วรภัทร คัดมาคุย: “สังคมจมปลัก”
หลายคนกังวลว่า อีกไม่นานประเทศไทยอาจจะกลายเป็น “ประเทศที่ล้มเหลว” (Failed State)
แต่ผมว่ายังอีกไกลครับ… เพราะประเทศที่ล้มเหลวต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง เช่น รัฐบาลควบคุมพื้นที่บางส่วนของประเทศไม่ได้ บริการพื้นฐานด้านสาธารณสุขและการศึกษา รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานมีน้อยมาก
มีสงครามกลางเมือง หรือมีการก่อการร้ายอย่างกว้างขวาง เงินเฟ้อสูงมาก การจ้างงานตกต่ำอย่างหนัก ต่างชาติไม่เข้าไปลงทุน สิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการเหลียวแล และ คอรัปชั่นกระจายอย่างกว้างขวาง
ผมว่าเรามีอยู่เรื่องเดียวที่ชัดเจน คือคอรัปชั่นที่กระจายอย่างกว้างขวาง ส่วนเรื่องอื่นๆ แม้เรามีอยู่บ้างแต่ยังไม่ถึงกับหนักหนานัก ผมจึงไม่กังวลว่า เราจะเป็นประเทศที่ล้มเหลว อย่าง ซูดาน เยเมน หรือไฮติ ฯลฯ
แต่ที่ผมกังวลคือ ผมคิดว่าเรากำลังเป็นประเทศที่ “สังคมจมปลัก” เสียมากกว่าครับ ขอเรียกเท่ ๆว่า “Stalemate Society” ก็แล้วกัน
ผมไม่ได้พูดว่าเราไม่พัฒนานะ อย่าเข้าใจผิด เพราะเราพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่เรา “ติดกับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap)มานาน แหวกออกไม่ได้สักที ก็เพราะเราเป็นสังคมแบบนี้แหละ
จมปลักตรงไหน และอย่างไร?
วิธีคิดของผมก็คือ เริ่มมองจากสังคมที่เล็กและจับต้องได้ก่อน แล้วจะค่อยๆ เห็นภาพใหญ่ โดยผมเริ่มจาก “สังคมตำรวจ” เพราะว่าอยู่ในกระแสข่าวมานาน และสรุปได้ว่าเรื่องราวของตำรวจ ที่คนไทยคิดว่าเป็นเช่นใดนั้น มันเป็นจริงอย่างนั้น….และจริงจนน่าตกใจ
เพราะ ดร.วิษณุ เครืองาม ได้แถลงผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ตำรวจขัดแย้งกันทุกระดับ ทั้งระดับสูง ระดับกลาง ระดับเล็ก บางอย่างขัดแย้งกันมา 10 ปีแล้ว บางอย่างเพิ่งเกิด….
อดีตนายตำรวจใหญ่หลายท่าน ก็ออกมาพูดว่า ในอาชีพตำรวจนั้น “ส่วนใหญ่” จะต้องมี “ตั๋ว” หรือ “ซื้อตำแหน่ง” หรือทั้งสองอย่าง และทำแบบนี้กันมานานแล้ว
พอได้ตำแหน่งมา ก็ต้องหาเงินกลับคืน วนเวียนอยู่อย่างนี้และนำไปสู่การคอรัปชั่นในรูปแบบต่างๆ จนขยายไปถึงการพนันออนไลน์ ซึ่งตรงนี้ก็อดีตนายตำรวจใหญ่หลายท่านอีกนั่นแหละ ที่ออกมาพูด…คุณเปิดฟัง เปิดดู ในยูทูปได้เลย
วัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ ถ้าไม่เรียกว่า “จมปลัก” แล้วจะเรียกว่าอะไรครับ และทำให้การทำงานของตำรวจ ได้รับผลกระทบไปทั่วทั้งองค์กร รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมก็ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่เริ่มต้นไปด้วย
พอมองไปที่สังคมย่อยอีกแห่งหนึ่งคือ “สังคมนักการเมือง” ก็คงต้องยอมรับว่ามีจำนวนมากที่ยัง “จมปลัก” อยู่กับการใช้เงินซื้อเสียงเข้าสู่อำนาจ แล้วก็หาเงินกลับคืน เพื่อเตรียมไว้ใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
เมื่อนักการเมือง ได้รับตำแหน่งและมีอิทธิพลเหนือข้าราชการ ก็เข้าไปแทรกแซงแต่งตั้งโยกย้าย โดยไม่ใช้ระบบคุณธรรม การจัดซื้อจัดจ้างในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจ มักจะกลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ และเป็นวงจรชั่วร้ายทำให้สังคมย่อยนั้นๆ จมปลัก และ แหวกออกมาไม่ได้เช่นกัน
เอกชนที่ขอใช้บริการภาครัฐ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย แม้ทำอย่างถูกต้องแต่หลายกรณีก็ต้องจ่ายค่าซื้อความสะดวก หรือค่าน้ำมันหล่อลื่น ไม่งั้นงานไม่เดิน และบางครั้งเลยกลายเป็นเปิดทาง ให้เอกชนบางรายทำไม่ถูกต้อง เพราะรู้ว่าสามารถจ่ายแล้วจบ สังคมก็เลยวนเวียนอยู่อย่างนี้
เมื่อ สังคมย่อยที่สำคัญ มีลักษณะเช่นนี้ “สังคมไทยโดยรวม” ที่โยงใยกันไปหมด จึงกลายเป็นสังคมที่จมปลัก ทำให้ประเทศเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ช้ามากๆ เพราะมีเพียงคนดีๆ ที่ยังมีอยู่ในสังคมย่อยต่างๆ เท่านั้น ที่ช่วยกันขับเคลื่อนด้วยความยากลำบาก
มันเป็นปัญหาที่ซับซ้อน และโยงใยกันไปหมด ฝังแน่นอยู่ในระบบสังคมมาเนิ่นนานจนยากที่จะแก้ไขให้สำเร็จแบบเฉียบพลัน
ยกเว้นต้องได้ผู้นำทางการเมืองที่เด็ดขาด ชัดเจน และไม่ไว้หน้าใคร ซึ่งตรงนี้ก็เหมือนฝันที่เป็นไปไม่ได้
เสียดายโอกาสเมื่อ 10 ปีก่อน ที่มาตรา 44 ไม่ได้ถูกนำมาใช้ในการ “เปลี่ยนโฉม” วินัย คุณค่า และวัฒนธรรมการทำงาน ของคนไทยทุกวิชาชีพ ให้หลุดออกมาจากอาการจมปลัก และทำงานกันอย่างเข้มข้น เอาจริงเอาจัง ซื่อสัตย์สุจริต
ทำให้เราพลาดโอกาสในการเปลี่ยนโฉมสังคมและเศรษฐกิจ ให้เห็นผลในเวลาเพียงสั้นๆ เหมือนที่ผู้นำบางประเทศเขาทำกันสำเร็จ
วันนี้สังคมเราที่ “จมปลักอย่างแน่นปึก” จึงหาทางออกแทบไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะเริ่มเจาะ เริ่มแกะ กันตรงไหน เพราะเลือกตั้งครั้งใดก็ได้นักการเมืองประเภทเดิมหลายคน วนเวียนกันมา นักการเมืองรุ่นใหม่ก็ยังไม่มีโอกาสแสดงฝีมือ และยังไม่รู้ว่าจะถูกวัฒนธรรมเก่าซึมซับไปด้วยหรือไม่
ประชาชนก็บ่น นักธุรกิจก็บ่น นักวิชาการก็บ่น คนดีๆ ในทุกวิชาชีพก็บ่น ใครๆ ก็บ่น แต่ผลคือเราไม่สามารถถีบตัวออกมาได้ คนไทยจึงไม่เห็นเดือนเห็นตะวันในระดับนานาชาติสักที วนเวียนไปมาอยู่กับวัฒนธรรมการทำงาน แบบนี้
เราทำได้แค่ทำใจและบอกตัวเองว่า ประเทศไทยยังมีคนดีและสิ่งดีงามอีกมากมาย แล้วก็ช่วยกันแก้ไขสิ่งผิดในสังคมย่อยของเราเอง ต่อไป
สุดท้าย…ลืมบอกไปครับว่าเครดิตเรทติ้งประเทศไทย วันนี้อยู่ที่ BBB+ และอยู่ที่เดิมมา 20 ปีแล้ว ในขณะที่ประเทศอื่น ซึ่งเคยทรุดหนักกว่าเราอย่างเกาหลี ที่เคยเหลือเพียง B+ ต่ำกว่าเราถึง 4 ขั้น เวลานี้เขาปรับขึ้นมาเป็น AA สูงกว่าเราถึง 5 ขั้นแล้ว….ในเวลาเท่าๆ กัน
เห็นไหมว่าสังคมที่จมปลัก ทำให้เราเป็นเช่นนี้
วรภัทร โตธนะเกษม
26 กรกฎาคม 2567
Cr. https://www.bangkokbiznews.com/blogs/news/news-update/1137394
ครับ ท่านรองเอกฯ
1. ขอสนับสนุนบทความ “สังคมจมปลัก” ที่ นายวรภัทร โตธนะเกษม เจ้าของบทความ ยกองค์กรตำรวจ เป็นตัวอย่าง
2. ในความเป็นจริง ทุกองค์กร ทุกระบบ ทุกหน่วยงาน ล้วนแล้วแต่ เป็น “สังคมจมปลัก” เฉกเช่นเดียวกับตำรวจ ในสัดส่วนเปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่างกันเลย
3. การคอร์รับชั่น การทุจริต ฉ้อราษฎร์ บังหลวง มีทุกที่ มีมากมายทุกองค์กร ทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น ทุกประเทศทั่วโลก และมีมานานแล้ว
ดังภาษาอังกฤษ ที่กล่าวไว้ ว่า
“Where there is power, greed and money…
There is corruption”
ที่ใดมีอำนาจ ความโลภ และเงิน…
ที่นั่น มีการคอร์รัปชัน
4. แก้ได้ครับ แก้ได้แน่นอน ค่อยๆ แก้ ค่อยๆ ใช้เวลา
ประเทศไทยเรามีองค์พระประมุขผู้นำของเราเป็นแบบอย่าง เป็นต้นแบบความพอเพียง หากเราคนไทยพร้อมเพรียงกันทั้งประเทศ เริ่มพร้อมๆ กันตั้งแต่ผู้นำ ผู้เฒ่า ผู้แก่ สร้างค่านิยมไม่คอร์รับชั้น สั่งสอนผู้ใต้บังคับบัญชา ญาติมิตร ลูกหลาน เรามีหลักคำสอนของศาสนาพุทธในจิตใจ
5. ประทศไทย ของเรา ไม่เป็น “สังคมจมปลัก” แน่นอน ครับ
ตำรวจไทย “ไม่มักมากในลาภผล”
<ปราบโกง>
ต้องดื่มน้ำ พระพิพัฒน์ สัตยา
ต้องสาบาน ว่าตายห่า และตายโหง
ต้องยึดทรัพย์ จับติดคุก ทุกการโกง
ต้องเปิดโปง ประจาน ทุกวันไป
ต้องยกย่อง คนทำดี มีศีลธรรม
ต้องเน้นย้ำ ใครทำดี ดีต้องได้
ต้องส่งเสริม คุณธรรม ประจำใจ
ต้องไม่ให้ คนไม่ดี มีที่ยืน
ทุกคน ทุกสังคม ทุกองค์กร ถ้าร่วมมือร่วมใจกันทำดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คนโกง คนชั่ว จะลดลงไป คนจะมีกำลังใจทำความดี
ประเทศชาตินี้<ไม่ใช่ชาติหน้า>จะไม่มีทางจมปลัก
<ฉันรักเธอประเทศไทย>
พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท