วันที่ 11 เมษายน 2567 เวลา 13.30 น. : นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำสิ่งที่ผิดกฎหมายเข้ามาในราชอาณาจักร อาทิ ยาเสพติด บุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ บุหรี่กัญชา สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน (สมอ.) สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สินค้าเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง นั้น กรมศุลกากรได้ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยเพิ่มความเข้มงวดในการดำเนินงานตามด่านศุลกากรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ อีกทั้ง ยังบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานข้อมูลด้านการข่าวและลงพื้นที่ปราบปรามผู้กระทำผิดในการลักลอบนำสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในและออกไปนอกราชอาณาจักร
โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 4 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา กรมศุลกากรตรวจยึดสิ่งผิดกฎหมายเข้ามาในและออกไปนอกราชอาณาจักร จำนวนรวมทั้งสิ้น 2,307 คดี มูลค่า 644,762,297 บาท
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.ยาเสพติด อาทิ เฮโรอีน โคคาอีน ECSTASY ตรวจยึดได้ 79 คดี จับกุมผู้ต้องหาได้ 34 ราย จำนวน 321,511 เม็ด 219.23 กิโลกรัม มูลค่า 438,953,454 บาท ซึ่งประเภทยาเสพติดที่สามารถตรวจยึดได้มากที่สุด คือ เฮโรอีน จำนวน 28 คดี รองลงมาคือ โคเคอีน จำนวน 17 คดี
2.กัญชา (นอกเหนือจากช่อดอกและสารสกัดชนิดต่าง ๆ จากกัญชาที่ยังถือว่าเป็นยาเสพติด) ตรวจยึดได้ 275 คดี ปริมาณ 4,831 กิโลกรัม มูลค่า 6,736,638 บาท
3.บุหรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า /บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า ตรวจยึดได้ 169 คดี จำนวน 262,693 ชิ้น มูลค่า 33,224,177 บาท
4.บุหรี่ซิกาแรต ตรวจยึดได้ 1,004 คดี จำนวน 14,337,351 มวน มูลค่า 84,740,763 บาท
5.สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน (สมอ.) ตรวจยึดได้ 18 คดี จำนวน 210,936 ชิ้น มูลค่า 52,310,000 บาท
6.สินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตรวจยึดได้ 306 คดี จำนวน 124,635 ชิ้น มูลค่า 11,986,665 บาท
7.สินค้าเกษตร อาทิ กระเทียม ส้ม หอมแดง มะพร้าวและมะพร้าวฝอย ตรวจยึดได้ 302 คดีปริมาณ 409,397 กิโลกรัม มูลค่า 13,868,245 บาท
8.น้ำมันเชื้อเพลิง ตรวจยึดได้ 154 คดี ปริมาณ 110,643 ลิตร มูลค่า 2,942,355 บาท
ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้เพิ่มความเข้มงวดในการป้องกันและปราบปรามสินค้าผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติพิธีการให้มีความรวดเร็ว ลดขั้นตอน โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการปฏิบัติงาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป