แถลงปิดคดียุบพรรค : ย้ำ 9 ข้อต่อสู้ ยืนหยัดเจตนารมณ์ก้าวไกล สร้างสมดุลระหว่างประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์
วันนี้ (2 ส.ค.) ที่พรรคก้าวไกล ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ร่วมแถลงข่าวชี้แจงเนื้อหาและสรุปข้อต่อสู้ในเอกสารคำแถลงปิดคดี ที่พรรคก้าวไกลส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลฯ จะอ่านคำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลในวันที่ 7 สิงหาคมนี้
โดยพิธา ได้แถลงถึงเจตนารมณ์ของพรรคก้าวไกลว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เป็นการเอาองค์ประกอบ 2 ประการ คือระบอบประชาธิปไตย และสถาบันพระมหากษัตริย์มาดำรงอยู่คู่กัน กลายเป็นระบอบการเมืองที่โดยหลักการแล้วอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ขณะเดียวกันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ มีรูปแบบเป็นราชอาณาจักร โดยพระมหากษัตริย์ไม่ใช้อำนาจทางการเมืองการปกครองด้วยพระองค์เอง ดำรงความเป็นกลางทางการเมือง มีพระราชฐานะเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ผู้ใดจะละเมิดฟ้องร้องมิได้ การประสานสถาบันพระมหากษัตริย์กับระบอบประชาธิปไตยให้กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกัน โดยสามารถรักษาคุณค่าพื้นฐานของทั้งสององค์ประกอบอย่างสมดุล จึงเป็นโจทย์สำคัญของการธำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในแต่ละประเทศย่อมมีลักษณะไม่เหมือนกัน และไม่ได้มีลักษณะหยุดนิ่งตายตัว การจัดระเบียบสังคม การออกแบบสถาบันทางการเมือง ระบบกฎหมาย วัฒนธรรม คุณค่าพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของแต่ละประเทศย่อมเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามวิวัฒนาการของสังคม ความพยายามทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีลักษณะหยุดนิ่ง ตายตัว พัฒนาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ย่อมเป็นอันตรายต่อระบอบการปกครองของไทย เพราะจะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับสมดุลใหม่ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขทางสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เสียโอกาสที่จะรักษาสิ่งเก่าและเชื่อมประสานกับสิ่งใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตย กับสถาบันพระมหากษัตริย์แปลกแยกต่อกัน
การปกปักรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จึงไม่สามารถบรรลุได้ด้วยการใช้อำนาจกดปราบ ไม่ว่าจะด้วยกำลัง ในนามของกฎหมาย มีแต่ต้องสร้างสมดุลให้ได้สัดส่วน เหมาะสมกับยุคสมัย ระหว่างระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้ระบอบนี้มั่นคงยั่งยืน ด้วยความเชื่อมั่นศรัทธา และความยินยอมพร้อมใจของประชาชน
ทว่าหลายปีที่ผ่านมา การนำประเด็นเกี่ยวกับความจงรักภักดีมากล่าวหาโจมตีกันในทางการเมือง นำไปสนับสนุนหรือเกี่ยวพันกับการทำรัฐประหารทั้งโดยกำลังทหารและโดยกฎหมาย รวมถึงการแสดงความจงรักภักดีอย่างล้นเกินเพื่ออำพรางการแสวงหาประโยชน์ส่วนตนอย่างฉ้อฉลของคนบางกลุ่ม ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมืองตามยุคสมัยได้กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการเมืองและความรู้สึกนึกคิดแบบใหม่ที่สังคมไทยในอดีตอาจไม่คุ้นเคย
แต่แทนที่ผู้มีอำนาจจะตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีตและพยายามแสวงหากุศโลบายด้วยสติปัญญาเพื่อคลี่คลายแรงตึงเครียดในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของไทย และสร้างฉันทามติใหม่ที่สอดคล้องกับยุคสมัย กลับเลือกที่จะใช้อำนาจกดทับประชาชนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการบังคับใช้มาตรา 112 ในลักษณะเข้มงวดรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
สืบเนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าว สส.พรรคก้าวไกล จึงเล็งเห็นความจำเป็นที่จะเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขมาตรา 112 ด้วยเจตนาที่จะฟื้นฟูสายสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างสมดุลใหม่ที่ได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองพระเกียรติยศของประมุข กับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาดุลยภาพและความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย
“ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะดำรงอยู่อย่างมั่นคงได้ มิใช่ด้วยการบ่อนทำลายสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและหลักการคุณค่าพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย ในทางตรงกันข้าม การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จะต้องโอบรับความคิดเห็นที่ดำรงอยู่หลากหลายในสังคมอย่างมีภราดรภาพ มีการรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน อันเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และมีความอดทนอดกลั้นในการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย กระบวนการทางประชาธิปไตยแก้ปัญหาความแตกต่างขัดแย้งในสังคมอย่างมีวุฒิภาวะ ด้วยวิธีการเสริมสร้างประชาธิปไตยที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางภายใต้ร่มพระบารมี ที่มีองค์พระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนโดยไม่แบ่งแยก จะเป็นการธำรงไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ให้ยืนยงสถาพรสืบไปเยี่ยงนานาอารยะประเทศ และนี่คือเจตนาอันแท้จริงของพรรคก้าวไกล” พิธากล่าว
ย้อน 9 ข้อต่อสู้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ชัยธวัช แถลงข้อต่อสู้ทางกฎหมายทั้ง 9 ข้อของพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย
ข้อ 1 การพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเฉพาะเท่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การตีความเขตอำนาจต้องตีความอย่างเคร่งครัด ในกรณีใดที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ให้เป็นอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมไม่มีอำนาจรับไว้ในการพิจารณาวินิจฉัยได้
ข้อ 2 การยื่นคำร้องคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พรรคก้าวไกลยืนยันว่าการเสนอคดีของ กกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้สั่งยุบพรรคก้าวไกลตามมาตรา 96 วรรค 1 (1) และ (2) ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มิชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 3 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 ไม่มีผลผูกพันในการพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้ การเสนอคำร้องนี้ เป็นข้อหาที่แตกต่างจากข้อหาในคดีเดิมตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 แต่ กกต. กลับไม่แสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานใดๆ รวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้พรรคก้าวไกลได้รับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงโต้แย้งพยานหลักฐานในชั้นก่อนการเสนอคดีต่อศาล
ข้อ 4 นอกจากการเสนอนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้ว การกระทำอื่นๆ ตามคำร้อง มิได้เป็นการกระทำของพรรคก้าวไกล การกระทำใดจะเป็นการกระทำของพรรคการเมืองได้ จะต้องเป็นการกระทำโดยมติของคณะกรรมการบริหารพรรค หรือเป็นการกระทำที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าถือให้เป็นการกระทำของบุคคลใดบุคคลหนึ่งถือว่าเป็นการกระทำของพรรคด้วย
ข้อ 5 การกระทำตามที่ กกต. กล่าวหา มิได้เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งกรณีที่ สส.พรรคก้าวไกลเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 ไม่ได้เป็นการใช้กำลังบังคับ หรือการกระทำโดยใช้ความรุนแรง เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขสิ้นสุดลง ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นระบอบการปกครองอื่น แต่เป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติโดยชอบ ซึ่งต้องผ่านความเห็นชอบทั้งจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และยังต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งก่อนและหลังกฎหมายประกาศใช้
ข้อ 6 ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรยุบพรรคก้าวไกล แม้ในระบอบประชาธิปไตยของบางประเทศ การยุบพรรคการเมืองสามารถกระทำได้ แต่จำต้องเป็นไปเพื่อจุดมุ่งหมายในการพิทักษ์รักษาหลักการพื้นฐานและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยตามแนวคิดประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้ แต่การยุบพรรคการเมืองต้องพึงพิจารณาอย่างเคร่งครัด ระมัดระวัง และให้ได้สัดส่วนกับความรุนแรงของพฤติการณ์ ประกอบกับต้องเป็นมาตรการสุดท้ายเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนฉับพลัน เมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพในการยับยั้งผลของการกระทำที่มีความร้ายแรงได้อย่างทันท่วงที ภายใต้หลักความพอสมควรแก่เหตุแล้วเท่านั้น มิเช่นนั้นมาตรการการยุบพรรคการเมืองจะกลายเป็นเครื่องมือในการทำลายหลักการพื้นฐานและคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยเสียเอง
ข้อ 7 แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ไม่มีอำนาจกำหนดระยะเวลาการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 97 บัญญัติรับรองไว้ การจำกัดสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองจะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น และระยะเวลาในการจำกัดสิทธิก็จะต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติเช่นเดียวกัน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเองเคยมีคำวินิจฉัยที่ 15/2541 ยืนยันไว้ว่าองค์กรที่จะมีอำนาจจำกัดสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ได้ จะต้องเป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติโดยอาศัยวิธีการออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิเท่านั้น
ข้อ 8 การกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ต้องพอสมควรแก่เหตุ เมื่อพิจารณาจาก พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองเพราะเหตุอันเนื่องมาจากการล้มล้างการปกครองหรือกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง กฎหมายได้บัญญัติให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นเป็นเวลา 5 ปี ดังนั้น เมื่อกรณีตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 เป็นกรณีเดียวกัน การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก็สมควรจะกำหนดระยะเวลาในลักษณะเดียวกัน คือควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 5 ปี ไม่ใช่ 10 ปีตามที่ กกต. ร้องขอ
ข้อ 9 การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งต้องเพิกถอนเฉพาะของกรรมการบริหารพรรคที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ซึ่งในคดีนี้ หากพิจารณาข้อเท็จจริงก็จะพบว่าการกระทำของพรรคก้าวไกลที่ กกต. ยื่นคำร้อง เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คณะกรรมการบริหารพรรคชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ดำรงตำแหน่งอยู่เท่านั้น ดังนั้น หากศาลเห็นว่าพรรคก้าวไกลผิด เห็นว่ามีอำนาจยุบพรรค เห็นว่ามีอำนาจเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ก็ต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเฉพาะบุคคลผู้เป็นกรรมการบริหารพรรคในชุดที่ 1 และชุดที่ 2 ไม่ใช่รวมถึงกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีนี้
Cr. เฟซบุ๊ก ‘พรรคก้าวไกล – Move Forward Party’