การเมือง

“ปมปริศนา” ขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัช


3 สิงหาคม 2024, 12:35 น.

 

มีข่าวว่ารัฐเตรียมขยายเวลาให้เอกชนผู้รับสัมปทานทางด่วนศรีรัชออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน ทำให้เวลาสิ้นสุดสัมปทานถูกเลื่อนจากปี 2578 เป็นปี 2601 หรือจากเดิมที่ต้องรอให้สิทธิ์การบริหารทางด่วนกลับมาเป็นของรัฐอีก 11 ปี เป็นต้องรออีก 34 ปี โอกาสที่จะใช้ทางด่วนราคาถูกมากๆ จะถูกทอดยาวออกไปอีกนานแสนนาน เป็นผลให้ ป.ป.ช. หวั่นว่ารัฐจะเสียผลประโยชน์ จึงสั่งให้ กทพ. แจงข้อสงสัยภายใน 7 ส.ค.นี้ บทความนี้มีทางออกโดยไม่ต้องขยายสัมปทาน !

 

 

1. ย้อนไทม์ไลน์สัมปทานทางด่วนศรีรัช

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ให้สัมปทานทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) แก่บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นระยะเวลา 30 ปี จนถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563

 

ต่อมามีการขยายสัมปทานออกไป 15 ปี 8 เดือน จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2578 เพื่อแลกกับข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับ BEM
มาถึงวันนี้ มีข่าวว่าจะขยายสัมปทานอีก 22 ปี 5 เดือน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2601 เพื่อแลกกับการลดค่าผ่านทางช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 และให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงเดียวกัน

 

อนึ่ง การขยายสัมปทานครั้งนี้ รัฐจะขยายสัมปทานทางด่วนอุดรรัถยา (ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด) ให้เอกชนด้วย

 

2. ลดค่าผ่านทางช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9

รัฐต้องการลดค่าผ่านทางช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ที่ปัจจุบันสำหรับรถ 4 ล้อ มีอัตราสูงสุด 90 บาท จะปรับลดลงเหลือสูงสุด 50 บาท ในขณะเดียวกันรัฐบอกว่าทางด่วนช่วงดังกล่าวมีปริมาณรถมาก ทำให้รถติดบนทางด่วน จึงมีแนวคิดที่จะก่อสร้าง Double Deck ช่วงดังกล่าว

 

ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าผ่านทางด่วนทั้งโครงข่ายลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สิทธิ์การบริหารทางด่วนกลับมาเป็นของรัฐ อัตราค่าผ่านทางจะถูกลงมาก แต่การลดค่าผ่านทางเฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ในเวลานี้จะทำให้ปริมาณรถบนทางด่วนเพิ่มขึ้น รถติดบนทางด่วนช่วงดังกล่าวก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ การลดค่าผ่านเฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร อาจทำให้รัฐถูกกล่าวหาได้ว่าเป็นการเร่งให้จำเป็นต้องก่อสร้าง Double Deck หรือไม่ ?

 

ดั้งนั้น รัฐควรเร่งรัดให้เวลาสัมปทานสิ้นสุดลงโดยเร็ว เพื่อที่จะสามารถลดค่าผ่านทางด่วนทุกเส้นทางซึ่งมีระยะทางรวมทั้งหมด 224.6 กิโลเมตร ให้ถูกลงมากได้ ดีกว่าลดค่าผ่านทางเพียงแค่ระยะทาง 17 กิโลเมตร เท่านั้น

 

อนึ่ง โดยทั่วไปค่าผ่านทางกรณีรัฐให้สัมปทานแก่เอกชนจะมีราคาแพงกว่ากรณีไม่ให้สัมปทาน ขอยกตัวอย่างค่าผ่านทางด่วนศรีรัช ส่วน B (ทางแยกต่างระดับพญาไท-บางโคล่) ซึ่งรัฐให้สัมปทานแก่เอกชนมีค่าผ่านทางสูงสุด/กิโลเมตร เท่ากับ 5.32 บาท ในขณะที่ค่าผ่านทางด่วนฉลองรัช (อาจณรงค์-รามอินทรา-วงแหวนรอบนอกฝั่งตะวันออก) ซึ่งรัฐลงทุนก่อสร้างและเก็บค่าผ่านทางเอง ไม่ได้ให้สัมปทานแก่เอกชน มีค่าผ่านทางสูงสุด/กิโลเมตร เท่ากับ 1.60 บาท จะเห็นได้ว่าค่าผ่านทางสูงสุด/กิโลเมตร กรณีรัฐให้สัมปทานแก่เอกชนแพงกว่ากรณีไม่ให้สัมปทานถึง 232.5%

 

3. Double Deck แก้รถติดบนทางด่วนได้จริงหรือ ?

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า Double Deck จะช่วยแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนได้จริงหรือ ? เนื่องจากรถทั้งหลายที่จะใช้ทางด่วนจะต้องวิ่งบนถนนระดับพื้นดินซึ่งในชั่วโมงเร่งด่วนมีรถติดอย่างหนัก กว่าจะขึ้นหรือลงทางด่วนได้ต้องใช้เวลานาน ดังนั้น การลงทุนก่อสร้าง Double Deck มูลค่า 34,800 ล้านบาท จะทำให้กระแสจราจรบนทางด่วนไหลลื่นได้จริงหรือ ? และจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ?
อีกทั้ง บนทางด่วนมีรถติดหลายแห่ง ไม่เฉพาะช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 เท่านั้น จะทำให้ต้องก่อสร้าง Double Deck อีกหลายสาย และจะต้องเป็นเหตุให้ขยายสัมปทานอีกหลายครั้งอย่างนั้นหรือ ?

 

4. ตัวแปรการคำนวณหาระยะเวลาขยายสัมปทานให้เอกชน 22 ปี 5 เดือน

ในการคำนวณหาระยะเวลาขยายสัมปทานให้เอกชน 22 ปี 5 เดือน มีตัวแปรที่มีผลต่อการคำนวณดังนี้

(1) ค่าก่อสร้าง ค่าดำเนินงานและซ่อมบำรุงรักษา Double Deck หากประเมินไว้สูงจะทำให้ระยะเวลาการขยายสัมปทานนานขึ้น
(2) ปริมาณรถและรายได้จากการก่อสร้าง Double Deck หากประเมินไว้ต่ำจะทำให้ระยะเวลาการขยายสัมปทานนานขึ้น
(3) ผลตอบแทนการลงทุน รัฐกำหนดให้เอกชนผู้รับสัมปทานได้รับผลตอบแทนการลงทุนถึง 9.75% ซึ่งถือว่าสูง ทำให้ต้องขยายเวลาสัมปทานนานถึง 22 ปี 5 เดือน

 

จะเห็นได้ว่าตัวแปรดังกล่าวมีผลต่อการคำนวณระยะเวลาขยายสัมปทาน ดังนั้น รัฐจะต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ แม้ว่ารัฐจะมีบริษัทที่ปรึกษาช่วยคำนวณให้ก็ตาม หากบริษัทฯ ทำงานอย่างตรงไปตรงมาก็ไม่น่าห่วง แต่หากบริษัทฯ ไม่รักษาจรรยาบรรณ รัฐก็จะเสียผลประโยชน์

 

5. ป.ป.ช. หวั่น “รัฐจะเสียผลประโยชน์”

การเตรียมขยายสัมปทานทางด่วนศรีรัชให้เอกชนทำให้สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หวั่นว่ารัฐจะเสียผลประโยชน์ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ถึงผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มีข้อความตอนหนึ่งว่า “สำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต พิจารณาแล้วเห็นว่า เงื่อนไขในสัญญาบางประการตามที่สื่อมวลชนได้รายงานมีความเสี่ยงที่อาจทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนคู่สัญญา” จึงขอให้ กทพ.ชี้แจงข้อเท็จจริงภายในวันที่ 7 สิงหาคม 2567

 

6. ข้อเสนอแนะ

เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนหรือประเทศชาติโดยส่วนรวม ผมขอเสนอแนะให้เลื่อนการก่อสร้าง Double Deck ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ออกไปก่อน ดังที่เคยเลื่อนมาแล้วในอดีต แล้วจึงค่อยพิจารณาก่อสร้างเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2578
การทำเช่นนี้ทำให้ไม่ต้องขยายสัมปทานให้เอกชน สิทธิ์การบริหารและเก็บค่าผ่านทางจะกลับมาเป็นของ กทพ.ในปี 2578 ถึงเวลานั้น กทพ. ก็จะสามารถลดค่าผ่านทางด่วนให้ถูกลงมากได้ ผู้ใช้ทางด่วนก็จะได้ยิ้มกว้างกัน

 

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์
อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดการเมือง

เรื่องล่าสุด