รัฐบาลคุมเข้ม “แม่สอด” จ.ตาก เฝ้าระวังอหิวาฯ “ศศิกานต์”ย้ำ กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ วาง 6 มาตรการเข้ม ขอผู้ประกอบการเข้มงวดความสะอาดตามหลักสุขาภิบาล
วันนี้ (2 มกราคม 2568) นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากกรณีพบผู้ป่วย ติดเชื้อ “อหิวาตกโรค” ในพื้นที่เขตเทศบาลแม่สอด จังหวัดตาก รัฐบาลโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการฯ เฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างใกล้ชิด ล่าสุดสถานการณ์ผู้ป่วยในพื้นที่สามารถควบคุมได้เป็นอย่างดีแล้ว ปัจจุบันมีผู้ป่วยสะสม 4 ราย แบ่งเป็นชาวต่างชาติ 2 ราย คนไทย 2 และมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไม่มีอาการ 3 ราย ซึ่งผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการรักษาจนหายดีแล้ว และไม่มีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ดังกล่าว
นางสาวศศิกานต์ กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดตากจะอยู่ในการควบคุมแล้ว แต่ยังต้องมีการเฝ้าระวังป้องกันอหิวาตกโรคอย่างต่อเนื่อง โดย WHO “องค์การอนามัยโลก” ได้มีการประกาศ “อหิวาตกโรค” ถือเป็นภาวะฉุกเฉินใหญ่ หลังพบมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ทั้งนี้ เพื่อให้มีความตระหนักและร่วมกันป้องกันการแพร่ระบาดและติดต่อของโรค โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงจังหวัดตาก ที่มีพื้นที่อยู่ติดชายแดน ชเวโก๊กโก่ ประเทศเมียนมา กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันโรค ดังนี้
1. เจ้าของตลาดทุกประเภททุกแห่ง ให้ล้างตลาด ห้องสุขา ตามหลักการสุขาภิบาล รวมทั้งให้มีการฆ่าเชื้อทุกวัน และให้เจ้าของประกอบการร้านอาหาร เครื่องดื่ม รถเข็น หาบเร่ แผงลอยทุกชนิดดำเนินการตามหลักการสุขาภิบาล ปฏิบัติตามสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร รวมถึงผู้สัมผัสอาหารทุกคน
2.หน่วยงานราชการ โรงเรียน ศาสนสถาน องค์กร เอกชน ผู้รับผิดชอบห้องสุขาสาธารณะ ให้ล้างทำความสะอาดห้องสุขาตามหลักการสุขาภิบาล รวมทั้งให้มีการฆ่าเชื้อทุกวัน
3.หน่วยงาน องค์กร เอกชน ผู้รับผิดชอบระบบประปา ให้ปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาตามมาตรฐาน โดยกำหนดให้มีค่าคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำต้นท่อจ่ายไม่น้อยกว่า 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm) ปลายท่อจ่าย ไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร (ppm)
4.ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันสมควรสงสัยติดเชื้ออหิวาตกโรค มารับการตรวจคัดกรองหรือรักษา จนกว่าจะพ้นระยะติดต่อของโรค
5.ให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้พักอาศัยในบ้าน โรงเรือน สถานที่ เช่น ร้านอาหารและเครื่องดื่ม สถานที่ผลิตน้ำดื่ม/น้ำแข็ง ที่มีอหิวาตกโรคเกิดขึ้นหรือมีเหตุว่าปนเปื้อนเชื้อ ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในการตรวจคัดกรองโรคและกำจัดเชื้อ หรือทำลายเชื้อ และ 6.ขอความร่วมมือหน่วยงานราชการ นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และเครือข่ายภาคประชาชน สื่อสารข้อมูลความรู้การป้องกัน การปฏิบัติตัว ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเน้นการประชาสัมพันธ์ทุกช่องทาง
“รัฐบาลห่วงใยสุขภาพประชาชน ขอให้ประชาชนดูแลตัวเอง แนะนำให้ล้างมืออย่างสม่ำเสมอและขอให้ยึดหลัก “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” และขอให้ผู้ประกอบการอาหารมีความเข้มงวดในเรื่องของความสะอาดและสุขอนามัยในการนำวัตถุดิบที่นำมาปรุงสุก” นางสาวศศิกานต์ กล่าว