดตั้งระบบตรวจวัดก๊าซเฉื่อยกัมมันตรังสี (Radionuclide Noble Gas System: THX65) ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะส่งผลให้สถานีนี้มีศักยภาพในการตรวจวัดก๊าซเฉื่อยกัมมันตรังสีที่เกิดจากการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ และเป็นเพียงสถานีเดียวในภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพในการตรวจวัดดังกล่าว
2. สถานีตรวจวัดความสั่นสะเทือนของพิภพ พีเอส 41 (Primary Seismic Monitoring Station, PS41) ณ สถานีวัดความสั่นสะเทือน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็น 1 ใน 50 สถานีตรวจวัดความสั่นสะเทือนของพิภพ ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยสถานีดังกล่าวอยู่ภายใต้การดูแลของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ มีหน้าที่ตรวจจับคลื่นแผ่นดินไหวที่อาจเป็นผลจากการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ใต้ดิน
อีกทั้ง (ปส.) ยังได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ (National Data Center, N171) ณ (ปส.) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรับ-ส่งข้อมูลจากทั้งสถานีเฝ้าตรวจในประเทศไทยและจากทั่วโลก ซึ่งจะช่วยให้สามารถเฝ้าระวังและตอบสนองภัยที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ นอกจากนี้ ยังติดตั้งสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีทั่วประเทศ รวม 22 สถานี แบ่งเป็นสถานีเฝ้าระวังภัยทางรังสีในอากาศ 21 สถานี และในน้ำทะเล 1 สถานี เพื่อติดตามและตรวจวัดกระดับรังสีแกมมาในสิ่งแวดล้อม สำหรับการเฝ้าระวังภัยทางรังสีที่อาจเกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม ตลอด 24 ชั่วโมง
ประชาชนจึงสามารถมั่นใจได้ว่า ด้วยเครือข่ายการเฝ้าระวังภัยทางนิวเคลียร์และรังสีที่ทันสมัยและครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยมีความพร้อมทั้งในด้านการเฝ้าระวังและการตอบสนองเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีที่มีประสิทธิภาพ เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และสิ่งแวดล้อม