“รองนายกฯ สมศักดิ์” ห่วงชาว “ไทย – ลาว” ริมโขง หลังสารเคมีรั่วลงแม่น้ำโขง สั่ง สทนช. เกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด เผย ตรวจคุณภาพน้ำ จ.เลย ยังใช้น้ำได้ปกติ แต่จะเฝ้าระวังถึง 12 เม.ย.นี้ เตือน 7 จังหวัดริมโขง ติดตามสถานการณ์น้ำด้วย
วันที่ 8 เมษายน 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย เปิดเผยถึงกรณีสารเคมีรั่วไหลลงแม่น้ำโขงว่า ตนได้รับรายงานว่า ที่สปป.ลาว ได้เกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ส่งผลให้มีกรดซัลฟิวริก (Sulfuric acid) หรือ กรดกำมะถัน รั่วไหลเข้าสู่แม่น้ำคาน ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลผ่านเมืองหลวงพระบาง ไปถึงเขื่อนไซยะบุรี แล้วไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรี ออกไปยังพรมแดนไทย – ลาว
“จุดที่เกิดเหตุ ถึง อ.เชียงคาน จ.เลย มีระยะทางประมาณ 340 กิโลเมตร จะใช้ระยะเวลาการเดินทางของน้ำ 3 วัน โดยภายหลังเกิดเหตุ ผมได้กำชับ สทนช.ให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะมีความห่วงใยชาวริมโขงของทั้งสองประเทศ ที่อาจได้รับผลกระทบ ซึ่ง สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ก็ได้เร่งรัดประสานงานกับสำนักเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) และ สปป.ลาว ตามแนวทางปฏิบัติด้านเทคนิคของระเบียบปฏิบัติเรื่องคุณภาพน้ำ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สทนช. ยังได้ประสานกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานของประเทศไทย (National Focal Point) เพื่อติดตามความรุนแรงของสถานการณ์และคุณภาพน้ำ โดยผลจากการตรวจวัดค่าคุณภาพน้ำ ความเป็นกรด-ด่าง (pH) ปัจจุบันได้ค่าเท่ากับ 8 ถือว่า คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ สัตว์น้ำและคนสามารถใช้น้ำได้โดยปลอดภัย แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะยังคงร่วมปฏิบัติตามแผนดำเนินการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในพื้นที่ อ.เชียงคาน และ อ.ปากชม อย่างเคร่งครัด โดยเฝ้าระวังคุณภาพน้ำจำนวน 3 จุด ในเวลา 09.00 น. และ 15.00 น. ตั้งแต่วันที่ 5 – 12 เม.ย.67
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ถือว่าแม่น้ำโขง บริเวณ จ.เลย ยังไม่ได้รับผลกระทบ แต่จะยังคงมีการติดตามเฝ้าระวังและแจ้งให้กับประชาชนทราบจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่ง สทนช. จะมีการประสานงาน ทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง พร้อมขอเน้นย้ำประชาชนในพื้นที่ จ.เลย จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ จ.นครพนม จ.มุกดาหาร จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุบลราชธานี ให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดด้วย