ภาพเก่าเล่าอดีต

ปิดยุคเรือปืนของนักล่าอาณานิคม (ตอน 2)


9 กรกฎาคม 2024, 10:20 น.

 

ปิดยุคเรือปืนของนักล่าอาณานิคม (ตอน 2)
โดย สิริอัญญา
วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม 2567

 

 

สงครามพายุอัลอักซอเชื่อมโยงเป็นน้ำเนื้อเดียวกันกับสงครามยูเครนและความขัดแย้งในทุกสมรภูมิของโลก ซึ่งคาดว่าระบบเสนาธิการและระบบบัญชาการมีความเชื่อมโยงประสานกันอย่างลึกซึ้งด้วย จึงก่อเกิดเป็นลักษณะสงครามขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นสงครามโลกอย่างแท้จริง

 

แตกต่างจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 อย่างลิบลับ เพราะครั้งที่ 1 เป็นสงครามของแค่ 10 ประเทศ ไม่ได้มีฐานะเป็นสงครามโลก แต่พวกฝรั่งเอาขี้มาป้ายชาวโลกเสกเป่าให้เป็นสงครามโลก เพื่อให้ทุกคนย่ำแย่ไปพร้อม ๆ กัน

 

แม้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นสงครามของประเทศเพียง 20 ประเทศ โดยในเอเชียมีแค่ญี่ปุ่นเข้าสู่สงคราม แต่ก็ถูกโพนทะนาเสกเป่าว่าเป็นสงครามโลก ซึ่งไม่ใช่ฐานะที่เป็นจริง

 

สำหรับสงครามพายุอัลอักซอนั้นเป็นส่วนของสงครามที่เกิดขึ้นในทุกปริมณฑลของโลก เฉพาะสงครามยูเครนก็มีประเทศที่เกี่ยวข้องเกือบ 30 ประเทศ สงครามพายุอัลอักซอก็มีประเทศในตะวันออกกลางเกี่ยวข้องถึง 21 ประเทศ และในแปซิฟิกก็มีทุกประเทศในภูมิภาคนี้เกี่ยวข้อง แม้ในลาตินอเมริกาก็มีประเทศกว่าครึ่งของทวีปนั้นเข้าเกี่ยวข้อง

 

ดังนั้นโดยลักษณะจึงเป็นมหาสงครามหรือสงครามโลกครั้งที่ 3 โดยแท้ และสงครามครั้งนี้ประเทศตะวันตกนักล่าอาณานิคมก็ยังคงใช้กลยุทธ์หลักเหมือนเดิมคือกลยุทธ์เรือปืน ซึ่งถือเอาแสนยานุภาพทางนาวีเป็นแสนยานุภาพเชิงรุก ไม่ต่างกับยุคล่าอาณานิคม

 

จะต่างกันเฉพาะขนาดของแสนยานุภาพทางนาวีนั้นใหญ่โตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ มีการเสริมพลังและความทันสมัยอย่างทั่วด้าน กระทั่งสามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ได้ในทุกภูมิภาคของโลกด้วย ซึ่งประเทศฝรั่งเหล่านี้ภูมิใจนักหนาว่าแสนยานุภาพทางนาวีของตนเข้มแข็งที่สุดและใหญ่โตที่สุด เชื่อมั่นในระบบความคิดดั้งเดิมที่ว่าแข็งสามารถเอาชนะอ่อน และมากสามารถเอาชนะน้อย ดังนั้นแสนยานุภาพทางนาวีจึงเป็นแสนยานุภาพหลักของประเทศนักล่าอาณานิคมในสงครามนี้ด้วย

 

สงครามพายุอัลอักซอนั้นสหรัฐ อังกฤษ และอิสราเอล ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทหารได้ร่วมสงครามและออกนอกหน้าโดยตรงมาหลายเดือนแล้ว โดยมีประเทศพันธมิตรหลายประเทศสนับสนุน ในขณะที่คู่สงครามไม่มีฐานะเป็นประเทศหรือรัฐบาล แต่มีฐานะเป็นเพียงกลุ่มขบวนการที่มีฐานที่ตั้งอยู่ในประเทศต่าง ๆ เท่านั้น

 

ที่สำคัญคือ ขบวนการฮามาสของปาเลสไตน์ ขบวนการฮิซบุลเลาะห์ของเลบานอน ขบวนการอัลซอรุลเลาะห์ของเยเมน ที่เมื่อใดก็ตามปฏิบัติการทางทหารร่วมกับของรัฐบาลเยเมนแล้วก็จะใช้ชื่อว่านักรบฮูตี และยังมีขบวนการอัชชาบีของอิรัก ขบวนการฮัชชาบีของซีเรีย และกองทัพกุซของอิหร่านเกี่ยวข้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันด้วย

 

อันกองทัพกุซนั้นชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกองทัพเพื่อภารกิจประการเดียวคือการปลดปล่อยอัลกุซหรืออัลอักซอ ซึ่งจะต้องปลดแอกปาเลสไตน์ด้วย เป็นกองทัพอาสาสมัครของมุสลิมชีอะห์ที่ปฏิบัติการนอกประเทศอิหร่าน แต่ขึ้นสังกัดต่อกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน ซึ่งอยู่ในการบังคับบัญชาของผู้นำสูงสุดของอิหร่าน

 

การจัดตั้งกองทัพกุซปฏิบัติการนอกประเทศอิหร่านก็เพื่อแก้ไขจุดอ่อนและช่องโหว่ที่กองทัพอิหร่านไม่สามารถปฏิบัติการนอกประเทศอิหร่านตามคำสั่งเสียของอิหม่ามอาลี ดังนั้นกองทัพกุซจึงมีขีดความสามารถที่จะปฏิบัติการทางทหารได้ทั่วทั้งภูมิภาคนั้นและทั่วโลกด้วย และฐานะที่เป็นจริงก็คือเป็นหัวเรือใหญ่ในการให้การสนับสนุนขบวนการปฏิวัติอิสลามต่าง ๆ รวมทั้งขบวนการทั้งหมดที่มีภารกิจในการปลดปล่อยอัลอักซอด้วย

 

จอมพลหลิวป๋อเฉิง

 

ฝ่ายปฏิวัติอิสลามทั้งหมดมีฐานอยู่บนบกโดยทั่วไป และตั้งฐานยิงขีปนาวุธอยู่ตามแนวชายฝั่งประเทศของตนเป็นการทั่วไป และใช้กลยุทธ์สงครามอุโมงค์ที่กองทัพปลดแอกประชาชนจีนที่นำโดยจอมพลหลิวป๋อเฉิง ยอดขุนพลคนหนึ่งของประธานเหมาเจ๋อตุงได้คิดริเริ่มขึ้นใช้ในสงครามปลดแอกประเทศจีนมาก่อน จึงสามารถรับมือกับการโจมตีทางอากาศของเครื่องบินรบที่ทันสมัยและระเบิดที่ร้ายแรงของสงครามได้

 

ว่ากันว่าปัจจุบันนี้ใต้ผืนแผ่นดินของตะวันออกกลางนั้นเป็นเมืองอุโมงค์ที่ใหญ่โตที่สุดของโลกที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องยิ่งกว่าใยแมงมุม ดังนั้นแม้จะถูกโจมตีด้วยแสนยานุภาพทางอากาศเท่าใดก็ไม่สามารถทำลายสงครามอุโมงค์ของชาวตะวันออกกลางได้เลย
เพราะเหตุที่ประเทศอิสราเอลเป็นประเทศที่มีพื้นที่เล็ก มีประชากรน้อย ตั้งอยู่ริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน บรรดาอาวุธยุทโธปกรณ์ อาหารการกิน เครื่องอุปโภคบริโภคทั้งหลาย แม้กระทั่งน้ำล้วนต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ถ้าหากว่าถูกหยุดยั้งได้ อิสราเอลก็จะปราชัยย่อยยับเพราะไม่สามารถยืนหยัดในสงครามได้อีกเลย

 

 

และดูเหมือนว่าฝ่ายเสนาธิการของขบวนการปฏิวัติอิสลามต่าง ๆ จะทราบและเข้าใจสถานการณ์นี้เป็นอย่างดี ดังนั้นหนึ่งในกลยุทธ์ในการทำสงครามพายุอัลอักซอก็คือการทำลายหรือการตัดการสนับสนุนจากภายนอกมายังอิสราเอลให้หมดสิ้นหรือมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเพราะเหตุที่เยเมนมีภูมิยุทธศาสตร์ตั้งอยู่ที่ปากอ่าวและต้นทะเลแดง ซึ่งบรรดาข้าวของทั้งหลายที่จะส่งไปยังอิสราเอลล้วนต้องผ่านพื้นที่นี้ ดังนั้นขบวนการฮูตีจึงรับภารกิจในการตัดและทำลายการสนับสนุนสรรพสิ่งจากภายนอกเข้าไปอิสราเอล
และทำให้ชื่อเสียงของขบวนการฮูตีโด่งดังขึ้นทั่วทั้งโลก เพราะสามารถปฏิบัติการทางทหารชนิดเย้ยฟ้าท้าดิน สามารถสยบแสนยานุภาพทางนาวีของประเทศนักล่าอาณานิคมได้อย่างถึงพริกถึงขิง

 

ภาพจาก : MGR online

 

สหรัฐ อังกฤษ และอิสราเอล เป็นหัวเรือระดมกองทัพเรือของมิตรประเทศเพื่อไปถล่มฐานทหารของฮูตีที่โจมตีถล่มกองเรือที่จะเข้าไปยังภูมิภาคนั้น แต่ปรากฏว่าไม่ระคายผิวของฮูตี มิหนำซ้ำฮูตีกลับเพิ่มความเข้มแข็งปราดเปรียวมากขึ้น ชั่วระยะเวลาเพียง 4 เดือน สามารถจมเรือรบและเรือสินค้าที่ฝ่าฝืนคำสั่งร่วม 200 ลำแล้ว

 

ฮูตีได้แสดงความกล้าหาญชาญชัยยิ่งถล่มกองเรือบรรทุกเครื่องบินไอเซนฮาวร์ของสหรัฐจนได้รับความเสียหายจนต้องถอยหนีออกไปจากภูมิภาคนั้นเป็นที่อับอายขายหน้าชาวโลกอย่างยิ่ง แต่เพื่อรักษาหน้าตาและความเชื่อมั่นในด้านการทหารไว้ สหรัฐจึงตัดสินใจส่งกองเรือบรรทุกเครื่องบินที่ทันสมัยและยิ่งใหญ่คือกองเรือโรสเวลต์เพื่อไปปฏิบัติการ

 

แต่แทนที่ฮูตีจะระย่อท้อถอย กลับประกาศจะจมเรือบรรทุกเครื่องบินโรสเวลต์ และได้แสดงขีปนาวุธและโดรนรุ่นใหม่ ๆ ที่สามารถโจมตีกองเรือบรรทุกเครื่องบิน จนทำให้สหรัฐไม่แน่ใจ ถึงกับสั่งให้กองเรือนี้ชะลอการเดินเรือเข้าไปประจำการในพื้นที่นี้แล้ว

 

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือความสูญเสียความเชื่อมั่นในแสนยานุภาพทางนาวีซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของศักยสงครามของประเทศกลุ่มนาโต้ และนี่ก็คือสัญญาณที่ชัดเจนและมีพลังที่สุดว่ายุคสงครามเรือปืนที่ต่อเนื่องมายาวนานนั้นกำลังถูกปิดฉากลงแล้ว

 

วันเวลาแห่งการรอคอยการปรากฏพระองค์ของอิหม่ามมะดีฮ์ใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว ยุคแห่งสันติภาพนิรันดรใกล้เข้ามาเต็มทีแล้ว และอาจจะเห็นในชั่วชีวิตของพวกเรานี้.

 

Cr. “Paisal Puechmongkol”

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดภาพเก่าเล่าอดีต

เรื่องล่าสุด