หลังจากกรรมการบริหารพรรค ปชป.มีมติให้เข้าร่วมรัฐบาล เสียงสะท้อนในโลกโซเชียลก็ดังกระหึ่ม ส่วนใหญ่ไปในทิศทางเดียวกันว่าไม่เห็นด้วย พร้อมบอกว่าเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่กาให้ ปชป.อีก พอกันทีกับ ปชป.
เสียงสะท้อนจากการพูดคุยกับพี่น้องประชาชนก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน สอดคล้องกับโลกโซเชียล เช่น น่าผิดหวัง ยากจะทำใจ เสียความรู้สึกกับการร่วมรัฐบาลแบบข้ามขั้ว ที่น่าห่วงมากก็คือ จะไม่เลือก ปชป.อีกแล้ว เป็นต้น พร้อมกับให้กำลังใจนายชวน หลีกภัย และ ส.ส.อีก 3 ท่าน ที่ไม่เห็นด้วยกับการร่วมรัฐบาล
ด้วยเหตุนี้ ทำให้น่ากังวลอย่างยิ่งว่าถ้า ปชป.ไม่มีคนที่มีอุดมการณ์ เช่น “ชวน หลีกภัย” พรรค ปชป.จะเป็นเช่นใด ? และ “คนรัก ปชป.” จะลดลงเหลือเท่าใด ?
“ชวน หลีกภัย” ผู้ไม่เคยกรุยทางสร้างอำนาจด้วยเงินตรา และไม่เคยใช้อำนาจหาเงินตรา แต่กลับมีบารมีด้วยการไม่ทรยศประชาชน ยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนอย่างแน่วแน่ มั่นคงในอุดมการณ์ “ซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชน” ทำให้เกิดความรักและศรัทธาจากพี่น้องประชาชนทั่วหล้า
หลายท่านคงไม่รู้ว่านายชวนฯ ได้สร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมามากมาย ผมขอยกตัวอย่างเฉพาะด้านคมนาคมขนส่งที่ผมติดตามมาโดยตลอด
นายชวนฯ มีวิสัยทัศน์กว้างไกลด้านคมนาคมขนส่ง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากมาย เช่น
(1) ถนน 4 เลน
รัฐบาลชวน 1 (2535-2538) เริ่มก่อสร้างถนน 4 เลน ทั่วประเทศ นับเป็นรัฐบาลแรกที่ประกาศเป็นนโยบายและแถลงต่อรัฐสภาว่าจะก่อสร้างถนน 4 เลน ทั่วทุกภูมิภาค
(2) รถไฟทางคู่
ได้ริเริ่มโครงการรถไฟทางคู่ โดยได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ตอกหมุดเริ่มการก่อสร้างรถไฟทางคู่บริเวณเชิงสะพานพระราม 6 (ฝั่งพระนคร) เมื่อต้นปี 2536 (รัฐบาลชวน 1) หลังจากนั้น ได้กลับมาสานงานต่อในสมัยรัฐบาลชวน 2 (2540-2544) โดยการก่อสร้างรถไฟทางคู่อีกหลายสาย
(3) มอเตอร์เวย์
ได้ริเริ่มโครงการมอเตอร์เวย์ โดยได้จัดทำแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ทั่วประเทศ และได้ก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ – ชลบุรี ซึ่งเป็นมอเตอร์เวย์สายแรกของประเทศไทย ในปี 2537 (รัฐบาลชวน 1)
(4) รถไฟฟ้าบีทีเอส
ได้ผลักดันให้เริ่มการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือที่เรียกกันว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย ในต้นปี 2538 (รัฐบาลชวน 1) จนสามารถเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2542 (รัฐบาลชวน 2)
(5) รถไฟฟ้าใต้ดิน
ได้เปิดการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย โดยนายชวนฯ เป็นผู้กดปุ่มเปิดหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าใต้ดินในปี 2542 (รัฐบาลชวน 2)
(6) สนามบินสุวรรณภูมิ
เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2540 (รัฐบาลชวน 2) นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่าจะเร่งก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิโดยใช้งบประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ตามที่ ครม.ได้อนุมัติไว้เมื่อประมาณปี 2537 (รัฐบาลชวน 1) และตามแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิที่จัดทำขึ้นในปี 2536 (รัฐบาลชวน 1)
ดังนั้น ที่มีคนพูดว่าเวลานี้ ปชป.หมดยุคของผู้อาวุโสแล้ว ลองตรองดูหากไม่มีผู้อาวุโสอย่างนายชวน หลีกภัย และหากเราไม่สานต่ออุดมการณ์ของพรรค “ซื่อสัตย์สุจริตต่อประชาชน” แล้วจะเหลือ “คนรัก ปชป.” สักกี่คน ?
ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์