การเมือง

สำนัก อสส. แจงอัยการทำตัวเป็นหมอ แถลง “ทักษิณ” ป่วยขั้นวิกฤต “วัชระ” บอกอ่านแล้วคล้ายบทละคร แนะเปิดคลิป “ปรีชา” ดูอีกครั้ง


24 มิถุนายน 2024, 22:55 น.

 

24 มิถุนายน 2567 สำนัก อสส. แจงอัยการทำตัวเป็นหมอ แถลง “ทักษิณ” ป่วยขั้นวิกฤตไม่ผิดทุกประการ “วัชระ” บอกอ่านแล้วคล้ายบทละคร แนะเปิดคลิป “ปรีชา” ดูอีกครั้ง

 

นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า วันนี้ได้รับหนังสือที่ อส 0004 (คก 1)/2381 ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2567 จากสำนักงานอัยการสูงสุด เรื่องขอให้สอบวินัยและจริยธรรมนายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ตามที่ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา กรณีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนปกป้อง นช.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหาในสำนวน ส.1 เลขรับที่ 20/2567 ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 โดยใช้คำว่า “ป่วยขั้นวิกฤต” ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระเบียบและประมวลจริยธรรมหรือไม่ และขอให้นายปรีชา สุดสงวน พ้นจากหน้าที่ในการดูแลคดีดังกล่าว และแต่งตั้งพนักงานอัยการที่มีความเป็นกลางเป็นที่ประจักษ์และเชื่อถือได้มาดูแลคดีต่อไป และขอทราบความคืบหน้านั้น

 

สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วฟังได้ว่ากรณีนายปรีชา สุดสงวน ตอบคำถามสื่อมวลชน ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ว่านายทักษิณ ชินวัตร “ป่วยขั้นวิกฤต” นั้นเป็นกรณีที่นายปรีชา สุดสงวน เข้าใจอย่างสุจริตว่านายทักษิณ ชินวัตร มีอาการเจ็บป่วยมากเป็นลักษณะของคนป่วยที่ไม่แข็งแรงเพราะเห็นสภาพนายทักษิณ ชินวัตร ต้องนั่งรถเข็นมามีคนคอยประคองอยู่ตลอดเวลาจากสภาพภายนอกเห็นได้ว่านายทักษิณ ชินวัตร มีอาการอิดโรย ดูอ่อนเพลียมาก ไม่มีแรงเดินไม่ได้ต้องมีคนคอยอุ้มถึง 2 คน มีอุปกรณ์บล็อกคอไว้มีการเข้าเฝือกอ่อนที่แขน สังเกตจากการพูดจา ดูเชื่องช้ามีน้ำเสียงแหบแห้งและเบามาก นายปรีชา สุดสงวน ต้องชะโงกเข้าไปใกล้ถึงจะจับความหมายจากคำพูดได้ แม้อาจจะเป็นถ้อยคำที่เกินเลยจากความเห็นที่ต้องการสื่อสารไปบ้าง แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าการพูดถึงอาการป่วยของนายทักษิณ ชินวัตร ดังกล่าวเพื่อคุ้มครองปกป้องหรือช่วยในการปล่อยชั่วคราวนายทักษิณ ชินวัตร การกระทำของนายปรีชา สุดสงวน จึงยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดกฎหมายระเบียบและประมวลจริยธรรมตามข้อร้องเรียนแต่อย่างใด

 

ส่วนกรณีขอให้นายปรีชา สุดสงวน พ้นจากหน้าที่ในการดูแลคดีนั้นเนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่พิจารณาสั่งคดีของอัยการสูงสุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ประกอบระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 208 นายปรีชา สุดสงวน ในฐานะอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาสั่งคดีนี้แต่อย่างใด จึงไม่มีกรณีที่จะต้องพิจารณาดำเนินการในส่วนนี้และอัยการสูงสุดมีคำสั่งให้ยุติเรื่องแล้ว ลงชื่อ นายเพียรศักดิ์ สมบัติทอง อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ

 

นายวัชระ กล่าวว่า เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดกรุณาตอบหนังสือ ผมขอขอบคุณที่ตอบคำถาม ท่านเขียนได้ดีอ่านแล้วคล้อยตามคล้ายบทละครอย่างมากซึ่งเป็นที่คาใจของสังคมไทย แต่สังคมจะหายข้อข้องใจหรือไม่ ผมไม่อาจทราบได้ เรื่องอัยการทำตัวเป็นหมอก็จะเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของตำนานอัยการไทยที่เล่าขานกันไม่รู้จบและไม่ผิดกฎหมายระเบียบและจริยธรรมใด ๆ ทั้งสิ้น นายปรีชา ไม่มีอำนาจพิจารณาสั่งคดีนี้ก็จริง แต่นายวิพุธ บุญประสาท อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 อัยการผู้ว่าความคดีนี้คือลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชาสายตรงของนายปรีชา ผู้เป็นอธิบดีนั่นเอง แล้วจะให้ประชาชนไว้วางใจได้อย่างไร

 

นายวัชระ กล่าวตอนท้ายว่า เพื่อประกอบคำชี้แจงของหนังสือชี้แจงฉบับนี้และเพื่อความยุติธรรมต่อนายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา ขอให้พี่น้องประชาชนกรุณาเปิดดูคลิปคำแถลงของนายปรีชาที่บอกว่านายทักษิณป่วยขั้นวิกฤตประกอบไปด้วยก็จะเป็นการดีที่สุด

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดการเมือง

เรื่องล่าสุด