“พิพัฒน์” รมว.แรงงาน สั่งการ กสร. ลงพื้นที่ตรวจสอบดินถล่มอุโมงค์รถไฟความเร็วสูง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา จนเป็นเหตุให้ลูกจ้างเสียชีวิต 3 ราย กำชับนายจ้างต้องใส่ใจและปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด อย่าให้เกิดเหตุซ้ำ พร้อมสั่งเจ้าหน้าที่คุมเข้มบังคับใช้กฎหมาย เร่งสร้างการรับรู้ มุ่งเป้าคุ้มครองแรงงานให้ปลอดภัย
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยหลังทราบข่าวลูกจ้าง 3 ราย เหตุอุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่มเสียชีวิตทั้งหมด จึงสั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานลงพื้นที่การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงที่เกิดเหตุดินทรุดตัวภายในอุโมงค์รถไฟคลองไผ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ทันที ด้วยห่วงใยความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง พร้อมให้กำชับนายจ้างต้องใส่ใจและปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อม ในการทำงาน พ.ศ. 2554 รวมทั้งกฎกระทรวงและประกาศที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด อย่าให้เกิดเหตุซ้ำ และต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตทั้ง 3 ราย
ด้านนางโสภา เกียรตินิรชา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อว่า วันนี้ (30 สิงหาคม 2567) ตนพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 3 และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่ามูลเหตุของการประสบอันตรายเป็นการขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งการขุดเจาะทุก ๆ 3 เมตรจะวางโครงเหล็กอุโมงค์ไปพร้อมกัน และเกิดเหตุดินถล่มในอุโมงค์ห่างจากปลายอุโมงค์ประมาณ 3.2 กิโลเมตร ลูกจ้างทั้ง 3 ราย เข้าไปทำงานโกยดินออกจากอุโมงค์และดินได้ถล่มลงมาอีกเป็นเหตุให้ดินทับลูกจ้างทั้ง 3 คนจนเสียชีวิต สาเหตุคาดว่าดินอุ้มน้ำจากฝนตกและชั้นดินไหล่เขาไม่มีความหนาแน่นของชั้นดินทำให้เกิดการพังทลายและไหลลงบริเวณขุดเจาะอุโมงค์ ซึ่งที่ผ่านมาพนักงานตรวจความปลอดภัย ได้เข้าพื้นที่เพื่อตรวจสอบแล้ว และได้มีการเรียกนายจ้างสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 28 สิงหาคม 2567 แต่นายจ้างขอเลื่อนนัดไปในวันที่ 6 กันยายน 2567 เนื่องจากอยู่ระหว่างการดำเนินการเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยและการจัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ ประกอบการชี้แจง จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่คุมเข้มการบังคับใช้กฎหมาย เร่งสร้างการรับรู้ มุ่งเป้าคุ้มครองแรงงานให้ปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ขอย้ำเตือนให้สถานประกอบกิจการทุกแห่งให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการทำงานเป็นอันดับแรก โดยต้องใส่ใจและให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยฯ เพื่อป้องกันและลดการประสบอันตรายจากการทำงาน รวมถึงการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของทั้ง 2 ฝ่าย