เห็นต่าง-ยื้อ-รอ-ตัดขา
โลกโซเชียลตำรวจฮือฮาในช่วงเวลานี้ กับบทความของนายตำรวจคนดังระดับรองผู้กำกับการสอบสวนท่านหนึ่ง มีใจความน่าสนใจ ว่า คนนอกชาวบ้าน ไม่ได้รู้ดีกว่าตำรวจด้วยกัน…ว่าด้วยกฎหมายวินัยตำรวจ …
พูดง่ายๆ ประสาชาวบ้าน…
ตำรวจทำผิดวินัย ร้ายแรง แบ่งเป็น 2 ประเภท
1.ทำผิดวินัยร้ายแรง และกระทำผิดอาญา
2.ทำผิดวินัยร้ายแรง แต่ ไม่ได้กระทำผิดอาญา
มาตรา 131 ระบุไว้แล้ว ถ้าต้องหาคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ผู้บังคับบัญชา สามารถให้ออกจากราชการไว้ก่อนก็ได้..
ส่วนมาตรา 120 วรรคสี่ เป็นกรณีถูกตั้งกรรมการวินัยร้ายแรง อาจจะไม่ผิดอาญา ต้องฟังคณะกรรมการสอบสวนก่อน ถึงจะให้ออกจากราชการ ….ถ้าทุกกรณีต้องฟังคณะกรรมการสอบสวนก่อน
จะมี มาตรา 131 ไว้ทำไม …??
ทั้งสองมาตรา แยกอิสระต่อกัน…
เป็นที่เข้าใจของตำรวจและนักกฎหมายทั่วไป
ตำรวจถูกจับค้ายา รีดไถ ต้องถูกออกไว้ก่อน ไม่มีใครมีปัญหา…
แต่มีปัญหา เมื่อคนมีกองเชียร์เยอะ พร้อมหน้ามืดตามัว เชียร์โดยไม่สนกฎหมาย ไม่สนข้อเท็จจริง ผิดถูก…
ยิ่งมี อาจารย์นักกฎหมายศรีธนญชัยเข้ามา
อัยการคนใต้เข้ามา ที่ชอบออกสื่อ ยุ่งหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน
หน้าแหกมาแล้วหลายครั้ง..
ปากพร่ำเป็นกลาง แต่ง้างปาก ใครก็ เห็นลิ้นไก่ หน้ามืดตามัวเพราะความหลง…ปล่อยให้เป็นไปตามกฎหมายเถิด
สตช. จะได้หลุดพ้นจากความมืดมนที่ถูกครอบงำมาเป็น 10 ปี
ตำรวจที่เป็นคนดีเป็นคนทำงานที่แท้จริง
ไม่ได้สร้างภาพ
จะได้มีขวัญกำลังใจกัน ….
เนื้อหานี้ พอ “คาดเชือก” จับประเด็นใจความและสาระสำคัญที่ตำรวจยังจำเป็น และยืนยันต้องใช้มาตรา 131 เพราะเช่นนี้
อย่างไรก็ตาม
เรื่องนี้คงต้องไปลงเอยที่ ก.พ.ค.ตร. ที่มีกรรมการ 7 อรหันต์ พิจารณาหาข้อยุติ
อาจจะต้องใช้เวลาที่เหลือจากการรับเรื่องไปก่อนหน้านี้แล้ว อีก 30-60 วันข้างหน้า
หากผลไม่เป็นคุณกับผู้ร้อง ยังสามารถไปร้องเพื่อความเป็นธรรมอีกครั้งต่อศาลปกครองสูงสุด
จบหรือแจ้งเกิดใหม่ !!
คงได้รู้กันไม่ช้า
แต่ระหว่างนี้ให้จับตา ยุทธการเตะตัดขากรรมการโดยวิธีทางเทคนิค ไล่ฟ้องเอาเรื่องคู่กรณี
อาจไม่เว้นกระทั่ง 7 อรหันต์ ก.พ.ค.ตร. เพื่อหวังดึงกรรมการบางคนออกจากการพิจารณา
ไม่เชื่อก็รอดู
เป็นเช่นนั้นแน่.
อิทธิเดช ลุย