10 ธันวาคม 2567 นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Chaturon Chaisang” เนื่องในวันรัฐธรรมนูญปี 2567 ความว่า..
ไม่ยินดีกับวันรัฐธรรมนูญ แต่ก็ยังต้องมุ่งมั่นและพยายามกันต่อไป
เราไม่ได้รำลึกวันรัฐธรรมนูญในความหมายอย่างที่ควรจะเป็นมานานเต็มทีแล้ว เราเคยรำลึกหรือแม้แต่เฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่ก็ไม่กี่ครั้งและเพียงเวลาสั้นๆ ส่วนใหญ่แล้วในวันรัฐธรรมนูญเรากลับต้องมาเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญ หรือในระยะหลังหลังก็ต้องเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย
ในปี 2567 ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ซึ่งเป็นมรดกจากการรัฐประหารในปี 2557 ได้แสดงให้เห็นถึงความเป็นเครื่องมือกลไกในการสร้างและรักษาระบอบการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง
ทั้งการยุบพรรคการเมืองอย่างง่ายดายไม่เป็นเหตุเป็นผล ที่นอกจากทำลายพรรคการเมืองและระบบพรรคการเมืองให้อ่อนแอแล้ว ยังล่วงล้ำเข้ามาก้าวก่ายการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากประชาชนอีกด้วย เรายังได้เห็นการล้มรัฐบาลโดยองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งถึงแม้จะมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องเหตุผลและความเหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมาย แต่โดยรวมแล้วก็ยังเป็นปัญหาของการที่องค์กรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชน สามารถที่จะล้มรัฐบาลที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งขึ้นหรือที่มาจากประชาชนโดยไม่ต้องมีบรรทัดฐานที่ชัดเจน สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นการตอกย้ำซ้ำเติมสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 นี้ยังได้วางกรอบแนวทางในการบริหารประเทศไว้อย่างตายตัว ทั้งด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและบรรดาคำสั่งของคณะรัฐประหารและกฎหมายที่ออกกันตามอำเภอใจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้ง การจะแก้คำสั่ง คสช. สักคำสั่งหนึ่งเป็นเรื่องยากเย็นและใช้เวลา จนทำให้ต้องมาคิดกันว่าเราจะลบล้างมรดกเผด็จการนี้ให้เร็วและมีประสิทธิภาพได้อย่างไร
ในหนึ่งปีมานี้เรายังได้มีวุฒิสภาชุดใหม่เกิดขึ้น จากที่เดิมเคยคาดหวังกันว่าถึงอย่างไรก็จะต้องดีกว่าวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคณะคสช. แต่มาถึงวันนี้เรากลับหาไม่พบความเชื่อมโยงระหว่างสมาชิกวุฒิสภากับประชาชนหรือแม้แต่คนในกลุ่มอาชีพต่างๆ วุฒิสภาชุดนี้จะเชื่อมโยงกับประชาชนหรือไม่จะมีบทบาทต่อการสร้างประชาธิปไตยอย่างไรยังเป็นเรื่องที่จะต้องตามติดตามกันต่อไป โดยไม่ลืมว่าวุฒิสภานี้มีอำนาจในการร่วมพิจารณากฎหมาย สรรหาและเลือกกรรมการองค์กรอิสระ รวมทั้งองค์กรระดับสูงในกระบวนการยุติธรรม แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือยังคงตัวชี้เป็นชี้ตายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
จากการที่พรรคการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ยังไม่มีวี่แววว่าได้รับบรรจุในระเบียบวาระก็ดี การแก้กฎหมายประชามติเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแก้รัฐธรรมนูญที่เป็นไปอย่างทุลักทุเลก็ดี มาจนถึงล่าสุดมีข้อเสนอที่ดูเหมือนจะมาแรงขึ้นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา หมายความว่าการแก้รัฐธรรมนูญอย่างขนานใหญ่คงจะเกิดขึ้นได้ยากเต็มทีซึ่งก็เป็นไปตามที่ผู้เขียนรัฐธรรมนูญได้ออกแบบไว้คือให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีภูมิต้านทานในตัวเองอย่างเข้มแข็ง
การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมาอยู่ในหนทางที่ตีบตันและเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม จะแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยได้ต้องอาศัยการทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างกว้างขวางเพื่อจะได้ช่วยกันชักชวนให้พรรคการเมือง นักการเมืองและสมาชิกวุฒิสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จต่อไป
สังคมไทยอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อ ระหว่างการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยเพื่อให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าเหมือนนานาอารยประเทศทั้งหลาย กับการแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้ไปอีกนาน จนสังคมไทยจะจมปลักดักดานอยู่กับความล้าหลังนี้ไปอีกเป็นเวลายาวนาน
จาตุรนต์ ฉายแสง
10 ธันวาคม 2567