การเมือง

กองทัพต้องอยู่ใต้พลเรือน ก้าวไกลหนุน “สุทิน” แก้กฎหมายกลาโหม สกัดการปฏิวัติ


22 เมษายน 2024, 13:00 น.

 

กองทัพต้องอยู่ใต้พลเรือน : ก้าวไกลเห็นด้วยแก้กฎหมายกลาโหม 2 ฉบับ แต่ต้องแก้ให้ถึงแก่น อย่าปล่อยให้เสียโอกาส 

 

ภาพจาก : ไทยโพสต์

 

จากการประชุมสภากลาโหมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อเสนอให้สภากลาโหมเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และร่าง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร โดยมีสาระสำคัญของการปรับแก้ เช่น

 

กำหนดเงื่อนไขการแต่งตั้งทหารชั้นนายพลว่าต้องไม่เคยมีพฤติกรรมเป็นผู้มีอิทธิพล ไม่เคยเกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย ไม่เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม และไม่อยู่ระหว่างการถูกสอบวินัยหรือต้องคดีอาญา

  • ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีขอความเห็น ครม.ในการสั่งพักราชการทหารได้ หากพบว่ามีการใช้กำลังทหารยึดอำนาจหรือก่อกบฏ
  • เพิ่มสัดส่วนสมาชิกสภากลาโหมที่ รมว.กลาโหมแต่งตั้ง จาก 3 เป็น 5 คน
  • ยกเลิกศาลจังหวัดทหาร และให้ผู้เสียหายมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาเองได้ทั้งในเวลาปกติและเวลาไม่ปกติ รวมถึงมีสิทธิอุทธรณ์ได้โดยตรงต่อศาลทหารสูงสุดในเวลาไม่ปกติ เว้นแต่อยู่ในสถานการณ์การรบหรือสงคราม

 

ภาพจาก : Nation TV

 

ต่อกรณีนี้  Wiroj Lakkhanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร  สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และประธานคณะกรรมาธิการการทหาร กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ เพียงแต่มีจุดที่ขอเสนอแนะเพิ่มเติมให้แก่ รมว.กลาโหม โดยเฉพาะการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม จะต้องแก้ไขให้ตรงจุด โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการทำให้กองทัพยุติการเป็นรัฐซ้อนรัฐ และต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน

 

สภากลาโหมควรมีกรอบอำนาจหน้าที่ในการให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเท่านั้น โดยสิทธิในการทักท้วงควรจะมีเฉพาะในประเด็นสำคัญ ไม่ควรมีอำนาจครอบงำการตัดสินใจของรัฐมนตรี ดังนั้น จำนวนสมาชิกในสภากลาโหมนอกจากจะต้องปรับลดลงแล้ว ยังควรเพิ่มสัดส่วนของพลเรือนในสภากลาโหมให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้การแต่งตั้งทหารระดับนายพลสมควรที่จะมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและมีความโปร่งใส

 

สำหรับ พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร หัวใจสำคัญคือการให้บทบาทกับศาลยุติธรรมมากขึ้น ศาลทหารควรถูกใช้ในภาวะสงครามเท่านั้น และโครงสร้างของศาลทหารจะต้องมีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างผู้พิพากษา อัยการ และทนายความ เพราะหากศาลทหารถูกตั้งข้อสงสัยจากนายทหารว่าไม่มีความเป็นธรรม หรือสามารถวิ่งเต้นใช้อำนาจระดับบังคับบัญชาแทรกแซงได้ ก็เสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเกิดความรุนแรงและระบบศาลเตี้ยในแวดวงทหาร เหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นที่จังหวัดนครราชสีมา

 

“การแก้ไขกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ จะต้องแก้ไขให้ถึงแก่น ถ้าแก้ไขแบบผิว ๆ จะเป็นการเสียโอกาสอย่างมาก”

 

ภาพจาก : MGR Online

 

ด้าน ธนเดช เพ็งสุข สส.กรุงเทพฯ เขต 13 พรรคก้าวไกล และรองประธานคณะกรรมาธิการการทหาร ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ฉบับพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอชื่นชมและสนับสนุนการเดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ตนหวังอยากเห็นความกล้าหาญและความจริงใจของ รมว.กลาโหมในการเดินหน้าปฏิรูปกองทัพ หรือจะเรียกว่าพัฒนาร่วมกันตามคำของนายกฯ ก็ตาม

 

ทั้งนี้ในร่างของพรรคก้าวไกล เราเสนอแก้ไขมาตรา 25 เช่นกัน ให้การพิจารณาแต่งตั้งนายพลดำเนินการด้วยระบบคุณธรรม คัดเลือกผู้มีคุณสมบัติตามมาตรฐานของตำแหน่งต่าง ๆ โดยกำหนดให้คณะกรรมการที่ส่วนราชการตั้งขึ้นพิจารณาในขั้นตอนแรกก่อน แล้วจึงส่งต่อให้ รมว.กลาโหมพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของกระทรวง ทั้งนี้ ต้องตัดสิ่งที่เรียกว่า “ซูเปอร์บอร์ด” ในกฎหมายเดิมออก เพราะถูกตั้งขึ้นเพื่อลดบทบาทของ รมว.กลาโหมให้เป็นเหมือนตรายางรับรองเท่านั้น

 

“ประเด็นนี้สำคัญตรงที่ว่าหากคุณสุทินไม่ตัดทิ้งซูเปอร์บอร์ดเพื่อดึงอำนาจกลับมาที่ รมว.กลาโหม อาจแปลได้ว่าสุดท้ายความมุ่งหวังที่อยากเห็นกองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนผ่านความพยายามแก้ไขกฎหมาย ก็อาจเลือนราง”

cr. พรรคก้าวไกล – Move Forward Party

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดการเมือง

เรื่องล่าสุด