พ.ศ. 1558 เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ โยนกนครยุบจมลงเกิดเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่
นายนริศ ขำนุรักษ์ (พัทลุง) : ท่านประธานที่เคารพ กระผม นริศ ขำนุรักษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งรายชื่อไปแล้วนะครับ ถ้าท่านกรุณาให้ผมอภิปรายก่อนก็ได้ หรือว่าท่านจะเรียกตามรายชื่อก็ได้ครับ
พันเอก อภิวันท์ วิริยะชัย (รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง) : ยังไม่เห็นรายชื่อครับ ท่านนริศก่อนก็ได้ ท่านรองเลขาธิการยังไม่ได้ส่งให้ผมนะครับ ถ้าอย่างนั้นนายแพทย์สุกิจ อัถโถปกรณ์ ก็แล้วกันครับ
นายสุกิจ อัถโถปกรณ์ (ตรัง) : ขอบคุณท่านประธานมากครับ ท่านประธานที่เคารพครับ กระผม นายแพทย์สุกิจ อัถโถปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ขอร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับญัตติเรื่องรอยเลื่อนมีพลังที่ต้องเฝ้าระวังในประเทศ ซึ่งคุณเจะอามิงได้เป็นผู้เสนอ เรื่องนี้เราก็ได้อภิปรายกันมาหลายคนแล้วนะครับ หลายคนก็ยังคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไร้สาระอยู่ดี เป็นเรื่องไกลตัวไม่น่าสนใจ ก็ยอมรับว่าตอนนี้มันก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะว่าเรื่องแบบนี้ถ้าไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นแล้วก็มีคนตาย มีคนเจ็บก็คงจะไม่เห็นความสำคัญ เหมือนอย่างเช่นก่อนวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ถ้ามีใครมาบอกเราว่าประเทศไทยจะเกิดมีคลื่นขนาดยักษ์แล้วก็ส่งผลให้มีคนตายเป็นหลายพันคนก็คงไม่มีใครเชื่อ แล้วก็พานคิดไปว่าคนพูดน่าจะเป็นคนเสียสติ จนกระทั่งเหตุการณ์ได้เกิดขึ้นจริง ๆ ความสูญเสียอย่างมหาศาลก็ตามมาเพราะว่าเราไม่เคยพบ เราไม่เคยเห็น เราไม่เคยระวัง เราไม่เคยเรียมตัวที่จะรับกับมัน เราไม่รู้ว่าน้ำทะเลถ้ามันแห้งลงไปเยอะ ๆ แล้วต้องวิ่งหนีไม่ใช่วิ่งลงไปดู สรุปก็คือเราไม่รู้จักกับมันครับ แล้วเราก็เกิดความสูญเสียดังกล่าว ถึงตอนนี้ผมอยากจะตั้งคำถามว่า แล้วแผ่นดินไหวล่ะคนไทยรู้จักกับมันดีหรือยัง เราเคยเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับมันหรือยัง ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่ไม่เคยเกิดครับ มันได้เคยเตือนเรามาตั้งหลายครั้งแล้ว อย่างเช่น เมื่อปี ๒๕๕๐ เกิดแผ่นดินไหวที่รับรู้ได้ในประเทศไทย ๙ ครั้ง ปี ๒๕๔๙ เกิด ๑๕ ครั้ง แต่นับว่าโชคดีที่ว่าแต่ละครั้งที่เกิดใน ๒ ปีนี้ หรือว่าก่อนหน้านี้ไม่มีความรุนแรงพอที่จะทำให้เกิดความเสียหาย เพราะว่าขนาดจำนวนริกเตอร์ที่เกิดมันไม่สูงพอ หรือถ้ามันเกิดขนาดริกเตอร์สูง ๖ กว่า ๆ ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดค่อนข้างจะรุนแรงนะครับ ก็บังเอิญมีศูนย์กลางห่างจากบ้านเรา อย่างเช่น เกิดในหมู่เกาะสุมาตรา หรือในประเทศพม่า อย่างนั้น เป็นต้น
แต่ขอเรียนถามอีกครั้งว่า แล้วเราจะโชคดีแบบนี้ตลอดไปหรือไม่ ทุกครั้งก็จะมีนักวิชาการหลายท่านเรียงหน้าออกมาแสดงความคิดเห็น แล้วก็เรียกร้องรัฐบาลให้ใส่ใจกับปัญหา ให้เตรียมตัวรับกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็ยังเงียบเฉยไม่มีอะไรปรากฏออกมาว่าเราได้เตรียมตัวอะไร หรือว่าไม่มีมาตรการอะไรเลยที่จะป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดจากแผ่นดินไหวเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม อาจจะมีคนแย้งว่าเราก็มีเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวอยู่แล้วในหลาย ๆ จังหวัดที่เรียกว่า ไซโมกราฟ (Seismograph) แต่ที่ผ่านมาผมขอถามว่าแผ่นดินไหวปีละตั้ง ๑๐ กว่าครั้งนี้ประชาชนอย่างเราเคยได้ยินเสียงเตือนจากรัฐบาลหรือไม่ ก็ไม่เคยครับ หรือมีบางคนอาจจะบอกว่าถ้าประเทศเราไม่เตือนมันก็มีศูนย์เตือนภัยนานาชาติอยู่แล้ว ถ้าเราไม่เตือนกันเองก็มีญี่ปุ่น มือเมริกาคอยทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว อันนี้ยิ่งแล้วใหญ่ครับ ถ้าเราจะหวังพึ่งคนอื่น ถ้าเขาเตือนได้จริงนะครับ ป่านนี้เกาะสุมาตราก็คงจะไม่ย่อยยับ คงจะไม่ประสบกับความย่อยยับบ่อย ๆ เหมือนที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ แล้วเรื่องนี้คือเรื่องของความเพิกเฉยก็ได้รับการยืนยันว่า เมื่อประมาณเดือนที่แล้วคุณสมิทธ ธรรมสโรซ ขออภัยที่เอ่ยนามท่านนะครับ ประธานอำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ท่านได้ลาออกจากตำแหน่ง
ผมได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของท่าน ท่านบอกว่า ท่านเหมือนกับโดดเดี่ยวแล้วก็ทำงานอยู่คนเดียว ที่สำคัญก็คือท่านบอกว่าเครื่องมือระบบเตือนภัยไม่ได้ซื้อมา ๒ ปีแล้วครับ ทั้งเรื่องสึนามิ (Tsunami) เรื่องน้ำท่วม แผ่นดินถล่ม หรือว่าแผ่นดินไหว ทำไมเราถึงเพิกเฉยกันอย่างนี้ครับ
สาเหตุก็คือเพราะเรามีสมมุติฐานที่ว่าประเทศไทยไม่มีวันที่จะเกิดแผ่นดินไหวขั้นรุนแรงอันนี้เป็นความเชื่อที่เชื่อกันมานาน ผมขอกราบเรียนว่า ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ประมาทสุด ๆ พอ ๆ กับความคิดที่ว่าประเทศไทยไม่มีทางที่จะเกิดคลื่นสึนามิก่อนหน้านี้ เพราะชื่อมันก็บอกอยู่แล้วเป็นญี่ปุ่น ทีนี้เรามาฟังเหตุผลอันนี้ครับ ถ้าย้อนไปในอดีตก็จะพบว่าได้เคยมีหลักฐานที่บ่งบอกว่าประเทศไทยเราเคยเจอกับแผ่นดินไหวที่รุนแรงมาแล้ว อย่างเช่น เมื่อพุทธศักราช ๑๕๕๘ ย้อนหลังไป ๙๙๓ ปี มีการบันทึกว่าได้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ทำให้โยนกนครยุบจมลงเกิดเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ โยนกนครปัจจุบันก็น่าจะเป็นแผ่นดินที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศไทย และยังมีอีกครับเมื่อ พ.ศ. ๒๐๐๘ ปีนี้ก็ ๒๐๐๘ แต่เป็น ค.ศ. คือย้อนไป ๕๔๓ ปี เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่นครเชียงใหม่ ทำให้ยอดเจดีย์หลวงซึ่งสูง ๘๖ เมตร หักพังลงมาจนเหลือแค่ ๖๐ เมตร ปีนั้น ๒๐๐๘ นะครับ แต่เป็น พ.ศ. ปีนี้เป็น ค.ศ. ๒๐๐๘ เหมือนกัน แต่ผมไม่ได้บอกว่าอะไรจะเกิดขึ้น และเมื่อไม่นานนักเมื่อ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๗ ได้เกิดแผ่นดินไหวที่บริเวณอำเภอพานจังหวัดเชียงรายขนาด ๕.๑ ริกเตอร์ คราวนี้ถึงแม้ว่าขนาดของความรุนแรง ขนาดของแผ่นดินไหวไม่สูงมาก แต่ก็ยังส่งผลให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นคือทำให้โรงพยาบาล วัด โรงเรียนเกิดความเสียหาย ถึงแม้จะไม่เป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ริกเตอร์ไม่สูงมากแต่มันเกิดตื้นก็เลยทำให้เกิดความเสียหาย
แล้วอย่างนี้เราจะเถียงได้อย่างไรว่าเราไม่เคยได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว แล้วเราจะวางใจได้อีกหรือไม่ว่าจะไม่มีแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นในประเทศไทยในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนสมาชิกหลายคนก็ได้พูดถึงรอยเลื่อนที่บางคนเขาก็บอกว่ามีตัวเลขว่ามี ๑๓ กลุ่มรอยเลื่อน บางคนก็บอกว่า ๑๔ กลุ่มรอยเลื่อน จะกี่กลุ่มรอยเลื่อนก็ตามแต่บางรอยเลื่อนสืบไปเคยพบว่ามีประวัติเกิดแผ่นดินไหวอย่างรุนแรงมาแล้ว แม้ว่ามันจะเกิดเมื่อเวลาเป็นพัน ๆ ปีมาแล้วก็ตาม แต่ถ้ามันเคยเกิดแล้วทำไมมันจะเกิดอีกไม่ได้
โดยเฉพาะปัจจุบันในยุคโลกร้อนซึ่งได้มีความเปลี่ยนแปลงเรื่องของบรรยากาศ เรื่องของพื้นผิวโลก สิ่งที่มันไม่เคยเกิดมันก็ได้เกิดอย่างรุนแรง ทอร์นาโดได้เกิดอย่างรุนแรง ความหนาวเย็นได้เกิดในบางที่ทุกสิ่งทุกอย่างที่แปลกๆ มักจะเกิดขึ้นในตอนนี้ แล้วเราจะประมาทได้ไหมว่ารอยเลื่อนเหล่านี้จะไม่เกิดแผ่นดินไหวขึ้นมาอีก รอยเลื่อนพวกนี้ อย่างเช่น กลุ่มรอยเลื่อนเถินเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๗ ริกเตอร์ รอยเลื่อนปัวเคยเกิด ๖.๕ ริกเตอร์ ขนาดนี้ถือว่าเป็นขนาดใหญ่เป็นขนาดรุนแรงนะครับ ถ้าเกิดก็จะทำให้เกิดความเสียหายและที่สำคัญที่สุดก็คือรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ซึ่งเคยมีประวัติว่าเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๗.๒ ริกเตอร์ เมื่อ ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว อันนี้ถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดรุนแรง แล้วถ้าเกิดก็จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน และที่สำคัญก็คือพบว่ารอยเลื่อนเจดีย์สามองค์อันนี้พาดผ่านทางตอนใต้ของกรุงเทพมหานคร ใครจะไปรู้ว่ามันจะครบรอบไหวอีกครั้งเมื่อไร
ที่มา : รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16/วันที่ 9 เมษายน 2551