สุขภาพ

เตือน ! หน้าหนาว เฝ้าระวัง “เชื้อโนโรไวรัส” พบระบาดง่ายกลุ่มเด็กนักเรียนและกลุ่มคนจำนวนมาก แนะ“กินสุก – ร้อน – สะอาด” หมั่นล้างมือ


20 ธันวาคม 2024, 12:41 น.

 

สคร.9 นครราชสีมา แนะประชาชน “กินสุก-ร้อน-สะอาด” ป้องกันโรคติดต่อจากอาหารและน้ำจากเชื้อ “โนโรไวรัส” หลังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มเด็กนักเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เชื้อโนโรไวรัสมักติดต่อจากการปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็ง เช่น อาหารที่ปรุงไม่สุก อาหารทะเล หรือวัตถุดิบที่นำมาปรุงไม่สะอาด นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง หรือหยิบจับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อแล้วนำเข้าปาก และเชื้อยังแพร่กระจายผ่านการหายใจ เน้นย้ำให้ครู ผู้ปรุงอาหาร นักเรียน และประชาชน ให้ปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย โดยเฉพาะในโรงเรียนหรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ

 

 

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงเชื้อโนโรไวรัสว่า สภาพอากาศที่มีความชื้นและเย็น เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเชื้อก่อโรคบางชนิด โดยเฉพาะเชื้อโนโรไวรัส จึงเป็นสาเหตุให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันได้ เชื้อโนโรไวรัสสามารถติดต่อจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ปนเปื้อน การสัมผัสพื้นผิวหรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อและนำเข้าปากโดยไม่ได้ล้างมือ ทำให้เกิดอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว คลื่นไส้ อาเจียน โดยมักพบการปนเปื้อนในน้ำดื่ม น้ำแข็ง และอาหารที่ไม่ผ่านความร้อน เช่น ผัก ผลไม้สด เป็นต้น อาการที่พบจะคล้ายกับโรคอาหารเป็นพิษ คือ อาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย มีไข้ต่ำ ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อชนิดนี้ส่วนใหญ่อาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงสามารถพักรักษาตัวที่บ้าน และควรดื่มเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำในร่างกาย ส่วนผู้ป่วยที่อาการรุนแรงให้รีบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทันที

 

นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า มาตรการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโนโร ขอให้ยึดหลัก “กินสุก-ร้อน-สะอาด” ดังนี้ 

1) สุก รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบหรือสุกๆ ดิบๆ  

2) ร้อน อาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง  

3) สะอาด ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหาร ก่อนรับประทานอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก 

รวมถึงเลือกบริโภคน้ำดื่ม น้ำแข็งที่สะอาดได้มาตรฐาน มีเครื่องหมาย อย. หรือ GMP หรือดื่มน้ำต้มสุก สำหรับน้ำดื่มตู้กรอง ควรหมั่นทำความสะอาดและตรวจสอบคุณภาพไส้กรองเป็นประจำเพื่อความปลอดภัย เมื่อมีอาการป่วยด้วยโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ควรดื่มสารละลายเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ หากอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรง เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นน้ำ หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด หรืออาเจียนจำนวนมาก ปากแห้ง ปัสสาวะออกน้อยหรือปัสสาวะไม่ออก หายใจหอบเหนื่อย ควรรีบไปสถานบริการสาธารณสุขทันที สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดสุขภาพ

เรื่องล่าสุด