เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ณ สาธารณรัฐเกาหลี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้นำเข้าสินค้าไทยในเกาหลีใต้ 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท KT&F จำกัด (ชาวไทย) บริษัท Hyolim จำกัด (ชาวเกาหลี) และบริษัท LTM Food KP จำกัด (ชาวเกาหลี) เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปยังสาธารณรัฐเกาหลี
นายสุชาติ กล่าวว่า การหารือกับนายไมเคิล บริษัท Hyolim Ltd. ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำเข้าข้าวไทยรายใหญ่ในเกาหลีใต้ โดยแจ้งว่า ปัจจุบันการนำเข้าข้าวทั้งหมดได้รับการดูแลจัดการโดย Korea Agro-Fisheries และ Food Trade Corporation (aT Center) ซึ่งไทยได้รับจัดสรรโควตาแบบรายประเทศ ประมาณจำนวน 28,494 ตัน/ปี และมีสิทธิเข้าร่วมประมูลโควตารวมอีก 20,000 ตัน/ปี เกาหลีใต้ถูกบังคับให้จำเป็นต้องทำตามภาคผนวก Annex 5 ของ WTO เพื่อกำหนดอัตราภาษีนอกโควตา โดยรัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศว่าอัตราภาษีนอกโควตาอาจจะเป็น 513% ทั้งนี้ มองเห็นว่าตลาดข้าวหอมมะลิของไทยมีโอกาสมากในตลาดเกาหลีใต้ โดยสามารถบริโภคได้ถึง 1,000 ตันต่อปี แต่ปัจจุบันยังสามารถนำเข้ามาได้ไม่เต็มที่ เพราะติดปัญหาโควตา ซึ่งสามารถนำเข้ามาได้ประมาณ 200 ตันต่อปี ดังนั้น หากสามารถผลักดันให้สามารถส่งออกข้าวหอมมะลิได้มากขึ้น จะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย รวมทั้งอาจส่งผลดีต่อการขยายสินค้าข้าวหอมมะลิไทยเข้าสู่ร้านอาหารไทยเพิ่มขึ้น
สำหรับการหารือกับ Mr. Kenny Park บริษัท LTMFood KP Co.,Ltd ผู้นำเข้าไก่รายใหญ่ของเกาหลีใต้ ได้รายงานถึงตลาดไก่ไทยในเกาหลีใต้ ว่าเนื้อไก่ดิบเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งออกก่อนปี 2547 แต่หลังจากไข้หวัดนก เนื้อไก่แปรรูปด้วยความร้อนได้เติบโตอย่างจริงจัง โดยเนื้อไก่ดิบได้กลับมานำเข้ามาอีกครั้ง ตั้งแต่ปี 2560 โดยมีบราซิลเป็นคู่แข่งในส่วนขาและอก และมีเดนมาร์กเป็นคู่แข่งในส่วนปีก เนื้อไก่แปรรูปแข่งขันกับจีน แต่ไทยมีความโดดเด่นกว่าแม้จะมีราคาที่สูงก็ตาม โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากประเทศไทยมีเพิ่มมากขึ้นในส่วนของสินค้าประเภทไก่ย่างถ่าน ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561 มีปริมาณไก่ที่นำเข้าจากยุโรปเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาษี 0% ปัจจุบันความยากลำบากในการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูปคือต้นทุน ถึงแม้ว่าสินค้าไทยจะได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดีขึ้นในตลาด แต่ปริมาณการนำเข้าทั้งหมดยังอยู่ที่ 10% เมื่อเทียบกับของประเทศคู่แข่งเช่นบราซิล ดังนั้น หากการเจรจาในครั้งนี้สามารถผลักดันภาษีของไทยลดลงเป็น 0% ได้ผู้นำเข้าหลายรายจะนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น
นอกจากนี้ รมช.สุชาติ ยังได้หารือกับคุณประไพ ผู้ก่อตั้งบริษัท KT&F Co.,Ltd ซึ่งเป็นชาวไทยที่มาอาศัยอยู่ประเทศเกาหลีใต้นานกว่า 30 ปี โดยเริ่มต้นการทำธุรกิจจากการปลูกผักไทยจำหน่ายก่อน จากนั้นจึงเริ่มขยายกิจการในการนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภคของไทยมาจัดจำหน่าย โดยกลุ่มลูกค้าหลักเป็นแรงงานชาวไทยและชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในประเทศเกาหลีใต้ ปัจจุบันมีโกดังจำหน่ายสินค้าทั้งปลีกและส่ง 1 โกดัง โรงงานผลิตอาหารแปรรูป อาทิ ไส้กรอกอีสาน ลูกชิ้นหมู ไส้อั่ว หมูแดดเดียว และอื่นๆ 1 โรงงาน โรงงานผลิตขนมไทยและเบเกอรี่ 1 โรงงาน และโรงเรือนปลูกผักไทย 2 โรงเรือน ได้แจ้งว่าอัตราภาษีนำเข้าสินค้าหลายประเภทจากไทย มีอัตราภาษีนำเข้าสูงกว่าสินค้าเวียดนาม ทำให้สินค้าเราเสียเปรียบ เช่น ปลาน้ำจืดแช่แข็ง รวมทั้งการตรวจสารตกค้างผักนำเข้า ใช้เวลานาน 2-4 วัน ทำให้ผักไม่สด ไม่สามารถนำมาขายต่อได้ทัน จึงขอความอนุเคราะห์ในการเจรจาปรับลดภาษีในการนำเข้าต่างๆ เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น
ทั้งนี้ นอกจากผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในเกาหลีใต้ในกลุ่มร้านอาหารไทยและผู้นำเข้าและกระจายสินค้าไทยแล้ว ยังมีนักลงทุนของไทยรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุนในเกาหลีใต้ โดยเฉพาะในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน คือ บริษัท บี. กริม พาวเวอร์ จำกัด มหาชน ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ของปี 2567 โดยมีมูลค่าการลงทุนถึง 129,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม และถือเป็นเอกชนรายแรกที่ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเกาหลีใต้ในการนำเทคโนโลยี “กังหันลมไฟฟ้าขับเคลื่อนตรง” มาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นสาขาการลงทุนที่รัฐบาลเกาหลีใต้ให้ความสำคัญเนื่องจากเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
“ผมได้ขอให้รัฐบาลเกาหลีใต้ให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนของไทย ด้วยเห็นว่าเป็นการลงทุนที่ตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของเกาหลีใต้ และก็ตรงกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ซึ่งทั้งสองประเทศได้ตั้งเป้าหมายตรงกันในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 หรืออีก 25 ปี ข้างหน้า” นายสุชาติ กล่าว