สืบ ป.ป.ช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวบอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ ทำเอกสารจัดซื้อจัดจ้างเท็จ ทุจริตเบียดบังเงินหลวง เสียหายกว่า 17 ล้านบาท
วันที่ 10 กรกฎาคม 2567 ภายใต้การอำนวยการของนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 4 ได้มอบหมายให้งานสืบสวนคดีทุจริตภาค 4 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ทำการจับกุมนายโยธิน บุญแก้ว บุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดบึงกาฬ ที่ 22/2565 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 หมายจับอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 4 ที่ จ.27/2566 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 หมายจับศาลจังหวัดบึงกาฬ ที่ 170/2566 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ซึ่งสามารถดำเนินการจับกุมตัวได้ในพื้นที่ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร โดยมีพฤติการณ์การกระทำความผิด ดังนี้
1. หมายจับศาลจังหวัดบึงกาฬ ที่ 22/2565 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 โดยเมื่อระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2556 ต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม 2557 นายโยธิน บุญแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง ได้สั่งการให้แบ่งการจัดซื้อจัดจ้างขององค์การบริหารส่วนตำบลนาแสงออกเป็นรายโครงการ เพื่อให้มีงบประมาณแต่ละโครงการไม่เกินจำนวนหนึ่งแสนบาท เป็นการทำให้วงเงินต่ำกว่าที่กำหนด ซึ่งทำให้ นายโยธิน บุญแก้ว ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง เป็นผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคา ซึ่งหากรวมการดำเนินงานจะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีสอบราคา ซึ่งจะทำให้มีผู้เสนอราคาแข่งขันกันมากราย การกระทำดังกล่าวของนายโยธิน บุญแก้ว จึงเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างโดยจงใจไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 16 วรรคสอง ประกอบกับพฤติการณ์ที่นายโยธิน บุญแก้ว ไม่ได้แต่งตั้งผู้ควบคุมงานก่อสร้างในโครงการที่เป็นการจัดจ้างก่อสร้าง ทำให้ไม่มีการตรวจสอบและควบคุมงานก่อสร้างของผู้รับจ้าง ตามข้อ 30 แห่งระเบียบฯ ดังกล่าวอันเป็นการกระทำใด ๆ โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรมเพื่อเอื้ออำนวยแก่ผู้ทำการเสนอราคารายใดให้เป็นผู้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ทำให้ราชการเสียหายเป็นเงินจำนวน 199,000 บาท และพฤติการณ์ที่นายโยธิน บุญแก้ว ได้อนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์สวนสาธารณะในพื้นที่ตำบลนาแสง โดยนายโยธิน บุญแก้ว เป็นผู้ติดต่อนำชื่อและเอกสารของเอกชนให้เข้ามาเป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง ซึ่งคณะกรรมการตรวจการจ้างและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ได้ดำเนินการตรวจการจ้างและตรวจรับพัสดุไว้ถูกต้องครบถ้วน ตามบันทึกตกลงการจ้างและตามใบสั่งซื้อไว้แล้ว และนายโยธิน บุญแก้ว ได้อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินให้เอกชน ทั้งที่ความจริง เอกชนดังกล่าวไม่ได้เป็นผู้รับจ้างและผู้ขายให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง ที่แท้จริง และไม่ได้เป็นผู้รับเงินตามโครงการ รวมเป็นเงินจำนวน 296,000 บาท แต่นายโยธิน บุญแก้ว เป็นผู้รับเงินตามโครงการทั้งหมด เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ
2.หมายจับอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 4 ที่ จ.27/2566 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2565
เมื่อระหว่างวันที่ 7 เมษายน 2557 ถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2560 นายโยธิน บุญแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง ได้อนุมัติให้นำเงินที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรเงินอุดหนุนเป็นค่าอาหารกลางวัน อาหารเสริม (นม) และค่าจัดการเรียนการสอน เมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป ที่ต้องใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ตามข้อ 36 วรรคสอง แห่งระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2541 แต่นายโยธิน บุญแก้วไม่อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารเสริม (นม) และค่าจัดการเรียนการสอน ที่ได้รับโอนจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้กับโรงเรียนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตามที่ได้รับการจัดสรร เป็นเงินที่ยังเบิกจ่ายไม่ครบถ้วนจำนวนทั้งสิ้น 3,094,977.14 บาท แต่นายโยธิน บุญแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง นายขันชัย ธานีวรรณ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง และนายอำนาจ ประการะโต ผู้อำนวยการกองคลัง กลับร่วมกันนำเงินงบประมาณดังกล่าวไปใช้เพื่อการอย่างอื่น โดยปรากฏว่านายโยธิน บุญแก้ว ได้อนุมัติให้ดำเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ประปา วัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่าง วัสดุสำนักงาน วัสดุอุปกรณ์การดับเพลิง วัสดุคอมพิวเตอร์ และวัสดุในการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมทรัพย์สิน จำนวน 29 ฎีกา เป็นเงินทั้งสิ้น 4,062,088.76 บาท ซึ่งฎีกาดังกล่าวไม่ได้เป็นฎีกาที่กองช่าง องค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง เป็นผู้เสนอขออนุมัติให้องค์การบริหารส่วนตำบลนาแสงจัดซื้อให้ และกองช่างก็ไม่เคยได้รับมอบวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ตามที่สั่งซื้อไว้แม้แต่ครั้งเดียว ประกอบกับผู้รับจ้างตามสัญญา ไม่ได้ประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์ที่จดทะเบียน ซึ่งในปีงบประมาณ 2558 และปีงบประมาณ 2559 ก็ไม่เคยเป็นผู้ขายวัสดุอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง และไม่เคยส่งมอบสินค้าให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสงแต่อย่างใด จึงเป็นการจัดทำฎีกาเพื่อเบิกจ่ายเงินอันเป็นเท็จ
ดังนั้นการกระทำดังกล่าว จึงแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่นายโยธิน บุญแก้ว จะปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และการที่นำเงิน ไปใช้เพื่อการอย่างอื่นโดยมิชอบนั้น แสดงให้เห็นเจตนาทุจริตเงินจำนวนดังกล่าว พฤติการณ์และการกระทำของนายโยธิน บุญแก้ว จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2541 ข้อ 33 และข้อ 36 วรรคสอง และมีเจตนาในการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และมาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง หรือของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย เป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหายเป็นเงิน 3,094,977.14 บาท และเสียหายต่อระบบราชการอย่างร้ายแรง
3. หมายจับศาลจังหวัดบึงกาฬ ที่ 170/2566 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2566
นายโยธิน บุญแก้ว เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง ได้อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินงบประมาณค่าวัสดุสูงกว่าที่ได้ประมาณการไว้ โดยเป็นการโอนงบประมาณจากแผนงานเคหะและชุมชน สวนสาธารณะ แผนงานอุตสาหกรรมและการโยธา งบลงทุนค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เพื่อนำมาดำเนินการจัดซื้อวัสดุและบริการแทน จึงทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง ไม่ได้ดำเนินงานโครงการตามข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 และ พ.ศ. 2559 รวม 24 โครงการ ซึ่งจากการตรวจสอบฎีกาเบิกเงินรายจ่ายที่เป็นการจัดซื้อวัสดุ และค่าบำรุงรักษาซ่อมแซมทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง ได้แก่ การจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่าง วัสดุอุปกรณ์ประปา วัสดุสำนักงาน วัสดุคอมพิวเตอร์ ค่าบำรุงรักษาซ่อมแซมทรัพย์สิน และฎีกาอื่น ๆ รวม 82 ฎีกา ปรากฏว่า นายโยธิน บุญแก้ว ได้อนุมัติให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และอนุมัติให้เบิกจ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยนายโยธิน บุญแก้ว มีพฤติการณ์ในการกระทำความผิด โดยการอนุมัติให้มีการจัดซื้อหรือจ้าง โดยไม่มีการส่งมอบวัสดุหรือบริการให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง รวม 65 ฎีกา และมีการจ่ายเงินเป็นค่าดำเนินการแก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างในอัตราร้อยละ 7 – 10 ของค่าวัสดุหรือค่าจ้างในแต่ละครั้ง และมีพฤติการณ์อนุมัติให้มีการจัดซื้อวัสดุโดยได้มีการส่งมอบวัสดุ แต่ผู้ขายไม่ได้เป็นคู่สัญญากับองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสงที่แท้จริง ซึ่งผู้ขายหรือผู้รับจ้างราย เมื่อมีการเบิกจ่ายเงินค่าวัสดุหรือค่าจ้างแล้ว นางพรพิมล จิตเจริญ เจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ ได้นำบัตรกดเงินสด(ATM) ของเอกชนที่มีชื่อเป็นผู้รับจ้างหรือผู้ขาย ไปทำการกดเงินสดแล้วมอบเงินค่าวัสดุหรือค่าจ้างทั้งหมดให้กับนายโยธิน บุญแก้ว และนายอำนาจ ประการะโต ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนางพรพิมล จิตเจริญ ซึ่งการอนุมัติเบิกจ่ายเงินของนายโยธิน บุญแก้ว ในฐานะนายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง ทั้ง 65 ฎีกาดังกล่าว ทำให้องค์การบริหารส่วนตำบลนาแสง ได้รับความเสียหายเป็นเงิน จำนวน 9,421,000 บาท ซึ่งการจัดซื้อทั้ง 65 ฎีกา เป็นการจัดซื้อที่จัดทำเอกสารขึ้นมาเป็นเท็จ โดยที่ความจริงไม่มีวัสดุหรือการจ้างจริง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการจัดซื้อขึ้นมาโดยทุจริต เจตนาเบียดบังเงินจากทางราชการเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหายเป็นความผิดอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนเอง หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามมาตรา 147 และมาตรา 157 ประกอบ มาตรา 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
งานสืบสวนคดีทุจริตภาค 4 ได้ทำการสืบสวนจนทราบว่า ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลตามหมายจับได้หลบหนีไปพักอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร งานสืบสวนคดีทุจริตภาค 4 จึงได้ประสาน เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวน สถานีตำรวจภูธรสว่างแดนดิน สถานีตำรวจภูธรพังโคน และสถานีตำรวจภูธรเมืองสกลนคร ร่วมทำการสืบสวน เฝ้าสังเกตการณ์ และสะกดรอยติดตามบุคคลเป้าหมาย จากหมู่บ้านโฮมเพลส เลขที่ 948/7 ตำบลสว่างแดนดิน อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร เรื่อยมาจนถึงร้านอาหารแซ่บคักคัก ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร จึงได้ทำการพิสูจน์ทราบเป้าหมายจนแน่ชัดว่าเป็นนายโยธิน บุญแก้ว ผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลตามหมายจับศาลจังหวัดบึงกาฬ ที่ 22/2565 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 หมายจับอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบภาค 4 ที่ จ.27/2566 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 และหมายจับศาลจังหวัดบึงกาฬ ที่ 170/2566 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2566 เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้แสดงตัวว่าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ จากนั้นจึงได้แสดงหมายจับให้นายโยธิน บุญแก้ว ดูและได้อ่านให้ฟังแล้ว นายโยธิน บุญแก้ว รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน กับหมายจับนี้จริง และยังไม่เคยถูกจับตามหมายจับนี้มาก่อนแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้จับกุมตัว พร้อมกับได้แจ้งข้อกล่าวหาและแจ้งสิทธิ์ให้ทราบ จากนั้นจึงได้นำตัวมาทำบันทึกจับกุมที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสกลนคร เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานและฝากควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองสกลนคร และนำตัวส่งสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 4 เพื่อดำเนินการต่อไป
“ผู้ต้องหาหรือจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด”