คอลัมนิสต์

ปราบโกง


20 มีนาคม 2024, 14:58 น.

 

<<ปราบโกง>>

 

สังคมที่สับสนวุ่นวายอยู่ทุกวันนี้เพราะมีพวก <คนขี้โกง> ปะปนอยู่ในสังคมนั้น ๆ ดังนั้น จึงต้องหาวิธีการเพื่อกำจัดพวก <คนขี้โกง> เหล่านั้น

 

ผมขอเสนอแนวทางโบร่ำโบราณเพื่อเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่ง ไม่ลองไม่รู้ครับ

 

<<โองการแช่งน้ำ>> 

 

การทุจริต คดโกง หรือที่พูดกันติดปากว่า <คอรัปชั่น> เป็นการประพฤติมิชอบทั้งทางโลกและทางธรรม แต่ผู้คนทั่วไป ทุกสาขา ทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ข้าราชการ ผู้ประกอบการ ผู้รับจ้าง หรือแม้แต่ผู้อาสา ก็มิได้รู้สึกรู้สา รู้สำเหนียกแต่อย่างใด

 

มีแต่ดวงจิตที่คิด กอบ โกย โกง กิน เอารัดเอาเปรียบให้ได้มาก ให้มีมาก ยิ่งกว่าคนอื่น ยิ่งมากยิ่งดีโดยไม่สนใจว่าวิธีการจะเป็นอย่างไร ?

 

โดยไม่มีความยำเกรง ไม่มีความเคารพ ต่อกฎหมาย กฎสังคม และ กฎแห่งกรรม

 

เพราะอะไร ? เพราะ <<กฎหมาย>> มีการตีความ มีช่องว่างให้ต่อสู้ มีการพิจารณาถึง 3 ศาลคือ ชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ ชั้นฎีกา

 

ในเหตุการณ์แบบเดียวกัน ขนาดคำพิพากษาฎีกา ที่ว่าสูงสุดแล้ว ต่อมา ก็ยังมีคำพิพากษาฎีกาใหม่มาทับเป็นอีกความเห็นหนึ่ง

 

เพราะ <<กฎสังคม>> คำกล่าวแบบไทย ๆ <มีเงินเป็นน้อง มีทองเป็นพี่> คำกล่าวแบบจีน ๆ <มีเงินจ้างผีโม่แป้งได้> 

 

แสดงให้เห็นว่า ผู้คนทั่วไปในสังคมนับถือคนที่มีเงินมีทองโดยไม่ได้ใส่ใจว่าเขาจะร่ำรวยมาจากไหน เพราะเงินทองตัวเดียว จากไอ้ดำ ก็เป็นพี่ดำ จากไอ้นก ก็เป็นพี่นก จากไอ้ตี๋ ก็กลายเป็นเฮีย

 

สังคมมิได้สอนให้นับถือคนดี

 

คำกล่าวที่ว่า <รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา> ก็เข้าใจความหมายยากเหลือเกินว่า <รักดี ทำไมต้องไปหามจั่ว> จะมีก็ในมงคล 38 ประการอันเป็นคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มงคลที่ 3 <บูชา คนที่ควรบูชา>

 

เพราะคนดี ย่อมสอน ย่อมแนะนำแต่สิ่งที่ดี ทำให้ ไม่กอบโกย ทำให้ มีน้อยกว่าคนอื่น ทำให้ ได้น้อยกว่าคนอื่น เป็นความสุขทางใจ ที่เป็น <นามธรรม> จึงไม่ค่อยมีคนสนใจ

 

คงลืมคิดไปว่า <กินอิ่ม นอนอุ่น พูดได้ ไอดัง> นั่นคือความสุขที่เป็น <รูปธรรม>

 

เพราะ <<กฎแห่งกรรม>> คำกล่าว คำสอน ที่ว่า <ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว> เป็นกฎของธรรมชาติที่จริงแท้แน่นอน ได้รับผลแน่ แต่…อาจนานเกินรอ

 

ลองมาใช้วิธีการของคนยุคเก่าก่อน ย้อนหลังไปหลายร้อยปีกันดูบ้างว่าเขาทำกันอย่างไร ?

 

 

<ในสมัยโบราณ> ตั้งแต่ยุคต้นของกรุงศรีอยุธยามี <ลิลิตโองการแช่งน้ำ> ซึ่งเป็น <วรรณกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงศรีอยุธยา> 

 

เป็นการพรรณนาถึงการทำพิธีอันศักดิ์สิทธิ์ คือการสาบานตนของเหล่าทหาร ขุนนาง ข้าราชบริพาร มิให้ผู้ใดกล้าคิดคดทรยศ เพราะกลัวคำสาปแช่งที่อ้างอิงถึงอำนาจลึกลับ

 

เพื่อคงไว้ซึ่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการปกครองแผ่นดิน

 

<ในปัจจุบัน> บ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรืองผ่านยุค เปลี่ยนสมัย ไปตามกระแสสังคมโลก

 

<ประเทศไทย> เปลี่ยนการปกครองจากระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุขตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475

 

มีการเลือกและแต่งตั้ง ผู้แทนของประชาชนเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎร คือ สว. และ สส. มีรัฐบาลมาบริหารประเทศมีนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี มีฝ่ายค้าน

 

เป็นเวลากว่าเก้าสิบปีประชาธิปไตย ยังล้มลุกคลุกคลาน มีปฏิวัติ รัฐประหาร เป็นระยะ ๆ

 

สาเหตุที่ชอบอ้างกันคือ <นักการเมืองโกงกิน>

 

ขณะที่วันนี้ มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

 

จึงฉุกคิดว่า <น่าจะย้อนอดีต รื้อฟื้นเอาโองการแช่งน้ำ มาใช้อีก> โดยเน้นไปที่ นักการเมืองข้าราชการ และองค์กรอิสระ

 

<นักการเมือง> ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฏร ลงไปถึง สว. สส. นายก อบจ.

 

<ข้าราชการ> ตั้งแต่ปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด ผบ. 3 ทัพ 4 เหล่า หรือเทียบเท่าทุกตำแหน่งหน้าที่ราชการ

 

<องค์กรอิสระ> ประธานองค์กร

 

บุคคลดังที่กล่าวมาทั้งหมดให้เข้าร่วมพิธีโองการแช่งน้ำ <ในส่วนกลาง> ดื่มนำพระพิพัฒน์สัตยาปฏิญาณสาบานตน ด้วยถ้อยคำสาปแช่งรุนแรง

 

จากนั้นให้ทุกตำแหน่งหน้าที่ดังที่กล่าวมาแล้วนำรูปแบบของพิธีการโองการแช่งน้ำไปให้บุคลากรในหน่วยทุกคน ปฏิบัติตาม

 

<ฝ่ายการเมือง> ในจังหวัดตั้งแต่ รองนายก อบจ. และเทศบาลลงไป จนถึงระดับ อบต. ปฏิบัติตาม

 

<ฝ่ายราชการ> ในจังหวัดตั้งแต่ รอง ผวจ. หน.ส่วนราชการระดับจังหวัด ลงไปจนถึง ระดับกำนัน ผญบ. ปฏิบัติตาม

 

<ฝ่ายองค์กรอิสระ> ในจังหวัดตั้งแต่รองประธานฯ หรือรองหัวหน้าฯ ลงไปปฏิบัติตาม

 

พิธีการอันศักดิ์สิทธิ์ เร้นลับแต่โบราณกาลแฝงด้วยความเข้มขลังของบทสวด คำสาบาน และคำสาปแช่ง น้ำพระพิพัฒน์สัตยา ที่ดื่มเข้าไปในร่างกายจะทำให้เกิดความยำเกรง เกรงกลัวต่อการประพฤติผิด คิดไม่ชอบไม่กล้าจะ กอบ โกย โกง กิน ทุจริต คอรัปชั่น แต่จะก่อให้เกิดพลังในการทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์ สุจริต และดีงาม

 

การทำพิธีโองการแช่งน้ำควรทำทุกปี หรือพิจารณาตามความเหมาะสม

 

โองการแช่งน้ำนี้ ไม่กลัวว่าจะมีใครไปแอบถอนคำสาบาน เพราะโองการแช่งน้ำสาบานแล้ว สาบานเลย ไม่มีพิธีถอนคำสาบาน แต่มันได้แสดงถึงธาตุแท้ตัวตนของคนนั้นให้เขารอรับผลของคำสาปแช่ง ได้เลย

 

<ถ้ากฎหมาย> มีช่องว่าง

 

<ถ้ากฎสังคม> อมเงินพูดได้

 

<ถ้ากฎแห่งกรรม> มาช้าเกินไป ไม่ทันใจ

 

ก็ลองใช้ <โองการแช่งน้ำ> สักครั้ง

 

เผื่อบางทีประเทศไทยจะมีถนนที่สร้างจากทองคำตามคำพูดของ <ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช> ก็เป็นได้

 

<บทกวี> ส่งท้าย

 

ต้องดื่มน้ำ พระพิพัฒน์ สัตยา
ต้องสาบาน ว่าตายห่า และตายโหง
ต้องยึดทรัพย์ จับติดคุก ทุกการโกง
ต้องเปิดโปง ประจาน ทุกวันไป

 

ต้องยกย่อง คนทำดี มีคุณธรรม
ต้องเน้นย้ำ ใครทำดี ดีต้องได้
ต้องส่งเสริม ศีลธรรม ประจำใจ
ต้องไม่ให้ คนไม่ดี มีที่ยืน

 

<คนดี> ที่นิ่งดูดาย
ก็เลวร้ายไม่น้อยไปกว่า
<คนถ่อย> ที่ทำลาย
องค์กรและประเทศชาติ
อย่างยับเยิน

 

 

พล.ต.ต.ไอยศูรย์ สิงหนาท

ข่าวในหมวดเดียวกัน

เพิ่มเติม...

การเมือง

คอลัมนิสต์

คมในความ

มหาราษฎร์ Shorts

ภาพเก่าเล่าอดีต

ไฮไลท์

ข่าวประชาสัมพันธ์

ตำรวจ ทหาร อัยการ ศาล คุก

ท่องเที่ยว

ศาสนา

สุขภาพ

แวดวงนักรบ

สังคม

บทบาทบุคคล

< กลับหมวดคอลัมนิสต์

เรื่องล่าสุด