สหรัฐฯ ชื่นชมไทยเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศ ปราบละเมิดต่อเนื่อง และผลักดันกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่สำเร็จ พร้อมประกาศให้ไทยรักษาสถานะคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในบัญชี Watch List ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา ผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ (Special 301) ประจำปี 2565 โดยไทยสามารถรักษาสถานะอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List: WL) ได้ต่อไป
ซึ่งสหรัฐฯ ชื่นชมไทยที่พัฒนาทรัพย์สินทางปัญญาในหลายมิติ ทั้งด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ที่กรมฯ บูรณาการการทำงานอย่างจริงจังกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง การผลักดันการแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร การแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภาครัฐ และล่าสุดผลักดันการแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์สำเร็จเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ไทยพร้อมเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก รวมถึงการจัดกิจกรรมรณรงค์และสร้างความตระหนักรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในหลากหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังคงมีข้อห่วงกังวลอยู่บางประการ
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า “กรมฯ พร้อมเดินหน้าสร้างความเข้าใจกับสหรัฐฯ เพิ่มเติม เพื่อให้สหรัฐฯ รับทราบความก้าวหน้าด้านการคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของไทยอย่างถูกต้องมากยิ่งขึ้น เพื่อสะท้อนข้อเท็จจริงในรายงานฯ ได้อย่างเหมาะสม โดยที่ผ่านมากรมฯ ทำงานเชิงรุกเพื่อขับเคลื่อนระบบทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้เข้มแข็ง จนเกิดผลชัดเจนเป็นรูปธรรมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบจดทะเบียนแบบ Fast Track การให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างครบวงจร การส่งเสริมการสร้างสรรค์และใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนการกวดขันปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทุกรูปแบบ ดังเห็นได้จากในรายงานตลาดที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทั่วโลก (Notorious Markets) ประจำปี 2564 ซึ่งสหรัฐฯ ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก็ไม่ปรากฏย่านการค้าและตลาดออนไลน์ของไทยแต่อย่างใด ทั้งนี้ USTR อยู่ระหว่างการตั้งผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงาน Special 301 และกรมฯ จะเร่งสรุปแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับ USTR เพื่อให้ไทยหลุดจากบัญชี WL ต่อไป”
นายวุฒิไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมฯ ขอขอบคุณหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขัน โดยเชื่อมั่นว่าความร่วมมือนี้จะช่วยผลักดันให้ไทยหลุดจากบัญชี WL ได้สำเร็จ ทั้งนี้ กรมฯ จะมุ่งมั่นพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเสริมสร้างบรรยากาศทางการค้าและการลงทุนในประเทศ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างประเทศในการเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น”
สำหรับการประกาศสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศคู่ค้ารายสำคัญของสหรัฐฯ ในปีนี้ มี 7 ประเทศถูกจัดอยู่ในบัญชี PWL ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย รัสเซีย อาร์เจนตินา ชิลี และเวเนซุเอลา และมี 20 ประเทศที่ถูกจัดให้อยู่ในบัญชี WL ได้แก่ เวียดนาม ปากีสถาน เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน อียิปต์ อัลจีเรีย ตุรกี บาร์เบโดส โบลิเวีย บราซิล แคนาดา โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน เอกวาดอร์ กัวเตมาลา เม็กซิโก ปารากวัย เปรู ตรินิแดดและโตเบโก และไทย
ข้อมูลฉบับเต็ม :
https://ustr.gov/sites/default/files/
IssueAreas/IP/2022%20Special%20301%20Report.pdf
********************
ข้อมูล : กรมทรัพย์สินทางปัญญา
2 พฤษภาคม 2565