คอลัมนิสต์

กุญแจมือ


24 พฤษภาคม 2024, 11:24 น.

 

ใคร ๆ ก็รู้ว่า <ตำรวจ> คือ <ผู้พิทักษ์สันติราษฏร์>

 

ตำรวจฝ่าย <ปฏิบัติการ> มีหลายหน่วยงาน เช่นตำรวจโรงพัก ตำรวจกองปราบ ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ตำรวจปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี ฯลฯ

 

ทำหน้าที่ในการป้องกัน ปราบปราม จับกุม และสอบสวนผู้กระทำความผิดคดีอาญาและคดีพิเศษ ตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน

 

ในคดีอาญาทั่วไป เช่น ลักวิ่ง ชิง ปล้น ฯลฯ ผู้กระทำความผิดที่ถูกจับกุมตัวได้ และเป็นผู้ชาย มักถูกพันธนาการด้วย <กุญแจมือ> ยกเว้นผู้หญิงและเด็ก ในคดีบางประเภท

 

ตั้งแต่เริ่มถูกจับกุม นำตัวมาสอบสวน นำตัวไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ นำตัวไปผัดฟ้อง ฝากขัง คือใส่กุญแจมือในทุกขั้นตอนของกระบวนการเมื่ออยู่กับตำรวจ

 

 

<ใส่กุญแจมือเพื่ออะไร ?>

 

กุญแจมือคืออุปกรณ์ที่ใช้ในการพันธนาการผู้กระทำความผิดที่ถูกจับกุมได้ตามระเบียบกฎหมาย เพื่อป้องกันการหลบหนีเป็นหลัก นอกจากนั้น ยังป้องกันการต่อสู้ ขัดขืน ขัดขวาง การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ปฏิบัติการตามกฎหมายอีกด้วย

 

<ก่อนใส่กุญแจมือ !>

 

ในการจับกุมนั้น อาจมีการใช้กำลังตามสถานการณ์ เมื่อมีขัดขืน มีการต่อสู้กัน เช่น ชกด้วยกำปั้น เตะด้วยลำแข้ง ใช้มือจับบิดแขน บิดขา ใช้เข่ากดลำตัว ตามวิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากโรงเรียนตำรวจ

 

มีกรณีตำรวจผู้จับกุม เคยอ้างกับศาลมาแล้วว่า <ศึกษาวิชาการจับกุม การต่อสู้ การป้องกันตัว โดยใช้มือ ใช้เท้า มาจากโรงเรียนตำรวจ> ปรากฏว่า <ศาลท่านรับฟัง>

 

ดังนั้น ผู้จับกุมจงมีสติ และ <ไม่ควร> แบมือตบ ใช้เท้ากระทืบ เพราะครูอาจารย์ ไม่เคยสั่งสอนจะใช้อ้างในชั้นศาล ก็คงฟังไม่ขึ้น

 

<อดีต>

สมัยที่ผมเป็นรอง สวส. อยู่ใน บช.น. ผมก็ไปผัดฟ้อง ฝากขัง ที่ศาลเป็นประจำ รุ่นพี่ ๆ ได้สั่งสอนแนะนำวิธีปฏิบัติผู้ต้องหาทุกคน ต้องใส่เครื่องพันธนาการ คือ <กุญแจมือ> ถ้ามีผู้ต้องหาหลายคน ก็ใช้โซ่เส้นเล็ก ๆ ร้อยกับกุญแจมือ เดินเรียงกัน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งเครื่องแบบ ควบคุมใกล้ชิด

 

ถ้าเป็นผู้ต้องหาคดีใหญ่ คึกโครมอุกฉกรรจ์ เวลาไปนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพบางครั้งก็ใส่กุญแจมือสองชั้น เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มกันเพื่อป้องกันการหลบหนี และการชิงตัวผู้ต้องหา

 

<มีเรื่องจริงเหลือเชื่อ จะเล่าให้ฟัง>

 

พี่ ๆ น้อง ๆ เขาเล่าต่อ ๆ กันมา มีนายตำรวจอยู่ บก.น.ใต้ สน.หนึ่ง ชายขอบ กทม. นำผู้ต้องหาไปผัดฟ้องที่ศาลแล้วขอรับตัวกลับ แต่นายตำรวจมีธุระต้องไปทำต่อกับพลขับจึงถอดกุญแจมือผู้ต้องหาทั้งหมดทุกคนแล้วให้เงินค่ารถโดยสารเพื่อให้เดินทางกลับไป สน. ด้วยตนเอง

 

พอผู้ต้องหาทุกคน เดินทางไปถึงโรงพัก ก็ไปบอกสิบเวรว่า <ผู้หมวดให้กลับมาก่อนแล้วจะตามมาภายหลัง> สิบเวรพอฟังเสร็จ ก็เอาผู้ต้องหาทุกคนเข้าห้องขัง

 

พี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ ตำรวจที่พูดถึงเรื่องนี้ เล่าเรื่องนี้ ในสมัยนั้นล้วนยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงที่ไม่มีใครเขากล้าทำกัน คงมีคนเดียวที่ทำได้คือไอ้น้องคนนี้นี่แหละ แสดงว่า ตำรวจ สน. นี้ กับพวกผู้ต้องหาคงคุ้นเคยกันดีและต่างคนต่างไว้ใจกัน

 

ถ้าเอ่ยชื่อละก็ อ๋อ ! กันเป็นแถว <ส> ใบ้อักษรตัวแรกให้ <รุ่นไล่ ๆ กับผม> ใบ้คำที่สอง <ปัจจุบัน>

 

เมื่อไม่กี่วันมานี้มีข้อมูลข่าวสารทางวิทยุโทรทัศน์เป็นภาพเคลื่อนไหว นายตำรวจโรงพักหนึ่งนำผู้ต้องหาคดีอุกฉกรรจ์ ที่กำลังเป็นข่าวสะเทือนขวัญคนหายไปหลายวัน ต่อมาพบเป็นศพอยู่ก้นเหว ตำรวจเก่ง จับกุมผู้กระทำความผิดได้โดยมีพยานหลักฐานและของกลาง ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ แต่ปรากฏว่า ตำรวจไม่ได้ใส่กุญแจมือ ไม่ได้ใส่เครื่องพันธนาการใด ๆ กับผู้ต้องหาคนนั้นเลย

 

อดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ผู้คร่ำหวอดอยู่กับโรงพักมาทั้งชีวิต ท่านคุยกับผม พร้อมกับส่งคลิปเรื่องนี้มาให้ดู ท่านบอกว่า <ทำไมตำรวจถึงไม่ใส่กุญแจมือผู้ต้องหา เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญด้วย น่าเป็นห่วงจริง ๆ ไม่กลัวมันหลบหนีหรือ ? ไม่กลัวมันแย่งอาวุธหรือ ? ไม่ยึดมั่นในอุดมคติตำรวจเลย ? ประมาทมาก ไอยศูรย์ ช่วยเขียนบอกน้อง ๆ หน่อยนะ>

 

ผมพูดคุยกับท่านเสร็จ ดูคลิปประกอบ ทำให้หวนคำนึงถึงอุดมคติตำรวจทั้ง 9 ข้อ โดยเฉพาะ ข้อ 9

 

<เคารพเอื้อเฟื้อต่อหน้าที่ กรุณาปรานีต่อประชาชนอดทนต่อความเจ็บใจ ไม่หวั่นไหวต่อความยากลำบาก ไม่มักมากในลาภผล มุ่งบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ดำรงตนในยุติธรรม กระทำการด้วยปัญญา รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต>

 

น้อง ๆ ตำรวจที่รักทุกคน ทางวิชาการเขามี ระเบียบวิธีวิจัยตำรวจเราก็มี ระเบียบ วิธีปฏิบัติ

 

ทำตามกฎ ทำตามระเบียบ ทำในสิ่งที่สามารถทำได้ในอำนาจหน้าที่ ทำไปเถอะครับ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยดีกว่าการต้องตามไปแก้ปัญหาภายหลัง

 

แก้ได้ ก็โชคดีไป แก้ไม่ได้ ก็ซวยไป

 

ลองย้อนกลับไปอ่านเรื่อง <หมอหนี> อีกสักครั้ง เพราะผม <ให้เกียรติ> <จึงไม่ได้ใส่กุญแจมือ> ไม่คิดว่าหมอจะหนี แต่<ผมคิดผิด> เมื่อมีโอกาสหมอหนีทันที 30 วันพอดิบพอดี จึงได้ตัวหมอมา

 

<ตำรวจใจดี ยกเว้นวิธีปฏิบัติกับผู้ต้องหาจนตัวเกือบโดนดำเนินคดีเสียเอง>

 

ดังนั้นขอให้น้อง ๆ จงใช้ <กุญแจมือ> เป็นกฎในการควบคุมตัวผู้ต้องหา เพื่อ <รักษาความไม่ประมาทเสมอชีวิต>

 

ด้วยความเป็นห่วงจากพี่ ๆ นะครับ

 

พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด