ปลัด มท. มอบแนวทางการขับเคลื่อนงานบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้แก่ชาวราชสีห์ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร เน้นย้ำ “ผู้นำดี ทีมดี พี่น้องประชาชนก็มีความสุข” คนมหาดไทยต้องเป็นผู้นำบูรณาการงานทุกกระทรวงในพื้นที่ เพื่อสนองพระราชปณิธาน “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” อย่างยั่งยืน
วันนี้ (11 มี.ค. 67) เวลา 09.15 น. ที่ห้องประชุมแก้วกินรี ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและภารกิจสำคัญของกระทรวงมหาดไทย ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร โดยมี นายสมชัย เลิศประสิทธิพันธ์ รองอธิบดีกรมการปกครอง นายเธียรชัย ชูกิตติวิบูลย์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายศิริพันธ์ ศรีกงพลี รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายพรรณรบ เตชะมงคลาภิวัฒน์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อาจารย์ขวัญทอง สอนศิริ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมประชุม โอกาสนี้ นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดมุกดาหาร นายบุญเรือง เมฆฉิม นายวิวัฒน์ อินทร์ไทยวงศ์ นายไกร เอี่ยมจุฬา รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร นายเอกราช มณีกรรณ์ ปลัดจังหวัดมุกดาหาร นายสุเทพ แก้วทอง หัวหน้าสำนักงานจังหวัดมุกดาหาร หัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร นายอำเภอ และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการตรวจติดตามการขับเคลื่อนงานในพื้นที่ระหว่างวันที่ 10 – 11 มี.ค. 2567 นี้ ต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารที่ได้ช่วยเป็น “ผู้นำ” ในการทำหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ให้กับพี่น้องประชาชนชาวมุกดาหารอย่างดียิ่ง ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่เป็นอย่างดีอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยกย่องชื่นชมของผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนภาคีเครือข่าย แสดงให้เห็นว่าการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะ “ผู้นำของจังหวัด” ได้รับคำชื่นชม มีผลงานที่ดีได้นั้น ด้วยเพราะท่านนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการในพื้นที่ทุกคนได้ช่วยเหลือการทำงาน จนทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและจังหวัดมุกดาหารมีชื่อเสียง จึงขอเน้นย้ำว่า “ผู้นำดี ทีมดี พี่น้องประชาชนก็มีความสุข” เพราะคนมหาดไทยทุกคนไม่ใช่เป็นแต่เพียงแค่ลูกน้อง แต่ทุกคนก็เป็นหัวหน้าเหมือนกัน และทุกคนก็มีหัวหน้าเหมือนกัน เราทุกคนต้องทำหน้าที่หัวหน้าในฐานะผู้นำ และทำหน้าที่ในฐานะทีมงานของผู้นำไปพร้อม ๆ กันให้ดีที่สุด เพราะมุกดาหารเป็นจังหวัดที่ขับเคลื่อนงานเพื่อพี่น้องประชาชนเป็นจำนวนมาก สะท้อนจากการลงพื้นที่ตรวจติดตามงานที่ผ่านมา ทำให้รู้โดยทันทีว่า “ทุกวินาทีมีคุณค่ามาก” เพราะทำให้ได้เห็นสิ่งที่ดีงามของอำเภอคำชะอีว่าเป็นดินแดนแห่งความสุข และอำเภอหนองสูงที่เป็นดินแดนแห่งความรักสามัคคีของพี่น้องคนไทยและคนชาติพันธุ์ผู้ไท
“เมื่อกล่าวถึงในระดับพื้นที่อำเภอ “นายอำเภอ” เป็น “ผู้นำของอำเภอ” และยังเป็นหัวหน้าของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่ต้องอยู่ในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็น Chief Officer เป็นแม่ทัพที่ต้องตัดสินใจ คอยอยู่บำรุงขวัญให้ประชาชน เพราะงานของคนมหาดไทย หรืองานของคนปกครอง “มีหน้าที่บำบัดทุกข์ บำรุงสุข 24 ชั่วโมง” ทั้งนี้ คนมหาดไทยต้องช่วยกันเป็นผู้นำในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดี เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีความไว้วางใจ เคารพนับถือ และอุ่นใจว่า “เราเป็นที่พึ่งได้” ด้วยการทำงานอย่างไม่รู้จักคำว่าเหน็ดเหนื่อย หมั่นลงพื้นที่ไปทำงานในลักษณะที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ องค์ปฐมเสนาบดี ได้ประทานข้อคิดการทำงานไว้ว่า “รองเท้าสึกก่อนกางเกงขาด” และทรงสรุปไว้อย่างชัดเจนว่า “การที่จะทำให้เราเป็นที่เคารพเชื่อถือ ไม่ได้อยู่ที่อำนาจหรือพระราชศัตราวุธที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ แต่อยู่ที่พี่น้องประชาชน” ซึ่งความรักจะเกิดขึ้นได้ พวกเราทุกคนต้องใกล้ชิดสนิทสนม ทำงานแบบเท้าติดดิน อยู่กับพี่น้องประชาชน ด้วยการหมั่นพูดคุย หมั่นเยี่ยมเยียน ติดตามถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ต้องมี “วิสฺสาสปรมา ญาติ : ความคุ้นเคยเป็นญาติอย่างยิ่ง” เห็นพี่น้องประชาชนเป็นเหมือนญาติมิตร อันมีความหมายที่สอดคล้องตรงกับคำว่า “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน”“ นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานอันมุ่งมั่นในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมราชบพิตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “หลักการทรงงาน” ซึ่งทรงสรุปไว้ว่า การทำงานจะประสบความสำเร็จได้ต้องยึดหลัก “บวร” หรือภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคี อันประกอบด้วย ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ด้วยการทำงานตามหลัก 4 ร คือ ร่วมพูดคุย ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับประโยชน์ เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของจังหวัด นายอำเภอเปรียบเสมือนนายกรัฐมนตรีของอำเภอ ที่จะต้องติดตาม ปรึกษางานของทุกกระทรวงที่อยู่ในพื้นที่จังหวัด พื้นที่อำเภอ ต้องพูดคุยถามไถ่หัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการทุกสังกัดในพื้นที่ เพื่อจะได้เป็นเพื่อนคู่คิด ร่วมเสนอแนะตัดสินใจ นำไปสู่การผลักดันขับเคลื่อนสิ่งที่ดี ที่เป็นเป้าหมาย เป้าประสงค์ของรัฐบาล และทุกกระทรวง ให้เกิดขึ้น ด้วยเพราะสังคมนี้มีผู้นำ ซึ่งผู้นำในการบริหารราชการแผนดิน คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ที่ต้องเป็นธุระผลักดันขับเคลื่อนให้เพื่อนกระทรวงอื่นทำงานเพื่อให้เกิดผลดีกับพี่น้องประชาชนในจังหวัด ในอำเภอของเรา ด้วยพลังความสามัคคี เพราะ “สามัคคีคือพลัง”
“นอกจากนี้ คนมหาดไทยต้องทำงานบนพื้นฐานความตั้งใจที่อยากจะ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” พี่น้องประชาชน โดยต้องกำหนดพื้นฐานย่างก้าวการวางตัวและการทำงาน คือ ต้อง “ครองตน” ให้ดี อย่ามีโมหะ มีอคติ เพราะจะทำให้การพัฒนาตนเองไม่เกิด ต้องเข้าใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นเรื่องดี ถัดมา คือ “ครองคน” ด้วยการทำให้เขาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียว ทั้งมีความอ่อนน้อมถ่อมตน ความสนิทสนมคุ้นเคย บวกกับเรื่องงาน งานเขาเราก็ช่วย งานเราก็ให้เขามีส่วนร่วม งานสำเร็จเราก็ชม และ “ครองงาน” ซึ่ง นายพิศาล มูลศาสตรสาทร อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เคยกล่าวถึงการทำงานของคนมหาดไทย ที่ต้องเป็น “ประดุจเทียนไขละลายตน” ที่ต้องยอมสละตนเอง เพื่อให้แสงสว่าง ความอบอุ่น ความรุ่งโรจน์โชติช่วงชัชวาล และความสุขที่ยั่งยืนกับพี่น้องประชาชน และสิ่งที่คนมหาดไทยต้องแสดงออกในทุกโอกาสอย่างชัดเจน คือ ต้องเทิดทูนและจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะเรารู้ดีแก่ใจว่าชาติไทยสามารถดำรงคงอยู่ได้ เพราะเรามีพระมหากษัตริย์เป็นธงชัยที่สำคัญของประเทศชาติ และคนมหาดไทยก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในฐานะผู้สนองงานพระองค์ท่านเหมือนพระกรด้านขวา นับเนื่องแต่อดีต คือ ตำแหน่ง “สมุหนายก” ที่บังคับบัญชาหัวเมือง เจ้าเมือง เทศาภิบาล นายอำเภอ นายพัน นายแขวง และกระบวนงานเหล่านั้นล้วนถูกถ่ายทอดมาสู่กระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน และในทุกครั้งที่มีการเสด็จพระราชดำเนินในพื้นที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นลำดับแรกของผู้มีตำแหน่งเฝ้า เช่นเดียวกันในพื้นที่อำเภอ นายอำเภอก็จะยืนลำดับแรก ซึ่งเป็นเกียรติยศ เป็นความไว้วางพระราชหฤทัยที่สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงมีต่อพวกเรา เพราะพระองค์ท่านทรงมุ่งหวังว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เป็นผู้นำในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ดูแลพสกนิกรของพระองค์ท่าน น้อมนำโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระดำริ ตลอดจนพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส มาเป็นหลักชัยในการขับเคลื่อนปฏิบัติงานควบคู่กับนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง และพวกเราต้องช่วยกันบอก ถ่ายทอด ปลูกฝังน้อง ๆ ว่า “เราคือข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ที่ต้องช่วยกันสนองพระราชดำริ พระดำริ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เทิดพระเกียรติคุณ เฉกเช่นการส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชาติไทยและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่กระทรวงมหาดไทยอยู่ระหว่างดำเนินการฝึกอบรมถึงรุ่นที่ 10 ในขณะนี้ เมื่อผู้ผ่านการฝึกอบรมได้อบรมเสร็จแล้ว ท่านผู้ว่าฯ และท่านนายอำเภอจะต้องหนุนเสริมบทบาทของพวกเขาให้มีโอกาสไปถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้รับการฝึกอบรมทั้งในโรงเรียน ในชุมชน ในเวทีประชาคม ในการประชุมต่าง ๆ เพราะประวัติศาสตร์ที่ได้รับการฝึกอบรมนี้ เป็นเรื่องจริงที่ไม่เคยมีคนพูด ที่เราต้องช่วยกันถ่ายทอดอย่างแพร่หลาย เพื่อไม่ให้เรื่องราวที่ถูกบิดเบือนตามสื่อต่าง ๆ กลายเป็นเรื่องที่คนโดยทั่วไปโดยเฉพาะลูกหลาน เด็กและเยาวชน ซึมซับจนเข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวในช่วงท้ายว่า ขอให้นายอำเภอได้เป็นผู้นำในการสร้างทีม ทั้งทีมที่เป็นทางการ คือ ข้าราชการ และกลไกตามกฎหมายในพื้นที่ และทีมที่ไม่เป็นทางการ คือ ทีมจิตอาสาจาก 7 ภาคีเครือข่าย หมั่นลงพื้นที่ไปพบปะประชาชนทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทำให้ทุกพื้นที่เป็นพื้นที่แห่งความยั่งยืน ตามพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา รวมทั้งการน้อมนำแนวพระราชดำริสร้างความมั่นคงด้านอาหารของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” คือ
1) มีผักกินเองปลูกเอง
2) รู้จักเก็บเมล็ดพันธุ์
3) ผู้จัดแบ่งปันผลผลิตและเมล็ดพันธุ์
และ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” ตลอดจนถึงการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วยการคัดแยกขยะ ทำให้ประชาชนเป็นมนุษย์ 3Rs ใช้น้อย ใช้ซ้ำ นำกลับมาใช้ใหม่ จัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน รณรงค์ร่วมกันสวมใส่ผ้าไทย เพื่อทำให้ประชาชนในถิ่นชนบทที่เป็นช่างทอผ้าและคนทำผ้า ได้มีงาน มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนได้เป็นผู้มีจิตอาสา ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การสร้างความรัก ความสามัคคี ทำให้ระบบคุ้มบ้าน หย่อมบ้าน กลุ่มบ้าน กลับมาเป็นกลไกในการดูแลสมาชิกในชุมชน มีน้ำไว้อุปโภคบริโภค ด้วยการขุดบ่อน้ำตื้นประจำครัวเรือน มีระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณีและถ่ายทอดสู่ลูกหลาน และในด้านการแก้ไขปัญหายาเสพติด ในส่วน Quick-win ต้องค้นหาผู้ป่วยจิตเภท เพื่อส่งเข้ารับการรักษาอย่างครบถ้วนในทุกพื้นที่ ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งหน้าที่ของพวกเราชาวมหาดไทยและข้าราชการทุกคน ต่างมีความมุ่งมั่นปรารถนาที่จะสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข ดังพระราชดำรัสที่ว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”