ศปถ. กำชับจังหวัดบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นรับ 13 เมษา มหาสงกรานต์ เน้นควบคุมการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด จัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ปลอดภัย ใช้กลไกพื้นที่ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง และเตรียมพร้อมการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุให้รวดเร็วและทันท่วงที
13 เม.ย. 68 เวลา 9.30 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2568 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 13 เมษายน 2568 เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการฯ เป็นวันที่สอง ซึ่งจากสถิติสะสม 2 วัน ชี้ให้เห็นว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสองอันดับแรกคือการขับรถเร็วเกินกำหนดและการดื่มแล้วขับ จึงขอให้จังหวัดบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง โดยสนธิกำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ในการปฏิบัติงาน เพิ่มความละเอียดในการตรวจตราเพื่อป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยง อาทิ ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย
“ดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยไม่จำหน่ายให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีโดยเด็ดขาด หากพบการจำหน่ายในลักษณะเร่ขายในบริเวณที่มีการจัดพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์ (Zoning) สถานที่ท่องเที่ยว และบริเวณที่มีการจัดงานรื่นเริง ให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย ให้ความสำคัญกับการควบคุมและดูแลสถานบริการให้เปิด-ปิดตามเวลาที่กฎหมายกำหนด เพิ่มความเข้มข้นของด่านชุมชนและการใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็วในการเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม รวมถึงตักเตือนผู้ทำพฤติกรรมเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น การขับขี่ไม่ปลอดภัย การดื่มแล้วขับ การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย การโดยสารท้ายกระบะอย่างไม่ปลอดภัย ก่อนออกจากพื้นที่ชุมชนหรือหมู่บ้านเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
นอกจากนี้ ให้จังหวัดเตรียมความพร้อมของระบบสื่อสารและการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ เพื่อประสานการปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถอำนวยความสะดวกให้รถพยาบาลและรถฉุกเฉินให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุและส่งตัวผู้ประสบเหตุไปยังโรงพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว
ด้านนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ 13 เมษายน 2568 เป็นวันมหาสงกรานต์ ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนจะออกมาเล่นน้ำสงกรานต์เป็นจำนวนมาก มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อสังสรรค์ รวมถึงออกมาอยู่บนท้องถนนเพื่อเล่นน้ำสงกรานต์และสัญจรไปยังท่องเที่ยวยังสถานที่ต่าง ๆ จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทาง ตรวจเช็กความพร้อมของยานพาหนะ ศึกษาเส้นทางการเดินทางล่วงหน้า และเล่นน้ำสงกรานต์ด้วยความระมัดระวัง ไม่สาดน้ำใส่รถจักรยานยนต์โดยตรงเนื่องจากอาจทำให้รถเสียหลักและเกิดอุบัติเหตุ ไม่เล่นน้ำกลางถนนเนื่องจากอาจถูกรถเฉี่ยวชนได้ หากเป็นไปได้ให้หลีกเลี่ยงการนั่งหรือยืนท้ายกระบะเล่นน้ำสงกรานต์ เนื่องจากอาจเกิดอุบัติเหตุจากการพลัดตก
“นอกจากนี้ ยังขอให้ประชาชนติดตามสภาพอากาศซึ่งเป็นประเด็นที่ ศปถ. มีความห่วงใย เนื่องจากหน่วยงานด้านการพยากรณ์อากาศได้คาดหมายสภาพอากาศในวันนี้และวันพรุ่งนี้ (13 และ 14 เมษายน 2568) หลายพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก และฟ้าฝ่า โดยขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ไม่อยู่ในที่โล่งแจ้งและใต้ต้นไม้ใหญ่ ไม่อยู่ใกล้สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขึ้น”
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 12 เมษายน 2568 ซึ่งเป็นวันที่สองของการรณรงค์ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เมษายน 2568 เกิดอุบัติเหตุ 248 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 257 คน ผู้เสียชีวิต 30 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 39.92 ดื่มแล้วขับ 22.18 และตัดหน้ากระชั้นชิด 20.97 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 85.77 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 83.87 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 15.01 – 18.00 น. ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 19.86 โดยจัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,756 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,689 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ มุกดาหารและลำพูน (จังหวัดละ 13 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (4 ราย)
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 2 วันของการรณรงค์ (11 เมษายน – 12 เมษายน 2568) เกิดอุบัติเหตุรวม 460 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 458 คน ผู้เสียชีวิต รวม 59 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 44 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (23 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ มุกดาหาร (25 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (9 ราย)
ข้อมูลจาก : กรมประชาสัมพันธ์