ไฮไลท์

นายกฯ เปิดงาน SUBCON Thailand 2024 หวังดังบริษัทเวิลด์คลาสลงทุนไทย ตั้งเป้า 2 หมื่นล้านบาท


15 พฤษภาคม 2024, 18:55 น.

 

นายกฯ เปิดงาน SUBCON Thailand 2024 ยืนยันประเทศไทยเปิดสำหรับการลงทุน รัฐบาลเปิดการช่วยผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมท้องถิ่นของคนไทย ทุกครั้งที่เชิญชวนการลงทุนเสนอการใช้ชิ้นส่วนจากผู้ผลิตไทย ให้ชิ้นส่วนของไทยเป็นส่วนหนึ่งของ Supply Chain

 

วันนี้ (15 พ.ค. 67) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม Grand Hall 202 – 203 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน SUBCON Thailand 2024 จัดระหว่างวันที่ 15-18 พฤษภาคม 2567 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย (ไทยซับคอน) และบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 18 ภายใต้แนวคิด “The Global Sourcing Excellence” ชูศักยภาพการเป็นศูนย์กลางการจัดซื้อและรับช่วงการผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน โดยรวบรวมผู้ผลิตและผู้ซื้อชิ้นส่วนอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศไว้ในงานเดียว เป็นจุดนัดพบสำคัญสำหรับการจัดซื้อชิ้นส่วนในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ เครื่องมือแพทย์ การซ่อมบำรุงอากาศยาน และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เป็นต้น โดยมีประธานผู้แทนการค้าไทย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เอกอัครราชทูต ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสื่อมวลชนเข้าร่วมงาน

 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกฯ ได้ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้การสนับสนุนและร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมการรับช่วงการผลิตไทยให้มีความเข้มแข็งและเกิดการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่สำคัญทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง พร้อมกล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกปัจจุบันที่มีความผันผวนทั้งปัจจัยจาก Geo-politics สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ เป็นต้น แต่ด้วยการดำเนินนโยบายความเป็นกลางด้าน Geo-politics ของประเทศไทยตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมาจนถึงรัฐบาลนี้ ในจุดยืนความเป็นกลางด้านการเมืองที่เราไม่เป็นคู่ขัดแย้ง แต่เป็นผู้สนับสนุนการให้มีความสงบในทุก ๆ ภูมิภาคซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งสำหรับคนไทยทุกคน และจุดยืนของไทยที่มีความเป็นกลางด้าน Geo-politics สามารถส่งผลเชิงบวกอย่างมหาศาลต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย และเป็นจุดแข็งของการค้า การลงทุนในการดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้ โดยรัฐบาลได้เดินหน้าดึงดูดการลงทุนซึ่งมองหาความเป็นกลางนี้ โดยยืนยันนโยบายรัฐบาลประเทศไทยไม่ลำเอียงไปหาชาติใดชาติหนึ่ง มุ่งการค้าขายอย่างเดียวกับทุกประเทศ และยึดมั่นความสงบสุข เพื่อทำให้ขบวนการผลิตไม่สะดุดและเดินต่อไป

 

นอกจากนี้ นายกฯ กล่าวว่า ไทยยังมีจุดแข็งเรื่องของพลังงานสะอาดที่สามารถดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในไทยได้ ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องจริงจัง และขอความร่วมมือบริษัทขนาดใหญ่ต่าง ๆ ในการดำเนินการและสนับสนุนเรื่อง Supply Chain อุตสาหกรรมนี้ด้วย รวมไปถึงรัฐบาลได้เดินหน้าขยายเรื่อง FTA กับประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งศรีลังกา ตะวันออกกลาง ยุโรป อังกฤษ ฯลฯ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ หรือผู้ผลิตไทย สามารถส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งไทยยังมีศักยภาพในด้านต่าง ๆ ในการดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทย ทั้งเรื่องด้านการแพทย์ การมี International school ที่ดี Health care system ที่ World class รวมถึงการที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องความสะดวกในการทำธุรกิจ (Ease of Doing business) ที่จะมีการแก้ไขและพัฒนาต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Single Window และ One stop service ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการขับเคลื่อนเรื่องต่าง ๆ ดังกล่าวของรัฐบาลเป็นปัจจัยที่จะทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นและเชื่อใจในการที่จะมาลงทุนในประเทศไทยได้มากขึ้น

 

นายกฯ ย้ำถึงการเดินทางไปเยือนต่างประเทศในการดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในไทยว่า คณะผู้แทนไทยทุกคนคำนึงถึง Supply Chain ทั้งหมดของประชาชนไทยและภาคอุตสาหกรรมไทยที่จะต้องมาอยู่ในห่วงโซ่ทั้งหมดของอุตสาหกรรมผลิต โดยนโยบายของรัฐบาลได้มีการตั้งเงื่อนไขให้ต้องมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศ รวมถึงการถ่ายทอดด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี และทักษะแรงงาน เพื่อที่เราจะไม่ถูก Left behind และทำให้การพัฒนา Value chain ของอุตสาหกรรมไทยก็จะถูกพัฒนาไปพร้อมด้วยกับการที่มีบริษัทใหญ่ ๆ เข้ามาลงทุนในไทย

 

นายกฯ กล่าวถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า ไทยเคยเป็น Detroit of Asia มาก่อน โดยมีบริษัทใหญ่ ๆ ได้มาลงทุนในประเทศไทยทั้ง ฮอนด้า โตโยต้า อีซูซุ ที่มาลงทุนในประเทศไทย 50 -60 ปีแล้วและมีมูลค่าการลงทุนเป็นล้านล้านบาท ซึ่งประเทศไทยมาได้ไกลขนาดนี้ส่วนหนึ่งและส่วนใหญ่ก็เป็นเพราะอุตสาหกรรมยานยนต์และนักลงทุนจากญี่ปุ่นมาร่วมกันลงทุนตรงนี้ ไทยเองก็เป็นเจ้าบ้านในการให้การต้อนรับและสนับสนุนที่ดี และมี Supply Chain ที่แข็งแกร่ง ซึ่งตรงนี้ไทยก็ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไปรวมไปถึงอุตสาหกรรยานยนต์ของญี่ปุ่นด้วย โดยไทยก็มีการเจรจาและจะให้ Incentive อย่างต่อเนื่องในการที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรม EV ต่อไป ทั้งนี้การที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการส่งออกรถยนต์ได้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมก็มีความสำคัญ โดยรัฐบาลได้มีการดำเนินโครงการต่าง ๆ ทั้ง ระบบราง สนามบิน ท่าเรือน้ำลึกปัจจุบันอยู่ในเฟส 3 โครงการ Landbridge โครงการรถไฟความเร็วสูง ที่จะมาส่งเสริมการเป็น Supply Chain อุตสาหกรรมนี้และทำให้ประเทศไทยมีจุดยืนที่มั่นคงในเวทีการค้าโลกด้วย

 

นายกฯ ย้ำถึงนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ EV โดยนโยบาย 30@30 ผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งคณะกรรมการ EV กำหนดมาตรการส่งเสริมการใช้และการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการ EV3.5 สำหรับรถยนต์ รถปิกอัพและรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า มาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ทั้งรถบัส และรถบรรทุก เพื่อเพิ่มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในภาคการขนส่ง มาตรการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานและระบบนิเวศของอุตสาหกรรมที่ครบวงจร ขณะที่ BOI ส่งเสริมโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ ส่งผลให้มีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสูงเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน โดยปัจจุบันผู้ผลิต EV ค่ายจีนก็ได้ตัดสินใจเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และมีหลายเจ้าสร้างโรงงานใกล้จะเสร็จแล้ว

 

นายกฯ กล่าวถึงนโยบายอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ว่า เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องและเป็นหนึ่งใน Ignite Thailand ที่จะต่อยอดไปสู่ Upstream และ Smart Electronic มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ที่ผ่านมา BOI ได้ปรับปรุงการส่งเสริมให้ครอบคลุมกิจการสนับสนุนที่สำคัญ ในห่วงโซ่อุปทานของ Printed Circuit Board (PCB) ซึ่งจะช่วยเสริมความแข็งแกร่งและช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้เติบโตไปพร้อมกันด้วย ยืนยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และพร้อมสนับสนุน Supply Chain ทั้งหมด ซึ่ง SUBCON THAILAND ถือเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับภาคอุตสาหกรรมไทย โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเวทีนี้ถือเป็นเวทีที่สำคัญในการที่จะพบปะระหว่างผู้ผลิตและผู้ซื้อ หรือผู้ที่ให้ความสนใจในด้านนี้ ตลอดจนเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนไทยทุกคนในการที่มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศไทยต่อไป ยืนยันประเทศไทยเปิดแล้ว รัฐบาลนี้เปิดแล้วที่จะช่วยภาคอุตสาหกรรมท้องถิ่น อุตสาหกรรมของคนไทยให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเรื่องของ Supply Chain ทั้งหมดของประเทศไทยเพื่อให้มีการเจริญเติบโตควบคู่ประเทศที่มีการพัฒนาแล้ว

 

ภายหลังพิธีเปิดงานฯ นายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมการจัดแสดงผลิตภัณฑ์และกิจกรรมภายในงาน ณ บริเวณหน้า Hall 103 ชั้น 1 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนาด้วย

 

สำหรับไฮไลท์ของการจัดงานในปีนี้ คือ กิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการชิ้นส่วนไทยและบริษัทรายใหญ่จากทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 9,000 คู่ คาดว่าจะสร้างมูลค่าเชื่อมโยงกว่า 2 หมื่นล้านบาท พร้อมด้วยกิจกรรมพิเศษ “BOI Symposium: EV Supply Chain” ซึ่งจะมีบริษัทยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งแผนการจัดซื้อและสนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนในประเทศอีกทั้งภายในงานยังมีการจัดแสดงอุตสาหกรรมสนับสนุนของไทยและภูมิภาคอาเซียน การจัดแสดงชิ้นส่วนของบริษัทผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศที่มีความต้องการจัดซื้อจัดหาจากผู้รับช่วงการผลิต (Buyers’ Village) การแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ (Innovation Showcase) รวมถึงงานสัมมนาเสริมสร้างความรู้และโอกาสในการดำเนินธุรกิจแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ทั้งนี้ BOI Symposium: EV Supply Chain เป็นกิจกรรมสำคัญที่บีโอไอจะนำ 7 ค่ายรถยนต์ EV รายใหญ่ที่ลงทุนในไทยคือ BYD, MG, Great Wall Motor, Neta, Changan, GAC Aion และ Chery มานำเสนอทิศทางของอุตสาหกรรม EV รวมถึงแผนการจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนในประเทศ เพื่อช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ โดยเฉพาะ SMEs ไทย ให้เข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของกลุ่มอุตสาหกรรม EV พร้อมยกระดับให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกต่อไป

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดไฮไลท์

เรื่องล่าสุด