งานฌาปนกิจศพ พ.ต.อ.(พิเศษ) บรรดล ตัณฑไพบูลย์ ณ วัดตรีทศเทพ
พลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นประธานฌาปนกิจศพ พ.ต.อ.(พิเศษ) บรรดล ตัณฑไพบูลย์ ณ วัดตรีทศเทพ วันพฤหัสที่ 18 กรกฎาคม เวลา 15.00 น.
พ.ต.อ.(พิเศษ) บรรดล ตัณฑไพบูลย์ มือปราบตี๋ใหญ่ ถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็งปอด สิริอายุ 76 ปี โดยบรรยากาศในพิธีเต็มไปด้วยความโศกเศร้า ในพิธีฌาปนกิจมีแขกเข้าร่วมพิธี อาทิ พลตำรวจโท เรวัช กลิ่นเกษร อดีตผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด, พล.ต.อ.เสรีพิสุทธิ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์, พล.ตท.กรีรินทร์ อินทร์แก้ว อัยการ ปริญญา จั่นสัญจัย และสื่อมวลชน หลายแขนง ฯลฯ เข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
ประมวลภาพงานฌาปนกิจ
ประวัติ “พ.ต.อ.บรรดล ตัณฑไพบูลย์”
พ.ต.อ.(พิเศษ) บรรดล ตัณฑไพบูลย์ ถือเป็นนักสืบพันธุ์แท้ที่ทำงานมาตลอดชีวิตราชการ จับปืนเสี่ยงตายไล่เด็ดหัวโจรผู้ร้ายมานับไม่ถ้วน แต่ไม่วายโดนมรสุมผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้ง “ดองเค็ม” ก้าวไปไม่ถึงดวงดาวต้องเกษียณอายุราชการแค่ตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี
พ.ต.อ.(พิเศษ) บรรดล เกิดจังหวัดลำปาง ไปโตที่เชียงใหม่ เรียนหนังสือโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ก่อนเข้ามาสมัครเป็นตำรวจสังกัดกองสืบสวนภูธรภาค 1 ยุค พล.ต.ท.จำรัส มังคลารัตน์ คุมหน่วยตำรวจภูธรทั่วประเทศ เพราะชอบชีวิตโลดโผนผจญภัยมาตั้งแต่เด็ก
พ.ต.อ.(พิเศษ) บรรดล บอกว่า มีความรู้สึกลึก ๆ ว่าอาชีพตำรวจตรงกับนิสัยเขา ที่ไม่ค่อยกลัวคน ไม่ชอบให้ใครมารังแก ตั้งแต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ยิ่งโจรผู้ร้าย คำว่ากลัวโจรไม่อยู่ในหัว เจ้าพ่อ เจ้าแม่ ผู้มีอิทธิพลทั้งหลาย เขาไม่กลัว
สมัยเป็นตำรวจหนุ่มพยายามเรียนรู้สะสมประสบการณ์งานสืบสวนจากรุ่นพี่ไว้มากมาย กระทั่งไปเข้าตา พ.ต.ต.ศิริ ทองมี สารวัตรกองสืบสวนภูธรภาค 1 แนะนำให้ไปร่วมวางแผนจับ นายกรประเสริฐ ช่างเขียน หัวหน้าโจรชื่อดังฉายา “ตี่ใหญ่” ที่สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านมาหลายท้องที่ ต้องการให้เขาปลอมตัวเข้าไปอยู่ในรังโจร พ.ต.ต.ศิริ ให้เหตุผลว่า “อั๊วต้องการให้ลื้อไปสืบสวนคดีนี้ ต้องการได้รับข้อมูลจากลื้อโดยตรง ไม่ใช่จากสาย” พ.ต.อ.(พิเศษ) บรรดล จำคำพูดวันนั้นไม่ลืม
พ.ต.อ.(พิเศษ) บรรดล ยอมรับว่า ไม่รู้จักตี๋ใหญ่ รู้แค่คนดำเนินสะดวกเหมารถบัสมาร้องทุกข์ พล.ต.ท.จรัส เพ็ญเจริญ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 บอกโจรผู้ร้ายเต็มเมืองไปหมดแล้ว ขอให้ส่งกำลังตำรวจไปปราบด้วย คลองดำเนินสะดวก ดำเนินไม่สะดวกแล้ว
“สารวัตรศิริถามย้ำว่า เอามั้ยบรรดล มันเสี่ยงนะมึง ผมกลับไปคิดอยู่ 1 คืน เอาแฟ้มขอมูลของแก๊งตี๋ใหญ่มานอนอ่าน รุ่งขึ้นตัดสินใจตอบตกลงทันที เข้าไปสืบสวนหาเบาะแสนานกว่า 5 เดือน กินนอนอยู่กับสาย ขาดออกจากงานในหน้าที่เลย ลงประจำวันไว้ มี พล.ต.ต.เริงณรงค์ ทวีโภค รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 บอกด้วยว่า ถ้าบรรดลเป็นอะไรตายไปให้ถือว่าตายในขณะปฏิบัติหน้าที่”
การสืบสวนหาข่าวความเคลื่อนไหวของตี๋ใหญ่กับลูกสมุนผ่านไปด้วยดี นายตำรวจหนุ่มชั้นประทวนสามารถเจาะข้อมูลส่งข่าวไปยังสารวัตรศิริ และทีมงานวางแผนจับกุมลูกน้องของ “ตี๋ใหญ่” ได้หลายคน ทำให้มันเริ่มระแวงว่าต้องมีใครสักคนในกลุ่มทำตัวเป็น “หนอนบ่อนไส้” หลังจากลูกน้องคนสนิทของมันถูกตำรวจสืบสวนเหนือบุกล้อมจับถึงแหล่งกบดานก่อนวิสามัญฆาตกรรมวันเดียว 4 ศพในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต และพญาไท
ถัดจากวันนั้น หมู่บรรดลโดนคำสั่งให้ถอนตัวออกมาเพื่อไม่ให้เสี่ยงอันตราย แต่ยังคงทำงานสืบสวนไล่ล่า “ตี๋ใหญ่” กับสารวัตรศิริ และทีมของสืบสวนเหนือที่มี พ.ต.อ.เจริญ โชติดำรงค์ เป็นผู้กำกับ รวมถึง พ.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์
“ตี๋ใหญ่” ยังสามารถแหกวงล้อมยิงตำรวจสายตรวจ 191 เสียชีวิตเมื่อปี 2522 ในท้องที่เมืองนนทบุรี
ปีต่อมา เข้าอบรมนายตำรวจลงทำงานเป็นรองสารวัตรสืบสวนโรงพักห้วยขวางตามคำชวนของ พ.ต.ท.สมเกียรติ พ่วงทรัพย์ ที่ย้ายเป็นรองผู้กำกับการนครบาล 3 คุมพื้นที่รับผิดชอบอยู่ ทั้งที่ตอนแรกเตรียมย้ายไปทำงานร่วมกับ พ.ต.อ.ถวิล เปล่งพานิช พ่อของนก-ฉัตรชัย เปล่งพานิช พระเอกหนุ่มคนดังที่เมืองเพชรบุรี เนื่องจากเห็นโจรผู้ร้ายเต็มไปหมด แต่ พ.ต.อ.ถวิล กลับมาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตก่อน
จากนั้นไม่นาน “ตี๋ใหญ่” ถูกจับตายเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2524 ปิดบัญชีโจรชื่อก้องได้สำเร็จ
นายตำรวจหนุ่มเมืองลำปางเวลานั้นมีความใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจสืบสวนเหนือมาก ตั้งเป้าไว้กับตัวเองว่า ชาตินี้ทั้งชาติต้องเป็นตำรวจสืบสวนเหนือให้ได้
แล้วฝันของเขาก็กลายเป็นจริง เมื่อ พ.ต.อ.เจริญ โชติดำรงค์ ดึงเขาไปเป็นรองสารวัตรกองสืบสวนเหนือ ใช้ชีวิตนักสืบอยู่ที่นั่นนาน 6 ปี ได้รับโล่เกียรติยศสืบสวนดีเด่นครั้งแรกในชีวิตจาก พล.ต.ท.มนัส ครุฑไชยยันต์ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แต่ก็เกือบสังเวยชีพมา 1 ครั้ง หลังไปล้อมจับมือปืนรับจ้างกับ พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ที่เวลานั้นเป็นสารวัตรสืบสวนเหนือ
ปรากฏว่า ถูกคนร้ายยิงเข้าไหล่กระสุนเฉี่ยวไขสันหลังไปนิดเดียว หวิดพิการไปตลอดชีวิต ขณะที่ สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง เพื่อนคู่หูถูกยิงเข้าหน้าท้องแตกบาดเจ็บสาหัส มีลูกน้องชั้นประทวนตาย 1 คน ส่วนคนร้ายถูกยิงตายด้วย
พอ “สมเกียรติ พ่วงทรัพย์” ย้ายไปขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธร 7 จังหวัดลำปาง เลยดึงเขาไปเป็นมือทำงานนั่งตำแหน่งสารวัตรสืบสวนเมืองเชียงใหม่กลับถิ่นเกิด เป็นจังหวะที่ สมพงษ์ คงเพชรศักดิ์ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งสารวัตรใหญ่เมืองเชียงใหม่ก่อตั้งหน่วยสืบสวน “เหยี่ยวดำ” ขึ้นมาจึงตั้งให้เขาเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ กลายเป็นที่มาของฉายา “มือปราบเหยี่ยวดำ” ติดตัวเขาถึงปัจจุบันนี้
“ผมเป็นหัวหน้าชุด ลุยไล่ล่าโจรผู้ร้ายทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแก๊งซามูไรที่ออกอาละวาดสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน ถือดาบเป็นอาวุธ ไล่ฟันคนอย่างบ้าคลั่ง หรือคดีอาชญากรรมอื่นๆ แรงมา ผมก็แรงไป ทุ่มเททำงานให้แก่บ้านเกิดเมืองนอนที่เชียงใหม่ ก่อนถูกคำสั่งย้ายเป็นสารวัตรปราบปรามเมืองอุทัยธานี เพราะไปจับบ่อนหัวคะแนนนักการเมือง ท่ามกลางเสียงคัดค้านของชาวบ้าน สื่อมวลชน และนักการเมืองท้องถิ่นในเชียงใหม่ เขารู้ว่าผมเป็นคนทำงาน ตอนนั้นก็อยากใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ไม่ได้อยากไปไหน เหมือนบ้านเกิด อยากอยู่จนเกษียณอายุราชการยิ่งดี มีความสุข แต่ทนแรงเสียดทานไม่ไหว”
วันที่จะเดินทาง พ.ต.อ.(พิเศษ) บรรดล ไปอำลาหน่วยเหยี่ยวดำ ประกาศต่อหน้าหน่วย
“กูยังเป็นตำรวจอีก 20 ปี สักวันหนึ่งกูจะกลับมา แต่เชื่อมั้ยว่า กาลเวลาผ่านไป ผมไม่เคยได้กลับไปเลย ทั้งภาค 5 หรือ ภาค 3 ในสมัยอดีต ทั้งที่อยากให้ไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด กลับต้องมาระเหเร่ร่อนไปที่อื่นจากอุทัยธานีย้ายเข้ากรุงเทพฯ เป็นสารวัตรสืบสวนโรงพักดุสิต ช่วงพฤษภาทมิฬก็ไม่ได้ทำงานสืบสวน ต้องเฝ้าม็อบ จนท่านวรรณรัตน์ คชรักษ์ เป็นผู้การธนเลยเอาผมไปเป็นสารวัตรแผนก 2 กองสืบสวนธนบุรี สร้างผลงานจับมือปืน แก๊งลักทรัพย์ คดีดังสำคัญมากมาย”
ต่อมา พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เวลานั้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ดึงเขาไปเป็นรองผู้กำกับสืบสวนภูธรภาค 2 ช่วยปราบปรามผู้มีอิทธิพลของเจ้าพ่อภาคตะวันออก และยังจับกุมพระเถระผู้ใหญ่ทรงอิทธิพลของเมืองชลบุรีตามหมายจับโรงพักชนะสงครามจนเป็นที่ฮือฮามาแล้ว
มือปราบเหยี่ยวดำย้ายกลับเข้ากรุงอีกครั้ง เมื่อ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจัดกระบวนทัพนักสืบใหม่ให้เขาไปเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนนครบาลธนบุรี ปราบโจรทุกรูปแบบตามสไตล์ กระทั่ง พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ไปขึ้นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ชื่อของบรรดล ลูกน้องเก่าไปโผล่เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช
“พื้นที่ของคนปักษ์ใต้ ผมไม่เคยอยู่มาก่อน ผมเป็นคนภาคเหนือ ท่านก็บอกว่า เมืองนี้โจรเยอะ อั๊วจะเอาลื้อไปปราบ ผมดีใจมาก ดีใจ เพราะเป็นตำรวจที่ไต่เต้าจากชั้นประทวน ชีวิตมาด้วยลำแข้งของตัวเอง ทั้งตระกูลผมไม่มีใครเป็นตำรวจ อายุตอนนั้นแค่ 49 ปี หนทางน่าจะถึงนายพล”
ทำงานจนได้รับเลือกเป็นข้าราชการตำรวจดีเด่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นคนภาคเหนือไปทำงานปกครองตำรวจที่เป็นคนภาคใต้ 200 คน ฟังพูดก็ยังไม่รู้เรื่องเลย คดีอุกฉกรรจ์ของทุ่งสงสมัยนั้นติด 1 ใน 3 ของประเทศ ไปจับกุมคดีค้างเก่าทำสถิติอันดับ 1 ของประเทศ
อยู่ได้ปีเศษ ท่านวรรณรัตน์ โยกกลับมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ตัดสินใจย้ายกลับนครบาลมาเป็นผู้กำกับโรงพักหลักสอง ข้ามไปเป็น ผู้กำกับการสืบสวนนครบาล 9 นาน 3 ปีจับกุมยาบ้าอันดับ 1 ของนครบาล ได้รับโล่เป็นผู้กำกับการที่มีผลงานปราบปรามดีเด่น ด้วยผลงานจับกุมยาบ้า 2,555,000 เม็ด จับยาบ้าพร้อมเงินสินบนวิ่งเต้นอีก 8 ล้านบาท เป็นข้าราชการตำรวจดีเด่นของกองบัญชาการตำรวจนครบาล
รับโล่ประกาศเกียรติคุณจากผู้ใต้บังคับบัญชากล่าวยกย่องเป็นผู้นำหน่วยดีเด่นเป็นเกียรติประวัติชีวิต
ปี 2545 นำกำลังไปจับคนร้ายฆ่าพลเมืองดีช่วยผู้เสียหายกระฉากกระเป๋าท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางบอนในวันที่ 13 ตุลาคม ที่ตรงกับวันตำรวจพอดี สื่อมวลชนโจมตีอย่างหนัก ตามล่าอยู่นาน 10 คืน 11 วันลากคอคนร้ายมาได้จากจังหวัดนครศรีธรรมราช เหนื่อยสายใจแทบขาดกว่าจะจับกุมได้ ระหว่างนำตัวคนร้ายเข้ากรุงเทพฯ
คิดย้อนอดีตคำพูด พล.ต.ท.ณรงค์ เหรียญทอง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในวันอำลาอายุราชการประโยคหนึ่งว่า “อาชีพของเรา การจับกุมคนร้ายได้ จิตใจเราก็เป็นสุข”
“ผมประทับใจในคำพูดของท่าน มันไพเราะเพราะพริ้งมาก ทำให้ผมคิดว่า ผมทำงานในหน้าที่ความเป็นตำรวจของผมได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว โลกนี้มันสดใสเหลือเกิน มีความสุขที่สุด พลอยคิดเลยเถิดไปถึงเรื่องอื่นอีกว่า เราเป็นผู้กำกับมากี่ปีแล้ว นับเวลาดู 5 ปี ต้องได้ขึ้นเป็น รองผู้การ เพราะมีผลงานมากมายในนครบาล แค่คดียาบ้า ไม่มีใครจับได้มากมายขนาดนั้น เป็นข้าราชการตำรวจดีเด่นอีก คนอื่นเขาเป็น 3 ปี ขึ้นรองผู้การกันเป็นแถว ไม่เห็นมีผลงานอะไรเลย ผมอยากเป็นรองผู้การ ก่อนเกษียณ ผมก็ฝันอยากเป็นนายพล ปีสุดท้ายก็ยังดี เพราะผมทุ่มเททำงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาทั้งชีวิต หวังในทางที่ถูกที่ควร” นายตำรวจมือปราบระบายความรู้สึก
ผ่านไปไม่ถึงเดือน มีคำสั่งย้าย พ.ต.อ.(พิเศษ) บรรดล ไปเป็นผู้กำกับการอำนวยการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 9 ทำเอาแทบช็อก ชีวิตที่เป็นตำรวจมา 40 ปี ไม่เคยเสียใจช็อกกับความรู้สึกอย่างนี้มาก่อน เพราะไม่เคยมีความรู้อำนวยการ ไม่มีความรู้เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง มือจับปืนไล่ล่าคนร้ายมาทั้งชีวิต แต่เอาไปเป็นผู้กำกับการอำนวยการ
“ที่เจ็บปวดมากที่สุด ลูกน้องมาบอกว่า พวกพ่อค้าขายยาเสพติดในพื้นที่ไชโยกันหมด ย้ายมือปราบเข้ากรุไปแล้ว เสือกจับเก่งดีนัก ผมเคยคิดฟ้องศาลปกครอง เคยปรึกษากับเพื่อน มันบอกว่า ฟ้องไม่ได้ เนื่องจากผู้บังคับบัญชาชั่ว ๆ ที่ย้ายผมตอนนั้นต้องไปแถลงว่า ผมเป็นคนดี ซื่อสัตย์สุจริต ต้องให้ไปคุมงบประมาณแผ่นดินเป็นร้อยล้าน หาคนยากเหลือเกิน ต้องบรรดลคนเดียว”
เหตุผลเพราะถูกกล่าวหาเป็นมือหาข่าวให้พรรคประชาธิปัตย์ เอาข้อมูลลับไปให้ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เพื่อโจมตีรัฐบาลในสภา ตอนนั้นเคยคิดเอาโล่เกียรติยศ ใบประกาศเกียรติคุณจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติคืนให้หมด แม้กระทั่งคดี “ตี๋ใหญ่” แต่ได้รับการร้องขอจากภรรยา เพราะรู้ว่ารักในอาชีพตำรวจมาก
“ลูกชายเรียนนิติศาสตรบัณฑิตจบเกียรตินิยมธรรมศาสตร์ก็บอกว่า พ่ออย่าลาออกเลย ถึงอย่างไร พ่อก็เป็นพ่อของผม มันเป็นกำลังใจจากครอบครัว ยอมรับว่าเครียดมากเอาผมไปอยู่อำนวยการ 2 ปี ประชาชนและสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้อะไรแม้แต่นิดเดียว แล้วยังมาตามเช็ดผมอีก ย้ายไปเป็นผู้กำกับโรงพักสุวินทวงศ์ รอยต่อกรุงเทพฯ กับฉะเชิงเทรา”
รัฐบาลประกาศสงครามยาเสพติดรอบที่ 2 ไม่มีใครทำวิสามัญฯ คนร้ายคดีจำหน่ายยาเสพติด แต่เขาทำ พ่อค้ายาบ้ารายนี้ติดคุกแล้วติดคุกอีก ไม่เลิก ไม่หลาบไม่จำ เมื่อล่อซื้อก็เกิดการต่อสู้ หลังเกิดเหตุ มีนายตำรวจท่านหนึ่งระดับผู้บริหารของนครบาล นายตำรวจท่านนี้ด่ามากมายในที่ประชุมสมัยเขาเป็นผู้กำกับการอำนวยการว่า ไอ้บรรดล ไม่ทำงาน
“ท่านโทรมาหาผมในที่เกิดเหตุ ผมเลยถือโอกาสว่า ท่านครับ ผมทราบว่าท่านด่าผมมากในที่ประชุมว่าผมไม่ทำงาน คำก็ไม่ทำงาน สองคำก็ไม่ทำงาน ผมทำงานให้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาทั้งชีวิต แม้กระทั่งชีวิตของผมก็ไปเสี่ยงตายมาไม่รู้กี่ครั้ง แล้วท่านบอกผมไม่ทำงานได้อย่างไร ท่านต้องไปด่าไอ้คนที่มันแกล้งผม ไม่ใช่มาด่าผม นี่ไง งานของผม มาดูซิ นี่งานของตำรวจ มาดู ผมพูดเลย ไม่ใช่งานอำนวยการ นี่งานตำรวจแท้ ๆ”
สร้างผลงานให้โรงพักสุวินทวงศ์ไม่นาน ย้ายไปกลับทำงานสืบสวนอีกครั้งที่ศูนย์สืบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ก่อนตัดสินใจแสดงความจำนงขอย้ายไปสระบุรี เพราะไปซื้อที่ทำไร่อยู่ละแวกนั้น หวังจะไปใช้ชีวิตบั้นปลายก่อนเกษียณ แต่ยังยินดีสมัครใจไปทำงานที่ที่มีโจรผู้ร้ายชุกชุม หรือคดียิงสารวัตรปราบปรามอำเภออุทัย พระนครศรีอยุธยา เสียชีวิตในเครื่องแบบ ปรากฏว่าพอคำสั่งออกมาย้ายเขาไปเป็นผู้กำกับโรงพักหนองโดน สระบุรี พื้นที่เล็กที่สุดในชีวิตที่รับราชการมา
ไม่วายถูกลองของ เมื่อไปอยู่แค่ 6 วัน มีแทงกันตายในตลาด ใช้เวลา 2 เดือนเศษรวบรวมพยานหลักฐานตามจับคนร้ายได้ที่อำเภอศรีราชา ชลบุรี มีคดีงัดแงะเข้าไปในร้านขายโทรศัพท์มือถือก็ตามไปจับได้ถึงจังหวัดระนอง อีกคดีปล้นบ้านนายกเทศมนตรีอำเภอหนองโดน คนร้ายยิงพนักงานเทศบาลเข้ากลางอกเจ็บสาหัสกวาดทรัพย์สินเป็นล้านบาท เไปตามจับได้หมด 5 คนในเวลาเพียง 7 วัน
ปีสุดท้าย แต่งตั้งเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี เกิดการโจรกรรมรถยนต์ถี่ยิบในเมืองสระบุรี หนองแค พระพุทธบาท แก่งคอย ต้องไปวางแผนแกะรอยก่อนจับตายคนร้ายแก๊งขโมยรถ 2 ศพกลางเมืองสระบุรีหยุดสถิติรถหายได้ชะงักงัน
เจ้าตัวบอกว่า มีแรงบันดาลใจอยู่อย่างที่ทำให้เกลียดพวกขโมยรถมาก หลังจากไปนั่งฟังพนักงานสอบสวนสอบผู้เสียหายถูกโจรกรรมรถยนต์เป็นสามีภรรยา
“ทั้งคู่ปรับทุกข์กันว่า พ่อ แล้วทีนี่เราจะเอารถที่ไหนส่งลูกไปโรงเรียน ผมฟังแล้วสะท้อนใจ อายตัวเองมาก เป็นตำรวจแล้วช่วยเหลือประชาชนไม่ได้ จำคำพูดเขามาถึงทุกวันนี้ ผมเป็นตำรวจที่แคร์กับความรู้สึกประชาชน อายมากคำพูดแบบนี้ ตำรวจทำอะไรกันอยู่”
ฝากแง่คิดถึงสายเลือดนักสืบรุ่นใหม่ด้วยว่า สื่อมวลชน โจมตีการทำงานของเรามากว่า นักสืบจะสูญพันธุ์แล้ว “ผมกล้าพูดอย่างไม่อาย ไม่กระดากปาก ผมนักสืบของแท้ ของแท้ ๆ เลือดทุกหยดผมเป็นตำรวจนักสืบ ทุกวันนี้น้องทุกคนไม่ทำงานเหมือนสมัยพวกผมทำงานเป็นนักสืบเด็ก ๆ เลย ไม่ค่อยมีสาย ไม่ใช้สายข่าว แต่หาข่าวจากคอมพิวเวอร์หมดแล้ว สมัยก่อนอยู่สืบเหนือ ตำรวจนักสืบจะรู้ล่วงหน้านะว่าจะมีการปล้นแบงก์ ปล้นร้านทอง เดี๋ยวนี้เกิดก่อนแล้วค่อยมาตามจับ ไม่ค่อยสมบุกสมบันกัน เจ้าสำอางสำรวยกันเหลือเกิน”
การจากไปของตำนานนักสืบ “มือปราบเหยี่ยวดำ” พ.ต.อ.(พิเศษ) บรรดล ตัณฑไพบูลย์ อีกคนถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่
Cr. ข้อมูลประวัติ พ.ต.อ.(พิเศษ) บรรดล ตัณฑทไพบูลย์ จากนิตยสาร COP’S