ข่าวประชาสัมพันธ์

จะเปลี่ยนโลกและชีวิตประจำวันของเราไปอย่างไร


19 พฤศจิกายน 2021, 7:54 น.

เมื่อกลางสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในวงการเทคโนโลยี ทำให้จู่ ๆ คำคำหนึ่งก็กลายเป็นคำที่ใคร ๆ ต่างพยายามหาคำตอบเพียงช่วงข้ามคืน ความเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น คือการบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการเทคโนโลยีอย่าง Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อ

โดยชื่อใหม่ที่ Facebook จะใช้นั้นมีชื่อว่า Meta (เมทา) และคำนี้นี่เองที่ทำให้หลายคนต้องรีบหาคำตอบ เดี๋ยวจะคุยกับใครเขาไม่รู้เรื่อง

หลายคนอาจจะเคยรู้มาบ้างแล้วว่า Meta มันจะมีคำตอบไปในทิศทางไหน แต่หลาย ๆ คนก็ไม่เคยรู้ มากกว่าการหาว่า Meta คืออะไร คือความสงสัยว่าทำไมมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของเฟซบุ๊ก ถึงจะเปลี่ยนชื่อบริษัทของตัวเองเป็น Meta มาร์ก กำลังจะทำอะไรกันแน่ นี่เป็นข่าวที่ทั่วโลกต่างจับตา เพราะมันต้องมีความหมายอยู่แล้วที่ผู้บริหารจะเปลี่ยนชื่อบริษัทของตัวเอง ทั้งที่เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ที่มาร์ก ใช้ชื่อเฟซบุ๊กจนเป็นชื่อที่ทุกคนรู้จัก จดจำกันได้ทั่วโลก และมีผู้ใช้งานแพลตฟอร์มนี้นับพันล้านคน

ในงาน Facebook Connect 2021 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กได้ออกมาประกาศว่าบริษัทเฟซบุ๊ก จะรีแบรนด์และเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็น Meta เพื่อเดินหน้าวิสัยทัศน์ “เมทาเวิร์ส” (Metaverse) อย่างเต็มตัว ซึ่งนี่จะเป็นทิศทางใหม่ของบริษัท ที่เขาพร้อมจะมุ่งมั่นและเดิมพันกับมัน โดยตัวเขาเองก็เคยออกมาบอกเมื่อเดือนกรกฎาคมแล้วรอบหนึ่ง ว่าเขาต้องการเปลี่ยนให้เฟซบุ๊ก กลายเป็น “Metaverse Company” เต็มตัว ภายในระยะเวลา 5 ปี

ในฐานะผู้ใช้เฟซบุ๊ก อย่างเรา ๆ หลังจากได้ยินข่าวก็อาจจะคิดกันไปต่าง ๆ นานา ว่าการเปลี่ยนชื่อครั้งนี้จะส่งผลกระทบอะไรกับบัญชีเฟซบุ๊กของเราไหม ซึ่งไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาแค่เปลี่ยนชื่อบริษัท แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Meta จะเปรียบได้กับยานแม่ ส่วนเฟซบุ๊กและแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่เคยเป็นของเฟซบุ๊กจะลดขนาดลงมาเป็นบริษัทลูกที่อยู่ภายใต้การดูแลของ Meta แทน ทั้งธุรกิจโซเชียลมีเดีย Facebook, Instagram, WhatsApp, Facebook Messenger และธุรกิจ AR, VR และ Metaverse ที่เขากำลังทำ

“เมทาเวิร์ส (Metaverse)” คืออะไร

หลายคนน่าจะได้คำตอบแล้วว่าทำไม มาร์ก ถึงเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta มันเป็นวิสัยทัศน์ของเขาที่ต้องการให้ เฟซบุ๊กเป็นมากกว่าโซเชียลมีเดีย โดยจะมุ่งสู่การสร้างโลกเสมือนอย่างเมทาเวิร์สมากกว่าจำกัดอยู่กับคำว่าเฟซบุ๊ก ต่อจากนี้ไป ทุกคนจะเชื่อมโยงถึงกันด้วยเทคโนโลยีโลกเสมือน ที่เราอาจเคยรู้จักโลกเสมือนในวงการเกม แบบที่ว่าแค่สวมแว่น VR ก็เหมือนกับเราได้เข้าไปอยู่ในเกมนั้นจริง ๆ การมาถึงของเมทาเวิร์สจะเปลี่ยนโลกที่เราเคยรู้จักให้กลายไปเป็นโลกใบใหม่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแน่นอน

ซึ่งถ้าเขาทำให้มันเป็นจริงได้ในเวลา 5 ปี เท่ากับว่าต่อจากนี้อีก 5 ปี การติดต่อของพวกเราก็จะใกล้ชิดกันมากขึ้น เราจะสามารถเทเลพอร์ตตัวเองไปยังสถานที่ต่าง ๆ เพื่อพบปะกับคนอื่น ๆ ที่อยู่ในโลกเมทาเวิร์สเช่นเดียวกัน ซึ่งในขณะนี้ เขาก็กำลังพัฒนาโปรเจ็กต์หนึ่งในชื่อ Horizon Home ซึ่งเป็นแอปฯ สำหรับการเข้าสังคมในรูปของห้องนั่งเล่นที่คุณจะชวนใครมานั่งก็ได้ โดยใช้ระบบร่างอวตารหรือตัวแทนผู้ใช้งานเสมือนจริง

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อจากนี้ หากมีคนพูดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน ก็คงจะโดนค่อนแคะว่าเป็นเรื่องเพ้อฝัน อาจถึงขั้นโดนปรามาสว่าเพ้อเจ้อ แต่ ณ เวลานี้ เรากลับเริ่มที่จะเห็นมันเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาแล้ว โดยเริ่มมาจากเฟซบุ๊กอีกเช่นเคย ที่เคยพลิกโฉมโลกเทคโนโลยีมาครั้งหนึ่งแล้ว

แต่ครั้งนี้ เขาเล็งเห็นว่าเมทาเวิร์สคืออนาคตแห่งโลกอินเทอร์เน็ต บริษัทของเขาจึงหันมาโฟกัสและให้ความสำคัญกับเรื่องของการสร้างและใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกันเป็นอันดับแรก ที่เขาย้ำว่าต่อจากนี้จะต้องเป็น Metaverse-First ไม่ใช่ Facebook-First และมองเมทาเวิร์สเป็นเครื่องมือยุคถัดจากโซเชียลมีเดีย ที่สามารถสร้างเศรษฐกิจ สร้างงาน และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับโลก

อะไรคือโลกเสมือน?

ความหมายของเสมือน มันคือ ความเหมือน ความคล้ายคลึง แต่ไม่ใช่สิ่งนั้นจริง ๆ นั่นหมายความว่าผู้ชายที่ชื่อ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กำลังจะสร้างโลกขึ้นมาอีกใบ เป็นจักรวาลที่คู่ขนานกับโลกที่เป็นจริงอยู่ทุกวันนี้ เขามีแนวคิดที่จะพัฒนาโลกเสมือนจริง 3 มิติผสานเข้ากับเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) หากเราได้เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนใบนี้ เราจะ “ได้มีส่วนร่วม” ในโลกเสมือนที่ระบบคอมพิวเตอร์สร้างขึ้น

มันจะเหมือนกับการที่เราเอาตัวเองเข้าไปเล่นเกม แทนที่จะสัมผัสปุ่มต่าง ๆ ผ่านหน้าจอ ก็เข้าไปวิ่ง ไปชกต่อยได้เองเลยในเกม จินตนาการต่อว่าตัวจริงเราอาจจะอยู่ที่บ้าน แค่สวมแว่นที่ใช้เทคโนโลยี VR แต่ร่างอวตารที่เราสร้างขึ้นอาจจะกำลังไปกินข้าวกับเพื่อน ๆ ในโลกเสมือนก็ได้

แน่นอนว่าการที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กำลังจะกรุยทางโลกเสมือนขึ้นมาผ่านการเปลี่ยนชื่อบริษัทเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นชื่อที่คนรู้จักกันทั่วโลก มันจึงเป็นการสร้าง “โลก” เสมือนจริง ๆ ไม่ใช่แค่สังคมเสมือนเท่านั้น โลกจริงมีอะไร โลกเสมือนก็ควรต้องมีแบบนั้นคู่ขนานกันไป นั่นหมายความว่ามันจะมีโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในโลกเสมือนนั้นด้วย มีการซื้อขายอะไรบ่างอย่างกันในโลกเสมือน ซื้อขายกันจริง ๆ มีการจ่ายเงิน มีหลักฐานซื้อขาย แต่ไม่มีของให้จับต้อง ทุกอย่างอยู่ในโลกเสมือน โลกที่เราเคยคิดว่ามันอยู่ในจินตนาการ ก็เกิดคู่ขนานขึ้นมาจริง ๆ

นั่นคือ แม้แต่ NFT ก็เป็นตัวอย่างของสินทรัพย์และการซื้อขายที่เกิดในระบบเศรษฐกิจของโลกเสมือนแบบเมทาเวิร์ส โดยอาศัยการแลกเปลี่ยนซื้อขายโดยใช้คริปโตเคอร์เรนซีมาเป็นสื่อกลาง ซึ่งนี่ก็จะเป็นหน่วยเงินดิจิทัลอีก เงินที่รู้ว่ามีอยู่จริง แต่จับต้องไม่ได้ ต่อไปเราอาจจะเข้าไปขายงานศิลปะ ซื้อของสะสม แล้วแสดงความเป็นเจ้าของโดยทำ NFT ส่วนหลักฐานต่าง ๆ ไปหาเอาได้ในบล็อกเชน แบบนี้ก็เป็นได้

istock-1170065455

ย้ายชีวิตไปอยู่บนโลกเสมือนดีไหม?

เมื่อเมทาเวิร์สนั้นเป็นแนวคิดที่เริ่มนำมาพัฒนาจริงจังจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้สำหรับสื่อสารกันระหว่างบุคคล เมทาเวิร์สในระยะเริ่มต้นจึงน่าจะพุ่งเป้าไปที่การมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์เป็นหลัก ไอเดียจะคล้าย ๆ กับช่วงที่ทุกคนในโลกจำเป็นต้องเว้นระยะห่างระหว่างกันเนื่องมาจากโรคระบาด อยู่ห่างไกลแต่ยังจำเป็นต้องติดต่อสื่อสารกันให้ได้ เทคโนโลยีจึงเข้ามาบีบทบาทสำคัญอย่างมากในการติดต่อและปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังที่เราได้ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ติดต่อเพื่อนร่วมงานที่อยู่บ้านใครบ้านมันในช่วง WFH

ลักษณะนี้กำลังจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตอันใกล้ แต่จะล้ำกว่าที่เคยเป็นไปมาก รวมถึงเป้าหมายก็อาจจะแตกต่างกันไปด้วยนิดหน่อย จากเดิมที่นำมาใช้งานในด้านการสังสรรค์ พบปะผู้คน และพูดคุยกันทางโลกออนไลน์

การมีเมทาเวิร์ส จะทำให้เรารู้สึกว่าโลกเสมือนมันมีตัวตนอยู่จริง ๆ และไม่ใช่แค่การมีปฏิสัมพันธ์พูดคุยกันธรรมดา เมื่อมีคนเข้าไปทดลองใช้งานกันมากขึ้นเรื่อย ๆ เมทาเวิร์สก็อาจจะสร้างระบบนิเวศใหม่ขึ้นมา ให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันมากกว่าการพูดคุย ทำงาน หรือไปร่วมงานปาร์ตี้ อาจมีสังคมของการซื้อขายในลักษณะเดียวกันกับ NFT ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จนกลายเป็นตลาดแหล่งใหม่ของคนกลุ่มที่เป็นนักพัฒนา เข้าไปสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ ให้เหมือนกับเป็นโลกจริง ๆ เป็นโลกทิพย์ที่สัมผัสได้อย่างสมจริงมากขึ้น

นอกจากนั้น การสร้างโลกเสมือนจริงขึ้นมา มันอาจจะเป็นการสร้างสถานที่พักผ่อนแบบใหม่ให้เป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม ให้พวกเราได้รับความบันเทิงแบบเสมือนจริงแบบที่เคยเกิดขึ้นในวงการเกม อาจจะเป็นชมภาพยนตร์ การสังสรรค์กับเพื่อนที่อยู่กันคนละที่ หรือการชมคอนเสิร์ต เพราะไอเดียการสร้างโลกเสมือนหรือเมืองทิพย์ ก็เริ่มมีในวงการไอดอลเกาหลีและติ่งเกาหลีแล้วเช่นกัน

โดย SM Entertainment เขาก็ได้สร้างอาณาจักรควังยา (광야) ขึ้นเป็นโลกสมมติใน SMCU (SM Culture Universe) สำหรับศิลปินในสังกัด ศิลปินและแฟนคลับรู้ดีว่าควังยาเป็นดินแดนสมมติที่อยู่ในจินตนาการ แต่ในอนาคต หากเมทาเวิร์สเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนกว่านี้ สายติ่งที่เรียกตัวเองว่าเป็นวัยรุ่นควังยาก็อาจจะได้ไปเที่ยวเมืองทิพย์ของศิลปินค่าย SM Entertainment ผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อรองรับเมทาเวิร์สก็เป็นได้

โลกเสมือนก็ยังเป็นโลกเสมือนอยู่วันยังค่ำ

แม้ว่าแนวคิดโลกเสมือนหรือเมทาเวิร์สที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กำลังพัฒนาอยู่นี้จะน่าตื่นเต้น และดูมหัศจรรย์ที่คนเราจะสร้างโลกสมมติขึ้นมาได้จริง ๆ คู่ขนานไปกับโลกแห่งความเป็นจริง เราอาจจะรู้สึกสนุกสนานและทึ่งกับสิ่งที่เทคโนโลยีนี้ทำได้ หากเราได้ลองเล่นมันจริง ๆ ในวันที่มันสามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ แต่เรา ๆ ก็คงต้องย้ำเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าโลกเสมือนมันก็เป็นเพียงโลกเสมือน โลกเสมือนอาจจะเกิดขึ้นจริงได้ แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นความสุขที่แท้จริง หรือทำทุกอย่างได้เหมือนจริง ใด ๆ แล้วเราก็ต้องมาใช้ชีวิตกันในโลกจริงอยู่ดี

เพราะในมุมตรงข้าม คนที่เสพติดอยู่ในโลกเสมือน อาการก็น่าจะคล้ายกับคนที่เสพติดโซเชียลมีเดีย มันอาจทำให้คนบางคนฝังตัวเองอยู่ในโลกเสมือนนั้น แล้วละทิ้งชีวิตจริง ๆ ที่เป็นอยู่ จนเกิดเป็นปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า ความรู้สึกไร้ตัวตน อาการกลัวตกกระแส เพราะใช้ชีวิตในโลกออนไลน์แทบตลอดเวลา การโอ้อวดกันในสิ่งที่จับต้องไม่ได้ในโลกเสมือน ที่อาจทำให้เราเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ในโลกออนไลน์โดยไม่รู้ตัว ที่สำคัญ การจะเข้าไปอยู่ในโลกเสมือน มันอาจต้องมีอุปกรณ์เพิ่มเติมนอกเหนือจากโทรศัพท์เครื่องเดียว และมันก็ต้องใช้เงินซื้ออยู่ดี

ต้องทำความเข้าใจว่าการได้เห็นชีวิตของคนที่สามารถซื้อข้าวของต่าง ๆ แล้วพาตัวเองไปอยู่ในโลกเสมือนได้ ก็เริ่มเห็นภาพชัดว่าตัวเราไม่มี ความรุนแรงของการเปรียบเทียบและอิจฉาของคนจะล้ำมากขึ้นไปตามเทคโนโลยีที่สูงกว่าโซเชียลมีเดีย หากคนผู้นั้นขาดสติที่จะควบคุมความคิดอยากได้อยากมีของตัวเอง อาจจะทำทุกอย่างให้ได้ลองเล่นโลกเสมือน หรือลองนึกถึงเรื่องการถือครองทรัพย์สิน NFT ดูก็ได้ คนที่เป็นเจ้าของสิ่งของหลาย ๆ อย่าง ที่แม้จะจับต้องไม่ได้ แต่มันมองเห็นความมั่งมีได้จากการที่เขาจ่าย NFT เพื่อแลกกับการได้เป็นเจ้าของ

ความฉลาดล้ำของเทคโนโลยีเหมือนกับดาบสองคม ที่ถ้าใช้แบบขาดสติและหลงระเริงกับมันจนไร้การควบคุม มันก็จะเป็นผลเสียมากกว่าผลดี ในฐานะมนุษย์ เราควรต้องเป็นผู้ควบคุมและใช้เทคโนโลยี ไม่ใช่ให้เทคโนโลยีมาควบคุมชีวิตเรา ต้องมีสติและใช้อย่างชาญฉลาด รู้เท่าทันเทคโนโลยีให้มาก เพื่อไม่ตกเป็นทาสของเทคโนโลยี

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดข่าวประชาสัมพันธ์

เรื่องล่าสุด