นักวิจัยไทยขั้นเทพ จาก วช. ประสบความสำเร็จในการพัฒนาองุ่นไชน์มัสแคทเชิงพาณิชย์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย นำทีมถ่ายทอดวิทยายุทธอบรมแก่เกษตรกร อย่างครบวงจร ฟรี หวังเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ เพิ่มมูลค่าให้แก่เกษตรกรผู้ปลูก
อบรมฟรี ไม่มีที่ไหน จัดเพื่อเกษตรกรแบบไม่มีกั๊ก โดยศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลังเก็บเกี่ยวและแปรรูปผลไม้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวง (อว.) จับมือ สถานความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยนเรศวร อบรมการผลิต องุ่นไชน์มัสแคทเชิงพาณิชย์ โดยมี รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท นำทีมบรรยายเรื่อง การผลิตองุ่น ไชน์มัสแคทภาคเหนือตอนล่าง พร้อมด้วย ดร.ชินพันธ์ ธนาวุธ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ บรรยายเรื่อง การผลิตองุ่นไชน์มัสแคทเชิงการค้า การผลิตแบบประณีต และ คุณวรเชษฐ์ ขัติยะ บรรยายเรื่องการปลูกองุ่นมืออาชีพจากประสบการณ์โดยตรง เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2567 ที่ห้องประชุม คณะวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยได้รับความสนใจจากเกษตรกรรุ่นใหม่เข้าร่วมอบรมทั้งทางออนไซต์ และออนไลน์ ประมาณ 200 คน
รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท ผอ.ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว และแปรรูปผลไม้ (วช.) เปิดเผยว่า องุ่นไชน์มัสแคท ถูกปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี 2531 ที่ญี่ปุ่น ขึ้นทะเบียนพันธุ์ในปี2549 มีลักษณะเด่น ผลกลม ขนาดใหญ่ ผิวสีเขียวอ่อนสวยงาม เนื้อแน่นไม่แตกง่าย กรอบหวาน อร่อย ไม่ฝาด ทนร้อนหนาวได้ดีที่สำคัญรสหวานละมุนลิ้น ปราศจากเมล็ด กลายเป็นองุ่นยอดนิยมราคาแพงตกกิโลกรัมละ 2,000-5,000 บาท จนมีคำเปรียบเปรยว่า คนซื้อไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ซื้อ นิยมมอบเป็นของขวัญล้ำค่า
(วช.) ได้ให้ทุนสนับสนุนโครงการพัฒนาไชน์มัสแคทตั้งแต่ปี 2562 เริ่มจากนำคณะเดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นเพื่อนำเทคนิคการปลูกองุ่นไชน์มัสแคทมาดำเนินการในประเทศไทย โดยทีมงานได้ศึกษาขั้นตอนการดูแลบำรุงรักษาจากประเทศเจ้าของสายพันธุ์มาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย จนกระทั่งได้สูตรสำเร็จตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของสี ลักษณะผล จนสามารถได้ไชน์มัสแคทไร้เมล็ด ทดลองปลูกที่ พิษณุโลก, เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง และตาก ได้ผลเป็นที่น่าพอใจและดีกว่าการผลิตในญี่ปุ่นซึ่งมีผลผลิตปีละครั้ง ขณะที่ประเทศไทยสามารถให้ผลผลิตปีละ 2 ครั้ง จนเป็นกรณีศึกษาทำให้ปัจจุบันญี่ปุ่นมีกฏหมายเข้มข้นห้ามนำพันธุ์พืชออกนอกประเทศ เพราะได้รับบทเรียนจากการที่ประเทศไทยสามารถนำไชน์มัสแคทจากญี่ปุ่นมาปลูกได้ผลดี
รศ.ดร.พีระศักดิ์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันจากการทดลองปลูกไชน์มัสแคทได้ในหลายพื้นที่ทำให้ทราบปัญหาและมีองค์ความรู้จนมีการจัดอบรมฟรีถ่ายทอดความรู้ในการผลิตไชน์มัสแคทเชิงพาณิชย์ให้แก่ผู้สนใจ โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก (วช.)