คอลัมนิสต์

มานิจ สุขสมจิตร ผู้เปรียบดัง “ครูนักข่าว” กับรางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ปี 2567


16 พฤศจิกายน 2024, 1:59 น.

 

รางวัลจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ ปี 2567

 

 

“…นายมานิจ ย้ำเสมอว่า “ผู้ใช้วิชาชีพสื่อมวลชนนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณธรรมอีกทั้งมีจริยธรรมอย่างเคร่งครัดอยู่ตลอดเวลา เพราะคุณธรรมนั้นจะเป็นรากฐานแห่งความเจริญ อันมั่นคงและความสงบสุขของปัจเจกชนของสังคมและประเทศชาติ จะต้องยึดถือคุณธรรมเป็นอุดมคติ ส่วนจริยธรรมนั้นเป็นหลักปฏิบัติที่จะต้องยึดถือให้เป็นวิถีชีวิต ทั้งคุณธรรมและจริยธรรมนั้นเป็นเรื่องที่สําคัญยิ่งกว่าการได้เป็นผู้ที่เชี่ยวชาญชํานาญการในวิชาวารสารศาสตร์เสียอีก และการใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนนั้นจะต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นเครื่องกำกับ”…”

 

สำหรับการมอบรางวัล จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ดำเนินการเป็นปีที 4 ขึ้นเพื่อยกย่องศิษย์เก่าที่มีคุณสมบัติเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่

1.ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

2.ต่อต้านเผด็จการ

3.ยึดมั่นเรื่องความเป็นธรรมในสังคม

4.ทำประโยชน์ต่อสังคม จำนวนปีละ 1 คน ซึ่งรางวัลนี้จะมอบให้ปีละ 1 คน โดยมีเงินรางวัล 100,000บาท พร้อมถ้วยรางวัล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและเป็นบุคคลต้นแบบให้แก่อนุชนรุ่นหลัง

 

สำหรับปี 2567 นี้ ผู้ที่ได้รับรางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” คือ นายมานิจ สุขสมจิตร นักหนังสือพิมพ์อาวุโส ผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อสารมวลชนไทย ได้รับการยกย่องในฐานะ “ครูนักข่าว”

 

นายมานิจ สุขสมจิตร เข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อปี พ.ศ. 2501 จบปริญญาตรีนิติศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2505 ในขณะเรียนได้สมัครทำงานนักข่าวที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพรายวัน เมื่อปี พ.ศ. 2502 และต่อมาได้ย้ายไปทํางานที่หนังสือพิมพ์หลักเมืองรายวัน และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจนถึงปัจจุบัน รวมแล้วมากกว่า 60 ปี ผ่านงานสายข่าวต่างๆ ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาแทบทุกตำแหน่งจนมีความก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ในขณะที่ทำงานหนังสือพิมพ์ นายมานิจศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา ทั้งศึกษาด้วยตนเองและเข้าอบรมสัมมนามิได้ขาด จนได้รับทุนจากมูลนิธิธอมสัน ประเทศอังกฤษ ให้ ไปศึกษาต่อในหลักสูตรวิชาการหนังสือพิมพ์ชั้นสูงที่โรงเรียนวิชาการหนังสือพิมพ์ ณ เมืองคาร์ดีฟ สหราชอาณาจักร ได้รับประกาศนียบัตร Certificate in Advance Journalism Course เมื่อปี พ.ศ. 2514

 

ตลอดเวลาการทำงาน เมื่อสั่งสมประสบการณ์ได้ระยะหนึ่งแล้ว ผสานกับความรู้ทางวิชาการทั้งจากการค้นคว้าด้วยตนเอง การศึกษาดูงานจากต่างประเทศและความรู้ด้านกฎหมายที่ได้ร่ำเรียนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายมานิจ อุทิศเวลาเพื่อถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้การทำงานด้านการข่าวแก่นักศึกษาหลายๆ สถาบันทั่วราชอาณาจักร ตลอดจนนักหนังสือพิมพ์รุ่นน้องๆ จากหลากหลายฉบับตลอดเวลาโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย นอกจากนั้นยังเขียนตำราวิชาการหลายเล่มด้วยกัน อาทิ เช่น หลักการวิชาชีพหนังสือพิมพ์ จริยธรรมกับสื่อมวลชน กฎหมายเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ รัฐธรรมนูญที่นักข่าวควรรู้ คู่มือกฎหมายสําหรับนักข่าว หนังสือพิมพ์กับข้อหาหมิ่นประมาท เป็นต้น

 

ด้วยความรอบรู้ทั้งทางวิชาการ ภาษา และมีประสบการณ์จากการปฏิบัติงานจริง นายมานิจจึงได้รับเชิญให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในหลายด้านและอาจารย์พิเศษจากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น สถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏสวนดุสิต สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ฯลฯ ยังได้รับเชิญเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มิใช่สถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านข้อมูลข่าวสารของทางราชการ คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ฯลฯ

 

 

นายมานิจยังได้ทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาของชาติในฐานะของกรรมการมูลนิธิไทยรัฐมาอย่างยาวนาน โดยการสืบสานปณิธานของ นายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมูลนิธิไทยรัฐ ในการพัฒนาวงการศึกษาไทย ด้วยการอุทิศตนเพื่อการพัฒนาครู นักเรียนและโรงเรียนไทยรัฐวิทยาจำนวน 111 โรงเรียนทั่วประเทศผ่านกิจกรรมของมูลนิธิไทยรัฐมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2522 จนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกัน นายมานิจได้มีส่วนร่วมเป็นกรรมการของมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ซึ่งทำหน้าที่คัดเลือกและมอบรางวัลแก่ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในชีวิตศิษย์และมีคุณูปการต่อการศึกษาทั้งในระดับอาเซียนและประเทศไทย

 

ในด้านวิชาชีพหนังสือพิมพ์และสื่อสารมวลชน นอกจาก นายมานิจ ได้รับแหวนทองคําประดับเพชรจาก นายกําพล วัชรพล ผู้อํานวยการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2522 ในฐานะที่เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานดีเด่นเพียงคนเดียวจากกองบรรณาธิการแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมวิชาชีพอย่างมาก ตำแหน่งงานที่สำคัญๆ เช่น ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย 2 สมัย (พ.ศ.2517-2518) เป็นประธานสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งอาเซียนหรือCONFEDERTION OF ASEAN JOURNALISTS (CAJ) ในปี พ.ศ. 2526-2527 โดยเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับตําแหน่งนี้ ได้เป็นประธานคนแรกของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติในปี พ.ศ. 2540 เป็นหัวหน้าคณะทํางานศึกษาเพื่อเสนอให้มีการแก้ไข กฎหมายการพิมพ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องของสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2541 เป็นคณะบรรณาธิการหนังสือกฎหมายการพิมพ์เปรียบเทียบ ฉบับภาษาอังกฤษและรับหน้าที่เป็นผู้ที่เขียนเรื่องกฎหมายการพิมพ์ในประเทศไทย และที่สำคัญยิ่งคือ นายมานิจเป็นนักหนังสือพิมพ์อาชีพเพียงคนเดียวที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการและทําหน้าที่ในการบัญญัติศัพท์หนังสือพิมพ์เป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนานถึง 3 ปี จนศัพท์บัญญัติวิชาการหนังสือพิมพ์ฉบับราชบัณฑิตยสถานเสร็จเรียบร้อย ฯลฯ

 

นอกจากนั้น นายมานิจ ยังมีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องและรณรงค์ให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายและ / หรือประกาศคณะปฎิวัติที่ลิดรอนเสรีภาพสื่อในการทำหน้าที่หลายครั้ง เช่น เป็นผู้นําในการรณรงค์ให้ยกเลิกคําสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 (ปร.42) อันเป็นกฎหมายที่ลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อมวลชนซึ่งออกมาในสมัยเผด็จการ ทําให้ประเทศไทยถูกดูถูกในสายตาของอารยประเทศ เป็นผู้นําเพื่อการเรียกร้องให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่มีส่วนเอื้ออํานวยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหนังสือพิมพ์ ทั้งยังมีบทบัญญัติหลายมาตราที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะรัฐมนตรีในสมัยของ นายชวน หลีกภัย ได้ยอมรับและมีมติเห็นชอบให้เลิกพระราชบัญญัติฉบับนั้น นอกจากนี้ นายมานิจยังเป็นผู้นําในการเรียกร้องให้มีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่ให้ฝ่ายบริหารมีอํานาจสั่งปิดหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอื่นๆ ตั้งแต่เมื่อครั้งมีการร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา

 

ด้วยความทุ่มเทเสียสละให้แก่งานวิชาชีพหนังสือพิมพ์และสื่อสารมวลชนอย่างเสมอต้นเสมอปลายของ นายมานิจ ทำให้ได้รางวัลชีวิตที่สำคัญ อาทิ ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2543 ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติศักดิ์ด้านวารสารศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี พ.ศ. 2544 ปริญญานิเทศศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาในปีเดียวกัน และรางวัลเชิดชูเกียรติยศคนหนังสือพิมพ์จากสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี 2566 ทั้งนี้ ยังไม่รวมโล่เกียรติคุณอื่นๆ จากหลากหลายสถาบัน

 

(19 ธ.ค.2566) นายนคร วีระประวัติ นายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แถลงข่าวการจัดงาน “เกียรติยศคนหนังสือพิมพ์” ในโอกาสครบรอบ 82 ปี ของสมาคมฯ พร้อมทั้งจัดมอบรางวัลเชิดชูเกียรตินักหนังสือพิมพ์ที่มีคุณูปการและเป็นแบบอย่างแก่วงการหนังสือพิมพ์ โดยคณะกรรมการสมาคมฯ ได้ลงมติมอบรางวัล “เกียรติยศคนหนังสือพิมพ์” แก่นักหนังสือพิมพ์อาวุโส 2 คน ได้แก่นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และนายมานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโสหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และอดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

 

ปัจจุบัน นายมานิจ ยังคงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการมูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของสถาบันอิศราที่สร้างต้นแบบของการรายงานข่าวเชิงสืบสวนเพื่อต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นให้แก่วงการสื่อมวลชนผ่านสำนักข่าวอิศรา รวมทั้งการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมด้านวิชาชีพแก่สื่อมวลชนทุกระดับมาอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากงานด้านวิชาชีพสื่อสารมวลชนแล้ว นายมานิจ ยังอุทิศเวลามาช่วยงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกหลายด้าน อาทิ

– เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยต่อกันมาตั้งแต่ พ.ศ 2520 จนถึงปัจจุบัน ในระหว่างการดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยฯได้ทำงานที่ได้รับมอบหมายสำคัญหลายเรี่อง เช่น เป็นประธานกรรมการสรรหาคณบดีคณะต่างๆ ประมาณ 10 คณะ เป็นประธานกรรมการสรรหาอธิการบดี 3 ครั้ง และยังได้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการยกร่างระเบียบและข้อบังคับต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอีกหลายฉบับ

– เป็นประธานการจัดสร้างอนุสาวรีย์ ศ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ และ ศ.สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่หน้าหอประชุมใหญ่และหน้าตึกคณะนิติศาสตร์ตามลำดับ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต รวมทั้งจัดระดมทุนศิษย์เก่าสร้างประติมากรรมวันธรรมศาสตร์สามัคคี 5 พ.ย. ซึ่งตั้งอยู่ที่หลังตึกโดม ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

– เป็นประธานและกรรมการช่วยงานคณะต่างๆ หลายแห่ง เช่น คณะวารสารศาสตร์ฯ คณะนิติศาสตร์ โรงเรียนอนุบาลและประถมธรรมศาสตร์ สถาบันภาษา เป็นต้น

– ล่าสุด เป็นประธานระดมทุนจัดสร้างสวนอนุสรณ์ ศ.คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ซึ่งจะประดิษฐานอยู่หน้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มีกำหนดแล้วเสร็จต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2568 นี้

 

กล่าวได้ว่า ตลอดชีวิตของ นายมานิจ สุขสมจิตร ได้ใช้ความรู้และประสบการณ์ความสามารถทุ่มเททำงานเพื่อวงการสื่อสารมาลชน วงการการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเพื่อส่วนรวมเสมอมา รวมถึงการดำเนินชีวิตและการประกอบวิชาชีพที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมและจริยธรรมอันเป็นที่ประจักษ์ คณะกรรมการชมรมเพื่อนโดมอันเป็นองค์กรของศิษย์เก่าธรรมศาสตร์จึงมีมติเป็นเอกฉันท์มอบรางวัล “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ประจำปี 2567 แด่ นายมานิจ สุขสมจิตร เพื่อเป็นแบบอย่างแก่ประชาคมธรรมศาสตร์รุ่นหลังสืบไป

 

Cr. ‘สืบจากข่าว’

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด