วันที่ 15 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 น.
พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ / ประธานคณะทำงานจัดการแข่งขันกีฬารักบี้ฟุตบอลประเพณีระหว่างตำรวจไทยและตำรวจมาเลเซีย พร้อมด้วย พล.ต.ท.อัครเดช พิมลศรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ / รองประธานฯ, พล.ต.อ.ปริญญา จันทร์สุริยา ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ, พล.ต.ต.เทอดศักดิ์ รุจิรวงศ์ ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ, พล.ต.ต.สมพร สัจจพจน์ รองผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะ ร่วมชมการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณีตำรวจไทย-มาเลเซีย ชิงถ้วย “รุจิรวงศ์” ครั้งที่ 35 ในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 เวลา 15.00 ณ สนามกีฬาฮังตูวะห์ เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย
โดยมี ดาโต๊ะ เซอรี อุตามอ อับดุล ราอุฟ บิน ยูโซะห์ ผู้ว่าการรัฐมะละกา, ตัน ซารี ราซารูดิน บิน ฮูเซ็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย, ดาโต๊ะ ซารี อัสมี บิน อาบู กัซซิม ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร ตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย, ดาโต๊ะ ซารี รัมลี บิน โมฮัมเหม็ด ยูซุฟ ผู้อำนวยการฝ่ายปรามอาชญากรรมเศรษฐกิจ ตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย, ดาโต๊ะ ฮัจญี ไซนอล บิน ฮัจญี ซามะห์ หัวหน้าตำรวจรัฐมะละกา, อับดุล รามัล บิน อาซะ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร และคณะเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐมะละกา ร่วมให้การต้อนรับ
สำหรับการแข่งขันกีฬารักบี้ฟุตบอลประเพณี ตำรวจไทยและตำรวจมาเลเซีย ได้เริ่มต้นในปีพุทธศักราช 2504 ครั้งเมื่อ พลตำรวจเอก ประเสริฐ รุจิรวงศ์ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ โดย ทีมรักบี้ฟุตบอลสโมสรตำรวจ ได้เดินทางไปแข่งขันที่ประเทศมาเลเซีย เป็นครั้งแรก ต่อจากนั้น ได้มีการสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลายาวนานถึง 63 ปี กลายเป็นประเพณีที่ผูกพันระหว่างตำรวจทั้งสองประเทศ และถือเป็นกิจกรรมสำคัญในการสร้างโอกาสให้ตำรวจทั้งสองประเทศได้มีความคุ้นเคยกัน เสริมสร้างสัมพันธภาพอย่างแนบแน่นมั่นคง
ในผลการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลประเพณี ตำรวจไทย – ตำรวจมาเลเซีย ครั้งที่ 35 ประจำปี 2567 มีดังนี้
1. การแข่งขันรักบี้ฟุตบอล 10 คน ประเภทอายุเกิน 45 ปี ตำรวจมาเลเซีย ชนะ ตำรวจไทย ด้วยคะแนน 26 : 0 จุด ตำรวจมาเลเซียครองถ้วย “Razarudin Cup“
2. การแข่งขันรักบี้ฟุตบอล 15 คน ประเภทอายุไม่เกิน 45 ปี ตำรวจมาเลเซีย ชนะ ตำรวจไทย ด้วยคะแนน 31 : 21 จุด ตำรวจไทยครองถ้วย “รุจิรวงศ์”
ทั้งนี้ การแข่งขันกีฬารักบี้ฟุตบอลประเพณีดังกล่าว ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างตำรวจไทยและตำรวจมาเลเซีย ในการบูรณาการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม, การป้องกันปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติด, การค้ามนุษย์, การลักลอบหลบหนีเข้าเมือง, แรงงานผิดกฎหมาย, องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ, ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนบุคลากรและการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเสริมสร้างความเป็นมืออาชีพ รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงระหว่างกันของประชาคมโลกเข้าด้วยกัน