“เสื้อใหม่ดี คนเก่าดี”
ถ้าลูกน้องเก่าเกิดเขม่นลูกน้องคนใหม่ถึงขั้นลองฝีมือกัน?
ท่านผู้เป็นหัวหน้าจะทำอย่างไร?
ในการทำงานในองค์กรตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไปความจำเป็นที่จะต้องหาคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือมาเสริมทีม ย่อมเป็นสิ่งที่หัวหน้างานเลี่ยงไม่ได้หลีกไม่พ้น แต่ก็ปรากฎว่ามีบ่อยครั้งที่คนใหม่มาอยู่ด้วยไม่นานก็ต้องออกไป ทนคนเก่าไม่ได้!!
พอมีเรื่องกระทบกระทั่งกัน เจ้านายก็มักเกรงใจคนเก่า เพราะรู้จักใจกันมา ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตั้งแต่ครั้งเริ่มงาน… ก็เลยเข้าข้างคนเก่าไว้ก่อน เข้าทำนองภาษิตเกาหลีที่เขาว่า “เสื้อใหม่ดี-คนเก่าดี” ซึ่งก็ไม่ค่อยจริงเสมอไปนัก บางที คนเก่าร้ายกาจต้องการรักษาความเป็นเลิศ ของตัวไว้ คอยบีบคั้นกลั่นแกล้งคนใหม่จนทำงานไม่ได้ ต้องล่าถอยไปมากแล้ว
เคยฟังมาว่า อาจารย์รัฐศาสตร์มือหนึ่งของมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียง มีคุณวุฒิระดับปริญญาเอกตำแหน่งศาสตราจารย์ ย้ายไปอยู่กระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งผู้ตรวจการกระทรวง ไม่ทราบว่าไปเจอ “ลูกไม้มหาดไทย” ลูกไหนเข้า อยู่ได้ไม่เท่าไรก็กลับไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยตามเดิมแล้ว แต่หัวหน้าที่ชาญฉลาด จะมีวิธีการ ที่จะให้คนเก่งรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า ยอมรับ กันได้ ดังเรื่องที่ผมจะเล่าต่อไปนี้
เล่าปี่นั้นมีเพื่อนร่วมคณะปฏิวัติต่อต้านโจโฉอยู่หลายคน แต่คนอื่นถูกโจโฉจับได้ และประหารชีวิตหมดไปตั้งแต่ต้น ยกเว้นแต่ม้าเท้งเจ้าเมืองเสเหลียง ซึ่งมีกำลังทหารเข้มแข็ง และตัวเองกับลูกหลานก็มีฝีมือในการรบ
ม้าเท้งคนนี้มีลูกชายสามคน คนโตชื่อ ม้าเฉียว ม้าเฉียวเป็นคนที่มีลักษณะงามสง่า ในหนังสือสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) กล่าวถึงม้าเฉียวไว้ว่า
“ม้าเฉียวห่มเกราะเงินใส่หมวกขาว ขี่ม้าถือทวนออกยืนหน้าทหารรูปร่างคมสัน ไหล่ผาย เอวกลม หน้าขาวปากแดง สมควรเป็นนายทหารเอก…”
ต่อมาม้าเท้งเสียรู้โจโฉ ถูกโจโฉจับฆ่าตายพร้อมกับน้องชายของม้าเฉียวอีกสองคน ม้าเฉียวเจ็บแค้นนัก ยกทัพออกต่อรบด้วยโจโฉ จนโจโฉแตกพ่ายยับเยิน แทบเอาชีวิตไม่รอด ต้องตัดหนวด ปลอมเป็นทหารเลว
ฝีมือของม้าเฉียวจึงเลื่องลือนัก ในที่สุดม้าเฉียวก็ได้มาอยู่กับเล่าปี่ และได้ใช้ความมีชื่อเสียงในการรบพุ่งของตนขู่เล่าปี่ได้สำเร็จ
ทำให้บทบาทของม้าเฉียวโดดเด่นยิ่งนัก
ครั้นได้เมืองเสฉวนแล้ว เล่าปี่กับขงเบ้งก็ช่วยกันจัดการบ้านเมือง จน สงบเรียบร้อย ราษฎรทั้งปวงก็มีความสุข ยิ่งกว่าแต่ก่อน
อยู่มาวันหนึ่ง เล่าปี่ออกว่าราชการ คนใช้เข้ามาบอกเล่าปี่ว่า บัดนี้กวนอูใช้ให้กวนเป๋งผู้เป็นบุตรมาคารวะเล่าปี่ เล่าปี่ก็ออกรับกวนเป๋งอย่างธรรมเนียม
กวนเป๋งคำนับแล้วบอกเนื้อความว่า… “กวนอูบิดาข้าพเจ้า มีความยินดีด้วยท่านปูนบำเหน็จไปนั้น จึงให้ข้าพเจ้ามาคำนับ ข้อหนึ่งบิดาข้าพเจ้าสั่งว่า ได้ยินกิตติศัพท์เลื่องลือว่าม้าเฉียวนั้นมีฝีมือกล้าหาญนัก หาผู้เสมอมิได้ บิดาข้าพเจ้าจะขอมาต่อสู้กับม้าเฉียว”
ท่านผู้อ่านครับ กวนอูได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้า ก็เพราะความซื่อสัตย์ แต่ในเรื่องความเป็นผู้ใหญ่ ความเป็นรุ่นพี่ ความเป็นหัวหน้าคน กวนอูมีจุดที่ น่าตำหนิหลายประการ
ตัวเองเป็นถึงน้องชายร่วมสาบานของเล่าปี่ สูงกว่าทั้งวัยวุฒิ และตำแหน่งยศฐาบรรดาศักดิ์ แถมเป็น “คนเก่า” ตั้งแต่เล่าปี่เริ่มตั้งตัว กลับยอมรับความสามารถของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ ลดตัวลงมาท้ารบ กวนอูคงเกิดก่อนคำกล่าวที่ว่า “ทะเลาะกันคนระดับใด ศักดิ์ศรีเหลือเท่าคนระดับนั้น”
แต่เมื่อเกิดปัญหาคนเก่าเขม่นคนใหม่ขึ้น ดังนั้นก็ต้องแก้ไข เล่าปี่ปรึกษากับขงเบ้งว่า “ซึ่งกวนอูจะมาลองฝีมือม้าเฉียวนั้น ถ้าผู้ใดเพลี้ยงพล้ำก็จะมีพยาบาทกันไป ท่านจะคิดประการใด”
ขงเบ้งจึงว่า “ท่านอย่าวิตกเลย ข้าพเจ้าจะของแต่งหนังสือไปถึงกวนอูให้คลายอิจฉาจงได้”
เล่าปี่จึงว่า “ครั้นจะนิ่งช้าอยู่ กวนอูมาถึง เนื้อความก็จะฟุ้งซ่านออกไป ท่านจงเร่งแต่งหนังสือให้กวนเป๋งถือกลับไป”
นับว่าเล่าปี่ก็เป็นคนฉับไว ทันเหตุการณ์ได้อยู่
ขงเบ้งก็แต่งหนังสือสรรเสริญกวนอู เข้าผนึกแล้วส่งให้กวนเป๋ง โดย กวนเป๋งก็รับเอาหนังสือแล้วลาเล่าปี่กลับไปเมืองเกงจิ๋ว ครั้นถึงจึงบอกเนื้อความแก่บิดาตาม ซึ่งได้ว่ากล่าวนั้นทุกประการ แล้วยื่นหนังสือให้
กวนอูรับหนังสืออ่านดูแล้วก็มีความยินดีคิดว่าขงเบ้งนั้นสมควรเป็นอาจารย์สั่งสอน เขาจึงเอาหนังสือให้ขุนนางทั้งปวงดู แล้วว่า “เดิมเราวิตกอยู่ว่าม้าเฉียวนั้นฝีมือกล้าหาญนัก คิดใคร่จะไปลองดูฝีมือ บัดนี้เราก็สิ้นวิตกแล้ว”
ท่านผู้อ่านลองพิจารณาจดหมายที่ขงเบ้งมีไปถึงกวนอูดูนะครับ จะเห็น “จิตวิทยา” ของขงเบ้งชัดเจนทีเดียว จดหมายมีข้อความว่า
“ขงเบ้งอวยพรมาถึงจงกุ๋นกวนอู ด้วยเรารู้ว่าท่านวิตกด้วยม้าเฉียวนั้นไม่ควร อันฝีมือม้าเฉียวนี้เปรียบเสมือนแต่เตียวหุยน้องท่าน และการกลศึกนั้นฝีมือท่านยิ่งกว่าม้าเฉียวเป็นอันมาก ซึ่งท่านจะละเมืองเกงจิ๋วเสีย จะมาลองฝีมือกับม้าเฉียวนั้นไม่ได้ เกิดมีอันตรายมาถึงเมืองเกงจิ๋ว โทษก็จะมีแก่ท่าน ซึ่งว่ามาทั้งนี้ท่านดำริดูจงควร”
กวนอูนั้น จริงใจใจจริงจะอยากประลองฝีมือกับม้าเฉียวให้ประจักษ์หรือไม่ก็ไม่ทราบได้แน่ แต่สิ่งที่กวนอูต้องการคือ “ใบรับรอง” ที่แสดงให้เห็นว่า ตัวเองมีฝีมือเป็นเลิศ ซึ่งในความหมาย ลึก ๆ ก็คือคำรับรองว่าตนเองยังคงมี ความสำคัญอยู่ในสายตาของนาย
ขงเบ้งรู้จิตวิทยาข้อนี้ดี จึงออก “ใบรับรอง” ให้ทำให้กวนอูพอใจ และแสดงให้คนทั้งหลายเห็นความสำคัญนั้นโดย “…เอาหนังสือให้ขุนนางทั้งปวงดู…” อีกด้วย
ท่านที่เป็นนาย และยังเชื่อว่า “เสื้อผ้าใหม่ดี-คนเก่าดี” แต่ก็ต้องการคนเก่ง คนใหม่มาเสริมทีมงาน ก็จะต้องหาวิธีให้คนเก่าไม่เกิดความรู้สึก “อิจฉา” คนใหม่ให้จงได้
วิธีการของขงเบ้งในเรื่องนี้…ก็ ไม่เลวนะครับ.
……
Cr : ลูกน้องกับนาย‘สไตล์สามก๊ก’