ไสยเวทย์ (2)
พระพรหมนักการพนัน ทำให้พระพรหมตกเก้าอี้ไปอยู่หลังสุด รองจากพระวิษณุและพระอิศวร
เมื่อบ้าการพนันพระพรหมยังฉิบหาย ! นักการเมืองจะเหลืออะไร
พระพรหมนั้นไม่ได้มีแต่องค์เดียว และความจริงยังมีโลกของพรหมอยู่ เรียกว่าพรหมโลก โดยมีท้าวสหัมบดีพรหม เป็นอธิบดีของพรหมโลกนี้ ดังจะเห็นได้จากคำอาราธนาธรรม เวลานิมนต์พระขึ้นเทศน์ จะขึ้นด้วยบทว่า พรหมมาจะโลกา ธิบตี สหัมปติ ซึ่งแปลว่า ท้าวสหัมบดีพรหม ผู้เป็นใหญ่ในพรหมโลก แต่ท้าวสหัมบดีนี้ ก็ไม่ใช่พระพรหม แม้ว่าจะเป็นใหญ่ในพรหมโลกก็ตาม เพราะพระพรหมเป็นใหญ่กว่า อาจจะกล่าวได้ว่า พระพรหมคือผู้เป็นใหญ่ในกาแล็กซีของพรหม เป็นใหญ่ที่สุด ส่วนท้าวสหัมบดีพรหม เป็นใหญ่ในโลกของกาแล็กซีของพรหมนั้น
พระพรหมเองก็ยังมีหลายชั้น หลายระดับ หลายประเภท บางประเภทก็เป็นพรหมนักเลง ดังเช่น ท้าวลัสเตียนซึ่งเป็นบิดาของทศกัณฐ์ และเป็นยักษ์ แต่ก็เป็นพรหม และเป็นพรหมที่ทรงธรรมด้วย แต่ก็เป็นพรหมที่ทรงธรรมแบบนักเลง ทำนองเดียวกับพระนักเลงบางองค์นั้นเอง
นอกจากนั้นก็ยังมีพระพรหมประเภทมัวเมาในอบายมุข ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดีเยี่ยงวิสัยพรหมก็มีอยู่ ดังเช่น ท้าวกบิลพรหม ซึ่งเป็นบิดาของนางสงกรานต์ทั้งเจ็ด แม้เป็นพรหมแล้วก็ยังเป็นนักเล่นการพนัน และเป็นนักการพนันชนิดบ้าบอคอแตก ที่ไม่มีใครเสมอเหมือนในสามโลก ถึงขั้นใช้ศีรษะตัวเองเป็นเดิมพันในการท้าพนัน กับมานพน้อยคนหนึ่ง ว่าศรีของคนเราอยู่ที่ไหน แล้วท้ากันว่าถ้ามานพน้อยตอบได้ก็ให้ตัดหัวพระพรหมเป็นเดิมพัน ถ้าตอบเรื่องนี้ไม่ได้ก็ต้องตัดหัวมานพน้อยเป็นเดิมพัน ในบรรดาประวัติการพนันนั้น จะมีใครบ้าบอถึงขนาดนี้ก็ไม่มีปรากฏ ในที่สุดท้าวกบิลพรหมแพ้พนันต้องตัดศีรษะตัวเองเป็นเดิมพัน แต่เพราะความเป็นพรหมนั้น ศีรษะจะตกถึงพื้นไม่ได้ เพราะจะเกิดเป็นไฟบรรลัยกัลป์ล้างผลาญโลก จึงต้องใช้พานรองหัวพระพรหมไว้ แล้วต้องนำไปเก็บไว้ที่ถ้ำในเขายุคลธร ต่อเมื่อพระอาทิตย์โคจรเข้าราศีเมษ ณ 01 องศา เป็นมหาสงกรานต์ บุตรีของท้าวกบิลพรหมก็จะผลัดเวรกันเชิญเศียรพระพรหมเข้าขบวนแห่ เป็นเทวนภากาศยาตรา เวียนรอบเขายุคลธรเสียครั้งหนึ่ง จึงถือว่าเป็นจุดพยากรณ์สงกรานต์ตามคัมภีร์พรหมชาติในเวลาต่อมา
พรหมบางพวกก็มีจิตใจใฝ่ในพระธรรม ชอบฟังธรรม เมื่อครั้งโพธิกาลพรหมพวกนี้ก็ไปฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้า แสดงธรรมอยู่เสมอ บางครั้งก็ยกพวกกันเข้าไปเฝ้า ดังเช่นที่ปรากฏในหลายพระสูตร รวมทั้งอาฏานาฏิยสูตรด้วย พรหมพวกนี้เมื่อไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าฟังธรรมแล้ว ก็หลงใหลติดในพระธรรม จนกระทั่งเรียกว่าฝักใฝ่ในพระธรรม ครั้นเห็นพระสงฆ์สาวกไปเที่ยวแสดงธรรมตามใจชอบ โดยเขาไม่อาราธนาให้แสดงธรรม และบางครั้งกาลเทศะก็ไม่เหมาะแก่การแสดงธรรม พรหมพวกนี้เห็นว่าไม่งามแก่พระสงฆ์สาวกจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลขอว่า การที่พระสงฆ์แสดงธรรมแบบนั้นไม่งดงาม ชอบที่จะแสดงต่อเมื่อมีผู้อาราธนาให้แสดง ในกาละและเทศะอันสมควร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติพระวินัย ห้ามพระสงฆ์แสดงธรรมโดยที่ไม่มีใครอาราธนาและปรับเป็นอาบัติด้วย ดังนั้นเพื่อเป็นที่รำลึกถึงเหตุการณ์นี้ จึงมีธรรมเนียมที่ต้องมีผู้อาราธนาธรรมก่อน พระสงฆ์จึงจะแสดงธรรมได้ และในบทอาราธนาธรรมนั้น ก็ได้พรรณนาเหตุการณ์ที่ท้าวสหัมบดีพรหมผู้เป็นใหญ่ในพรหมโลกได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กระทำอัญชลีกรรมแล้ว ก็อาราธนาให้ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์ของชนหมู่มาก อันบทอาราธนาธรรมข้างต้นนั้น
ส่วนท้าวมหาพรหมหน้าโรงแรมเอราวัณนั้น ท่านเป็นพระพรหมที่เป็นตรีมูรติ คือเป็นพรหมที่เป็นใหญ่ในกาแล็กซีของพรหม เหนือกว่าพรหมทั้งหลายและเป็นพรหมประเภทที่อวยพรให้พรชนิดที่ไม่บันยะบันยัง จนเกิดกลียุคมาหลายหนแล้ว ดังนั้นผู้เป็นใหญ่ใดก็ตาม ที่มีฤทธิ์มาก มีอำนาจมาก ก็ควรดูท้าวมหาพรหมเป็นตัวอย่าง จะได้ไม่สร้างปัญหา ให้กับชาวโลก เหมือนที่พระพรหมที่เป็นตรีมูรติได้กระทำมาแล้ว
เพราะเหตุที่พระพรหมทรงฤทธิ์อำนาจเป็นแบบนี้ แต่ก็มีการยอมรับนับถือว่า พระพรหมนั้นเป็นใหญ่สุดในตรีมูรติ ดังนั้นจึงใช้คำว่า มะ นำหน้า อะ และ อุ ความหมายก็คือ พระพรหมเป็นหัวหน้าของพระศิวะและพระนารายณ์นั้นเอง
แต่ในศาสนาฮินดูนั้นก็มีหลายพวก พวกที่นับถือพระนารายณ์ก็เห็นว่าพระนารายณ์เป็นใหญ่สุด มีพระคุณที่สุดในสามโลก จึงใช้คำว่า อุ นำหน้า ตามด้วย อะ และ มะ หมายถึง วางความสำคัญไว้ที่พระนารายณ์ หรือพระวิษณุเป็นลำดับแรก ตามด้วยพระศิวะ และพระพรหมอยู่หลังสุด เพราะถ้าปล่อยให้นำหน้าก็จะก่อปัญหาร่ำไปโดยที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จึงเป็นต้นรากของการเรียง อุ อะ มะ รวมเข้าแล้วก็เป็น โอม ดังนั้นในบทบูชาพระวิษณุ หรือพระนารายณ์จึงขึ้นต้นด้วยโอมเสมอ และต่อมาก็ใช้เป็นคำขึ้นในการบวงสรวงพระศิวะและพระพรหมด้วย
ดังนั้น ผู้สนใจในไสยเวทย์จึงพึงเข้าใจว่า เหตุใดเวลาเขียนเป็นอักขรวิธี หรือเป็นแบบยันต์ แล้วเรียงเป็น มะ อะ อุ แต่เวลาถึงบทสวดกลับกลายเป็น อุ อะ มะ หรือ โอม ด้วยประการฉะนี้
Cr. ‘Paisal Puechmongkol’