คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เผยแนวทาง 3 ตัวเลือกในการจัดการบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมย้ำจุดยืนปกป้องเยาวชนจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งาน
นพ.นิยม วิวรรธนดิฐกุล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เปิดเผยถึงการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย เสนอเป็นแนวทางให้รัฐบาลใช้พิจารณา นพ.นิยมฯ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาการใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าแพร่หลายในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างน่ากังวล ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่จำเป็นต้องถูกปรับปรุงและเข้มข้นขึ้น
จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ แนวทางการจัดการกับบุหรี่ไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
1. การแบนบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด : เป็นการคงมาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าในทุกประเภทอย่างเข้มงวดเหมือนปัจจุบัน พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุมและรัดกุมยิ่งขึ้น
2. การทำให้ผลิตภัณฑ์ Heated Tobacco Products ถูกกฎหมาย : แนวทางนี้เสนอให้นำผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ให้ความร้อน หรือ Heated Tobacco Products ขึ้นมาถูกกฎหมาย แต่ยังคงแบนบุหรี่ไฟฟ้าประเภทไอระเหย (Vaping) ที่ได้รับความนิยมในหมู่เยาวชน
3. การยอมรับบุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทให้ถูกกฎหมาย : แนวทางนี้เสนอให้นำบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมด รวมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ให้ความร้อนขึ้นมาบนดิน แต่จะต้องถูกควบคุมอย่างเคร่งครัด โดยห้ามแต่งสีหรือกลิ่นที่อาจจูงใจเยาวชน
นพ.นิยมฯ เน้นว่า จุดประสงค์ของการศึกษานี้ไม่ได้มีเจตนากำหนดให้รัฐบาลต้องเลือกแนวทางใด แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเลือกแนวทางที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน
สำหรับความคิดเห็นภายในคณะกรรมาธิการฯ พบว่า มีความเห็นต่างหลากหลายต่อแนวทางทั้งสาม
– กลุ่มที่สนับสนุนการแบนบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมดมี 8 เสียง
– ผู้ที่สนับสนุนการทำให้ผลิตภัณฑ์ Heated Tobacco Products ถูกกฎหมายมี 5 เสียง
– และกลุ่มที่สนับสนุนให้นำบุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทขึ้นมาถูกกฎหมายมี 21 เสียง
นพ.นิยมฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ ย้ำว่า เขางดออกเสียงเพื่อรักษาความเป็นกลาง และชี้แจงว่าการตัดสินใจขั้นสุดท้ายอยู่ที่รัฐบาล
ด้านนายทศพร ทองศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการฯ แสดงความเห็นส่วนตัวว่า แนวทางที่สองซึ่งเป็นการแบนเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้าไอระเหยและอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ Heated Tobacco Products ถูกกฎหมาย อาจเป็นทางเลือกที่สมดุลที่สุด เนื่องจากยังคงป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชน ขณะเดียวกันก็ให้เสรีภาพแก่ผู้สูบบุหรี่ในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม
เกี่ยวกับข้อกังวลเรื่องการเดินทางไปศึกษาดูงานที่ประเทศจีน นพ. นิยมชี้แจงว่า การเดินทางครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการผลิตและมาตรการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่หลากหลาย โดยไม่ได้มีธงสนับสนุนหรือคัดค้านแนวทางใด
คณะกรรมาธิการฯ ยืนยันว่า เป้าหมายสำคัญของการทำงาน คือการปกป้องเด็กและเยาวชนจากอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมเสนอแนวทางที่ดีที่สุดต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเชิงรุกในระยะยาว