ไฮไลท์

“ภูมิธรรม” ลุยญี่ปุ่น ชวนสมาพันธ์เอกชนรายใหญ่ญี่ปุ่นลงทุนไทย พร้อมให้ไทยเป็นฐานการผลิต


11 พฤษภาคม 2024, 10:19 น.

 

“ภูมิธรรม” ลุยญี่ปุ่น ชวนสมาพันธ์เอกชนรายใหญ่ญี่ปุ่นลงทุนไทย เครื่องมือแพทย์ รถไฟ อากาศยาน นวัตกรรม พลังงานสะอาดและสีเขียวรับกติกาโลกใหม่ พร้อมให้ไทยเป็นฐานการผลิตสร้างแต้มต่อการค้าระหว่างกัน

 

 

วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 เวลา 8.30 น. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายซูซูกิ จุน ประธานคณะกรรมการการค้าและเศรษฐกิจญี่ปุ่น–ไทย ภายใต้สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) ที่โรงแรม Imperial กรุงโตเกียว เย็นวานนี้ (10 พ.ค.67) เพื่อผลักดันเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันและชวนมาลงทุนในไทย ว่า ไทย-ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าที่ดีมาอย่างยาวนาน โดยในปี 2566 ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย และญี่ปุ่นถือเป็นประเทศศักยภาพที่สำคัญของไทยในด้านการลงทุน โดยลงทุนสะสมในไทยมากเป็นอันดับ 1 เป็นสัดส่วนการลงทุนถึง 1 ใน 4 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด ตนจึงได้เชิญชวนนักลงทุนญี่ปุ่น เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น และรัฐบาลไทยพร้อมที่จะสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้กับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ไทยได้มีการยกเว้นวีซ่านักธุรกิจญี่ปุ่นนาน 30 วัน

 

ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ ได้เสริมสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจแก่นักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย โดยเฉพาะข้อเรียกร้องภาคเอกชนญี่ปุ่นในไทยที่ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ปลดล็อกให้คนต่างด้าวหรือคนญี่ปุ่นสามารถถือหุ้นข้างมากในธุรกิจต่าง ๆ ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวได้ง่ายขึ้น

 

 

ขณะเดียวกัน ได้เชิญชวนให้นักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในธุรกิจสีเขียว โดยได้แจ้งว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทยให้สอดรับกับกฎกติกาใหม่ ๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อความยั่งยืน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ใช้พลังงานสะอาด แต่ในการเปลี่ยนผ่านการผลิตรถยนต์จากรถเครื่องยนต์สันดาปไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าร่วมกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่น จะมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยบางส่วน ประมาณ 800 บริษัท จะต้องผันตัวไปสู่อุตสาหกรรมอื่น จึงอยากจะขอทางเคดันเรน ช่วยเป็นสื่อกลางการเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มผู้ผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รถไฟ อากาศยาน และ Automation Robotic ของญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดการร่วมลงทุนและการค้าระหว่างสองประเทศในด้านดังกล่าวนี้เพิ่มขึ้นต่อไป

 

นอกจากนี้ ตนทราบมาว่าภาคเอกชนญี่ปุ่นที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ก็ได้ทำโครงการดี ๆ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียวมากมาย เช่น โครงการผลิตเส้นใยชั้นสูงจากขวด PET (High-functional recycled polyester fibers deri ved from recycled PET bottle) ของบริษัท TEIJIN ในไทยของท่านรองประธาน ก็เป็นโครงการที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง และอยากจะขอให้ทางเคดันเรน ช่วยผลักดันโครงการสีเขียวอื่น ๆ ผ่านสมาชิกในประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการแบ่งปันความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างสองประเทศด้วย

 

 

ทางด้านเคดันเรนได้แจ้งว่า นักธุรกิจญี่ปุ่นมองไทยเป็นฐานหลักในการทำธุรกิจ มีความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นต่อกันมาอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการญี่ปุ่นกว่า 5,800 บริษัท ทั้งภาคการผลิตไปจนถึงภาคบริการ ประกอบธุรกิจอยู่ในประเทศไทย กล่าวได้ว่า สำหรับภาคธุรกิจญี่ปุ่น ประเทศไทยเป็นฐานหลักซึ่งสำคัญที่สุด และไทยยังมีความสำคัญมากขึ้น เพราะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นหลักสำคัญแห่งหนึ่งใน Supply Chain ระดับโลก และได้เชิญชวนให้นายภูมิธรรม ร่วมการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Japan-Thailand Trade and Economic Committee) ครั้งที่ 25 ในช่วงเดือนธันวาคมปีนี้ ที่กรุงโตเกียวด้วย และหวังให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียน ด้านการค้าและการลงทุนแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไป

 

ทั้งนี้ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า เคดันเรน เป็นองค์กรธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น โดยมีสมาชิกเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น มีสมาชิกที่เป็นบริษัทญี่ปุ่นถึง 1,548 แห่ง สมาคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 154 แห่ง และองค์กรเศรษฐกิจระดับภูมิภาค 47 จังหวัด

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดไฮไลท์

เรื่องล่าสุด