วันพุธที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๗ วันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ ดังนี้
(๑) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ (เรื่องพิจารณาที่ ต. ๒๙/๒๕๖๗)
นายไพบูลย์ นิติตะวัน (ผู้ร้อง) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓ ว่า กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย (ผู้ถูกร้องที่ ๑) และกระทรวงการต่างประเทศ (ผู้ถูกร้องที่ ๒) นำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ค.ศ. ๒๐๐๑ (MOU ๒๕๔๔) ซึ่งทำขึ้นโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาใช้ดำเนินการแบ่งเขตอธิปไตยและผลประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของประเทศไทยด้านอ่าวไทย ละเมิดสิทธิของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๔๓ วรรคหนึ่ง (๒) และขอให้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งสองยกเลิกการนำ MOU ๒๕๔๔ มาใช้
ผลการพิจารณา
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาโดยการอภิปรายแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามเอกสารหลักฐานของผู้ถูกร้องที่ ๑ ปรากฏว่า กรณีเป็นปัญหาเรื่องหน้าที่ของรัฐตามหมวด ๕ ของรัฐธรรมนูญ ยังไม่ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคล ซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพตามรัฐธธรรมนูญโดยตรงจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสอง ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องเพียงการแสดงความคิดเห็นของผู้ร้องในฐานะประชาชนเกี่ยวกับปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ MOU ๒๕๔๔ เท่านั้น กรณีไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๑ มาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง ดังนั้น ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๑๓
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติโดยเสียงข้างมาก (๖ ต่อ ๓) มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจาจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย คำขออื่นย่อมเป็นอันตกไป
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก จำนวน ๖ คน คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และนายอุดม รัฐอมฤต
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน ๓ คน คือ นายจิรนิติ หะวานนท์ นายนภดล เทพพิทักษ์ และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ