คอลัมนิสต์

ท่าน


20 พฤษภาคม 2024, 10:12 น.

 

นายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ <ท่าน> หนึ่ง <ท่าน> ติดตามอ่านเรื่องที่ผมเขียนเผยแพร่จากประสบการณ์จริง <ท่าน> ได้ให้คำแนะนำบางอย่างที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง และ <ท่าน> ยังได้เล่าเรื่องจริงจากประสบการณ์ตรงของ <ท่าน> ให้ผมฟัง ผมเห็นว่า เรื่องที่เล่านี้มีคุณค่าทางการสื่อสารด้วยภาษาแบบชนิดกลับลำ 360 องศาเลยทีเดียว ผมจึงขออนุญาต <ท่าน> นำมาเขียนเผยแพร่ในชื่อเรื่องว่า <ท่าน>

 

<ท่าน> เล่าว่า ในช่วงที่ <ท่าน> เป็น รอง ผบก.ภ.จว.นครนายก <ท่าน> ได้กวดขันกำชับกำชาผู้ใต้บังคับบัญชาในเรื่องการพูดจากับพี่น้องประชาชน และทุกภาคส่วนราชการ โดยเน้นการใช้คำแทนตัวเองว่า <ผม กระผม หรือดิฉัน> และให้คำแทนตัวบุคคลอื่น ด้วยคำเดียวว่า <ท่าน>

 

คำแทนตัวเองนั้น เป็นคำสุภาพ เรียบง่าย ใช้กันอยู่ทั่วไป แต่คำแทนตัวบุคคอื่นและภาคส่วนราชการอื่น คือคำว่า <ท่าน> นั้น เป็นคำพูดที่ยิ่งใหญ่ ให้เกียรติ และยกย่อง โดยเฉพาะคนธรรมดาที่ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ ไม่มียศฐาบรรดาศักดิ์ จะรู้สึกปลาบปลื้มและภาคภูมิใจ พอใจ กับคำคำนี้มากที่ตำรวจเรียกพวกเขาว่า <ท่าน>

 

วันหนึ่ง ผู้พิพากษาหนุ่มใหญ่ <ท่าน> หนึ่ง ขับรถยนต์ส่วนตัวไปเจอด่านตรวจของตำรวจ ตำรวจชั้นประทวนนายหนึ่ง ให้สัญญานมือจอดรถ พอผู้พิพากษาจอดรถ ตำรวจก็เดินไปทางด้านฝั่งคนขับ ผู้พิพากษาเปิดกระจกรถลงมาตำรวจยกมือทำท่าตะเบ๊ะ และพูดว่า <สวัสดีครับ <ท่าน>>

 

ผู้พิพากษายกมือรับไหว้และยิ้มรู้สึกพอใจที่ตำรวจรู้จัก <ท่าน> ตำรวจเอามือลงจากท่าตะเบ๊ะ พูดว่า <ขอดูใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ด้วยครับ> ผู้พิพากษาขมวดคิ้ว แต่ก็หยิบเอาใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ในกระเป๋าใส่สตางค์ ส่งให้ตำรวจดู ตำรวจดูใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ด้านหน้า ด้านหลังแล้วก็เดินดูรอบ ๆ รถเหมือนตรวจหรือจับผิดอะไรสักอย่างแต่ไม่พบความผิดใด ๆ จึงคืนใบอนุญาตขับขี่ให้ผู้พิพากษาไป และพูดว่า <ขอบคุณครับ <ท่าน>>

 

ผู้พิพากษาพยักหน้า รับใบอนุญาตขับขี่รถยนต์มาแล้ว เก็บใส่ในกระเป๋าสตางค์ปิดกระจกรถ ขับรถออกไปทันทีด้วยความรู้สึกยากอธิบาย

 

ต่อมา ผู้พิพากษาระดับชั้นผู้ใหญ่ <ท่าน> หนึ่ง ติดต่อมาหา ผบก.ภ.จว.นครนายก เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟัง ผบก.ฯ ได้มอบหมายให้รอง ผบก.ฯ <ที่เล่าเรื่องนี้> ไปพบผู้พิพากษาเพื่อประสานความเข้าใจในเรื่องที่เกิดขึ้น รอง ผบก.ฯ จึงเดินทางไปพบผู้พิพากษา ณ ที่ทำการของศาลได้พบกับผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ และผู้พิพากษาที่ถูกตำรวจตรวจใบอนุญาตขับขี่

 

หลังจากทักทายกันแล้วผู้พิพากษาที่ถูกตรวจใบอนุญาตขับขี่ พูดขึ้นก่อนว่า <ดู ๆ ครั้งแรก ก็เหมือนมีมารยาท ให้เกียรติกัน ทำความเคารพผม เรียกผมว่า <ท่าน> ทุกคำ อย่างนี้ก็แสดงว่ารู้จักผม ถ้ารู้จักผมแล้วทำไมถึงต้องขอตรวจใบอนุญาตขับขี่ ? ทำไมต้องเดินตรวจตรารอบรถเหมือนจับผิด ? ไม่ให้เกียรติกันเลยนี่>

 

รอง ผบก.ฯ พอฟังจบ ก็พูดขึ้นว่า <ตำรวจคนนั้น เขาอาจจะไม่รู้จัก <ท่าน> ก็ได้ครับ> 

 

ยังไม่ทันจะพูดต่อผู้พิพากษาก็พูดว่า <ทำไมจะไม่รู้จักก็เรียกผมว่า <ท่าน> มาตลอดทุกครั้งที่พูดกัน แสดงว่าต้องรู้จักผมแน่ ๆ>

 

รอง ผบก.ฯ ยิ้มเล็กน้อย แล้วพูดว่า <ผมขออนุญาตนำเรียน <ท่าน> ครับ ผมประชุมตำรวจลูกน้องทุกนายได้กำชับในการใช้คำพูดกับพี่น้องประชาชน และทุกภาคส่วนราชการอย่างนี้ครับ ให้ใช้คำแทนตัวเองว่า <ผม กระผม หรือดิฉัน> ให้ใช้คำแทนตัวบุคคลอื่นและทุกภาคส่วนราชการทั้งที่มียศและไม่มียศว่า <ท่าน>

 

ตำรวจผู้ตรวจคงจะไม่รู้จัก <ท่าน> แต่เขาก็ต้องเรียก <ท่าน> ว่า <ท่าน> ตามที่ผมได้แนะนำในการพูดไปครับ>

 

ผู้พิพากษาชั้นผู้ใหญ่ พอฟัง รอง ผบก.ฯ บอกเล่า ก็อดยิ้มไม่ได้ ผู้พิพากษาที่ถูกตรวจใบอนุญาตขับขี่ สีหน้าคลายความเครียดลง ยิ้มและพยักหน้าเล็กน้อยแสดงถึงความเข้าใจในเหตุการณ์แล้ว <ท่าน> ก็พูดว่า <ผมพอจะเข้าใจแล้วละ ผมคิดว่าที่เขาเรียกผมว่า <ท่าน> เพราะเขารู้จักผม ว่าผมเป็นใครที่แท้ คนละ <ท่าน> คนละความหมายนี่เอง>

 

รอง ผกบ.ฯ กล่าวขอบคุณ <ท่าน> ที่ <ท่าน> เข้าใจ แล้วเหตุการณ์ผ่านภาษา เรื่อง <ท่าน> ก็จบลงด้วยดีครับ <ท่าน>

 

พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท

ป.ล. : ผมกราบขอบพระคุณพี่เจ้าของเรื่องที่อนุญาตให้ถ่ายทอดเรื่องราวครับ

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด