เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 ทางองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย แถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ชั้น 2 องค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย (อต.) สำนักงานใหญ่ โดยได้จัดทำ “โครงการพัฒนาตลาดต้นแบบ Go Green 6G” ภายใต้คอนเซ็ปต์ “องค์การตลาดยุคใหม่…ใส่ใจคุณภาพชีวิต” เพื่อสร้างมาตรฐานองค์การตลาด กระทรวงมหาดไทย (อต.) ด้วยบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาตลาด เพื่อยกระดับตลาดเกษตรปลอดภัยให้มีมาตรฐานสูงขึ้นไปสู่ตลาดสีเขียว หรือ Green Market และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
สำหรับโครงการ Go Green 6G เป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างองค์การตลาดกับหน่วยงานต่างๆ โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการดำเนินการจากตลาดเครือข่าย สามารถขับเคลื่อนองค์การไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้อย่างมีจุดมุ่งเน้นทิศทางที่ชัดเจน ตามที่กำหนดในแผนยุทธศาสตร์ เพื่อนำไปสู่การเป็นตลาดต้นแบบมาตรฐาน โครงการพัฒนาตลาดต้นแบบ Go Green 6G ครอบคลุม 6 มิติ ได้แก่
มิติที่ 1 Green Product สินค้าปลอดภัย
มิติที่ 2 Green Price ราคาเป็นธรรม
มิติที่ 3 Green Place สถานที่พร้อมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มิติที่ 4 Green Process บริหารจัดการด้วยเทคโนโลยี
มิติที่ 5 Green Power ใช้พลังงานคุ้มค่า
มิติที่ 6 Green Partnership สร้างเครือข่ายชุมชนให้เข้มแข็ง
ในการนี้ นายบูรณิศ ยุกตะนันทน์ ผู้อำนวยการองค์การตลาด และคณะกรรมการตรวจประเมินตลาดต้นแบบ (Go Green 6G) ยังได้เข้าตรวจเยี่ยมและประเมินตลาดต้นแบบ Go Green 6G ใน 4 ตลาดเครือข่าย และได้คัดเลือก 4 ตลาดที่เข้าเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่
1. “ตลาดดีดี มาร์เช” โดยมี นายวีรชัย พิพัฒน์พวงทอง ประธานตลาดดีดี มาร์เช่ ขึ้นรับโล่รางวัล พร้อมป้ายตราสัญลักษณ์ โครงการตลาดต้นแบบ Go Green 6G
2. “ตลาดฟู้ดวิลล่า ราชพฤกษ์” โดยมี นายภคเวศย์ ทับประยูร กรรมการผู้จัดการตลาดฟู้ดวิลล่า ราชพฤกษ์ ขึ้นรับ โล่รางวัล พร้อมป้ายตราสัญลักษณ์ โครงการตลาดต้นแบบ Go Green 6G
3. “ตลาดนายใหญ่” โดยมี นางณิราภัทร ชอบธรรม ประธานกรรมการตลาดนายใหญ่ ขึ้นรับป้ายตราสัญลักษณ์ โครงการตลาดต้นแบบ Go Green 6G
4. “ตลาด 88 นครชัยศรี” โดยมี นางอารุณี โชติวิจิตร สุปรียสุนทร ประธานกรรมการตลาด 88 นครชัยศรี ขึ้นรับป้ายตราสัญลักษณ์ โครงการตลาดต้นแบบ Go Green 6G
ทางองค์การตลาด (กต.) หวังเป็นอย่างยิ่งว่า “โครงการพัฒนาตลาดต้นแบบ Go Green 6G” ด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของ 6G จะเป็นการพัฒนาตลาดโดยการบูรณาการด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ตามยุทธศาสตร์ ของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป