คอลัมนิสต์

ห้าเสือโรงพัก


25 มีนาคม 2024, 15:48 น.

 

<ห้าเสือโรงพัก>

 

สถานีตำรวจ หรือ สน. หรือ สภ. หนึ่งแห่งนั้น โดยหลักการทั่วไป มี ผกก. เป็น หน. และยังมี รอง ผกก.ป., รอง ผกก.สส., สวป., สว.สส. รวมกันเรียกว่า <ห้าเสือโรงพัก>

 

เวลามีอาชญากรรมเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร เช่น เกี่ยวกับชีวิตร่างกาย ทรัพย์ เพศ ยาเสพติด และสถาบัน เหล่านี้เป็นต้น <ห้าเสือโรงพัก> จะรับผิดชอบ ทำการสืบสวน ปราบปราม และจับกุมดำเนินคดี

 

การบังคับใช้กฎหมายนั้น หาใช่มีเพียงตำรวจหน่วยเดียวไม่ ความผิดตาม พ.ร.บ.ต่าง ๆ ก็มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่เช่นกัน บางหน่วยงาน ก็มีหน้าที่คล้ายตำรวจทำงานควบคู่กันไป ในพื้นที่เดียวกัน คือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง

 

มีความผิดทางอาญาบางประเภท ที่เป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมากับตำรวจ เช่น พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ร.บ.การพนัน เป็นต้น

 

ถ้ามีการฝ่าฝืน มีการทำผิดกฎหมายขึ้นมาเมื่อไหร่ ตำรวจจับกุมดำเนินคดีถือว่าเป็นเรื่องปกติ ถือว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่

 

แต่ถ้าบังเอิญหน่วยงานฝ่ายปกครอง เป็นฝ่ายจับกุม โดยตำรวจไม่ได้เข้าร่วมจับกุมด้วย ตำรวจจะกลายเป็นจำเลยของสังคม และกลายเป็นเหยื่ออันโอชะของผู้บังคับบัญชาทันที

 

<ห้าเสือโรงพัก> จะโดนเล่นงาน โดยมีคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานที่อื่น เช่น ศปก. โดยอ้างว่า เพื่อความสะดวกในการสอบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริง ใช้เวลาเป็นเดือน หรือหลาย ๆ เดือน ลงโทษบ้าง ไม่ลงโทษบ้าง พอถึงฤดูกาลแต่งตั้ง โยกย้าย อยู่ที่เดิมบ้าง โดนย้ายบ้าง ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน

 

ผมมีความสงสัย มานานเนกาเลแล้วว่า <เวลาที่หน่วยงานฝ่ายปกครองออกโรงจับกุมความผิดตาม พ.ร.บ.สถานบริการ หรือ พ.ร.บ.การพนัน ทำไมผู้บังคับบัญชาของตำรวจ ต้องสั่งดำเนินการลงโทษกับ <ห้าเสือโรงพัก>

 

เพราะทุก ๆ ครั้งที่ตำรวจ เป็นฝ่ายจับกุมเพียงฝ่ายเดียว หน่วยงานฝ่ายปกครองไม่ได้ร่วมจับกุมด้วย ผู้บังคับบัญชาของฝ่ายปกครอง ไม่เคยสั่งให้ลูกน้องที่ดูแลพื้นที่ไปปฏิบัติราชการที่อื่น หรือสั่งลงโทษลงทัณฑ์แต่อย่างใด ไม่เคยเห็น ไม่เคยได้ยิน ไม่เคยได้ข่าวจริง ๆ มีแต่ตำรวจเท่านั้นที่ตื่นเต้น ตูมตาม ไปตามกระแส>

 

<ห้าเสือโรงพัก> จำต้องกลายร่างเป็น <ห้าแพะโรงพัก> ถูกเซ่นสังเวยทันที เพื่อทำให้ผู้บังคับบัญชา รู้สึกดีและดูดี

 

แต่ถ้ามีพยานหลักฐานว่า <ห้าเสือโรงพัก> รู้เห็นเป็นใจ มีผลประโยชน์ มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือปล่อยปละละเลยในการกระทำความผิดนั้น ๆ ในพื้นที่ ก็ต้องพิจารณาลงทัณฑ์ไปตามโทษานุโทษ

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้บังคับบัญชา ที่อยู่ระดับเหนือ <ห้าเสือโรงพัก> ขึ้นไป ก็จักต้องเป็นผู้มีความบริสุทธิ์ ไม่รู้เห็นเป็นใจ ไม่รับผลประโยชน์ ไม่มีส่วนได้เสีย กับการกระทำความผิดเหล่านั้นทั้งทางตรงและทางอ้อมด้วย ไม่ทำตัวแบบ <เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง>

 

การตรวจสอบ ต้องดำเนินการไปให้ถึงที่สุด แบบที่เรียกว่า <สุดซอย>

 

ถ้าพบว่า มีหน่วยงานใดเข้ามาเกี่ยวข้อง ในการกระทำผิดด้วย ก็ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไป ของหน่วยงานนั้นทราบ ส่วนเขาจะดำเนินการอะไร อย่างไร ก็เป็นดุลยพินิจของเขา ถือว่าตำรวจ ได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แล้ว

 

มีวิธีการตั้งมากมาย ที่จะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความเข้มงวดกวดขัน ในการปฏิบัติหน้าที่ รักเกียรติ รักศักดิ์ศรี มีวินัย โดยตัวผู้บังคับบัญชาเองจักต้องมีหลักเกณฑ์ในการทำงานที่มากกว่าทำตามกฎหมายและระเบียบวินัย อาทิเช่น มี <หลักธรรมาภิบาล> คือ นิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบ และความคุ้มค่า

 

มี <อิทธิบาท 4> คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา

 

มี <พรหมวิหาร 4> คือ เมตตา กรุณา มุฑิตา อุเบกขา

 

ต้องไม่มี <พรหมพินาศ 4> คือ บ้าอำนาจ ฉ้อราษฎร์บังหลวง หลอกลวงลูกน้อง ยกย่องคนเลว <ไม่มีอยู่ในตำราใด ๆ แต่นายบางคนชอบทำ>

 

ต้องสนับสนุนอุปกรณ์การทำงาน ไม่ใช่ให้ลูกน้องหาซื้อมาเอง ด้วยเงินลูกน้อง เพื่อทำงานให้หลวง มันอุบาทว์ มันน่าอาย

 

ไม่หักหรืออมเบี้ยเลี้ยง ต้องจ่ายเต็มตามสิทธิ์ งานใดที่มีเบี้ยเลี้ยงพิเศษ ต้องจัดสรรอย่างเป็นธรรมตามยอดจริง มิใช่ <เป็นธรรมตามยอดที่เป็นเท็จ>

 

ขั้น ต้องให้ตามความรู้ความสามารถ และผลงาน

 

ยศ ตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย ไม่ข้ามกฎ งดระเบียบ เพื่อใครบางคน บางกลุ่ม หรือบางพวก

 

การเป็นผู้บังคับบัญชาในปัจจุบันนี้ กฎหมายรัฐธรรมนูญ ยังได้มีการกำหนดเรื่อง <จริยธรรม> เอาไว้ด้วย

 

<จริยธรรม> นั้น ค่อนข้างกว้าง มีตัวอย่างมาแล้วหลายคนที่โดนศาลฎีกาตัดสินว่า <ผิดจริยธรรม> แม้จะไม่มีความผิดทางกฎหมายอาญาก็ตาม

 

ผู้บังคับบัญชา จึงจักต้องประพฤติ ปฏิบัติตน ให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา

 

ทำให้ <เสือ> เป็นเสือจริง ๆ อย่าให้เป็น <แพะ> เลย อายหน่วยอื่นเขา อายชาวบ้านเขา

 

<เมื่อลูกน้อง ไม่ต้องเป็น <แพะ> ที่ถูกบูชายัญ นาย ก็ไม่ต้องเป็น <เด็กเลี้ยงแกะ> ที่คอยพูดเพื่อเอาตัวรอด>

 

<เมื่อลูกน้องเป็น <เสือ> ที่น่าเกรงขาม นายก็จะเปรียบเสมือน <สิงห์> ที่สง่างาม>

 

ถ้าทำให้ลูกน้องดีไม่ได้ นายก็ควรพิจารณาตัวเอง

 

พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท

 

ป.ล.

คุณ ป.มท. คุณมาตำหนิตำรวจได้อย่างไร ในเมื่อต้องรับผิดรับชอบร่วมกันตามหน้าที่ หน้างาน อยู่แล้ว สถานบริการ คุณก็มีหน้าที่ออกใบอนุญาตเล่นการพนันบางประเภท คุณก็มีหน้าที่ออกใบอนุญาต พูดอย่างนี้ เขาเรียกว่า ตีหัวเข้าบ้าน เอาตัวรอด ไม่แมนเลย

 

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด