ตีความแคบเกินไป!!
‘ดร.หิมาลัย’ แชร์มุมมอง!! หลัง ‘วุฒิสภา’ ลงมติลับขวาง ‘บิ๊กจ้าว’ นั่ง ‘ป.ป.ช.’
เหตุใดจึงยกเกณฑ์เทียบตำแหน่ง ‘ผบช.น.’ ไม่เทียบเท่า ‘อธิบดี’ มาชี้วัด
วันที่ 6 มีนาคม 2567 ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี/ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู ได้โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมได้ให้ความเห็นทางกฎหมาย ตอบโต้ สว.ส่วนหนึ่ง ที่เห็นว่า ตำแหน่ง ผบช.น ไม่เทียบเท่าอธิบดี ระบุว่า…
จากกรณี วุฒิสภา ลงมติลับ มีมติ 88 ต่อ 80 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่เห็นชอบให้ ‘บิ๊กจ้าว’ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. แทน พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ อดีต กรรมการ ป.ป.ช. ที่พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ เมื่อช่วงกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดย สว.ส่วนหนึ่ง มองว่า ตำแหน่ง ‘ผู้บัญชา
การตำรวจนครบาล’ ไม่เทียบเท่าได้กับตำแหน่ง ‘อธิบดี’ และคุณสมบัติต่างๆ ไม่เข้าเกณฑ์นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.หิมาลัย ผิวพรรณ คณะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี/ประธานที่ปรึกษามูลนิธิพระราหู ได้ให้ความเห็นทางกฎหมาย ตอบโต้ สว.ส่วนหนึ่ง ที่เห็นว่า ตำแหน่ง ผบช.น ไม่เทียบเท่าอธิบดี ระบุว่า…
ตามที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชนต่างๆ เกี่ยวกับกรณีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. ให้ดำรงตำแหน่ง กรรมการ ป.ป.ช. ตามที่คณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว
โดยตามข่าวมีการกล่าวอ้างว่าที่ประชุมวุฒิสภาได้ถกเถียงปัญหาขาดคุณสมบัติการเป็นผู้ได้รับการสรรหาเป็น ป.ป.ช.ของ พล.ต.ท.ธิติฯ เพราะ มาตรา 9 วรรคสอง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ระบุว่า…
“ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าไม่น้อยกว่า 5 ปี”
แต่ตำแหน่ง ผบช.น. นั้น สว.หลายคนเห็นว่าไม่สามารถเทียบเท่าได้กับตำแหน่งอธิบดี
ทั้งนี้ แม้จะอ้าง พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 และระเบียบ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 ให้ตำแหน่ง ผบช.น. สามารถเทียบเท่าอธิบดีได้นั้น แต่ สว.หลายคนเห็นว่า พ.ร.บ. และระเบียบ ก.ตร. ดังกล่าวใช้บังคับแค่หน่วยงานตำรวจหรือทหาร ไม่ครอบคลุมถึงองค์กรอิสระ ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาได้ลงมติไม่เห็นชอบ พล.ต.ท.ธิติฯ ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. ด้วยคะแนน 88 ต่อ 80 ไม่ออกเสียง 30 ถือว่าไม่ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา
ด้วยความเคารพต่อมติที่ประชุมของวุฒิสภา หากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่ปรากฏตามเนื้อหาข่าวข้างต้น โดยมีการยกประเด็นเรื่องการขาดคุณสมบัติของ พล.ต.ท.ธิติฯ ผบช.น. มาเป็นประเด็นในการพิจารณา โดยเห็นว่าตำแหน่ง ผบช.น. ไม่สามารถเทียบเท่าได้กับตำแหน่งอธิบดี นั้น กระผมด้วยความบริสุทธิ์ใจขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว โดยมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้…
1. พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
มาตรา 9 วรรคสอง (2) บัญญัติว่า “ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย บัญชี เศรษฐศาสตร์ การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการอื่นใดอันเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ด้วย…
2. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี…”
มาตรา 12 บัญญัติว่า “เมื่อมีกรณีที่จะต้องสรรหาผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตามมาตรา 9 ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งประกอบด้วย…
– ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
– ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
– ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
– บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา…”
มาตรา 16 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ให้เป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด
พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562
– มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ ‘ส่วนราชการ’ หมายความว่า หน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน ทหาร หรือตำรวจ ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ
– มาตรา 4 ในการพิจารณาเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี อย่างน้อยต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้…
(1) เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามกฎหมายอื่น
(2) เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการไม่ว่าส่วนราชการนั้นจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่
(3) เป็นตำแหน่งประเภทบริหารซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการบังคับบัญชา บริหารงาน บริหารงานบุคคล และบริหารงบประมาณของส่วนราชการนั้น ซึ่งไม่รวมถึงหน้าที่และอำนาจในฐานะผู้รับมอบอำนาจ
มาตรา 5 เพื่อประโยชน์ในการเทียบตำแหน่งตามพระราชบัญญัตินี้ ให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลตามกฎหมายของแต่ละส่วนราชการวางระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี สำหรับใช้กับข้าราชการในส่วนราชการของตน โดยการวางระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดในมาตรา 4 รวมทั้งมีหน้าที่และอำนาจในการเทียบตำแหน่งข้าราชการในส่วนราชการของตนตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนั้น …”
3. ระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563
4. การพิจารณาเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี ให้เป็นตามหลักเกณฑ์ ดังนี้…
– เป็นตำแหน่งที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือตามกฎหมายอื่น
– เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการตามกฎหมายไม่ว่าส่วนราชการนั้นจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่
– เป็นตำแหน่งประเภทบริหารซึ่งมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการบังคับบัญชา บริหารงาน บริหารงานบุคคล และบริหารงบประมาณของส่วนราชการนั้น ซึ่งไม่รวมถึงหน้าที่และอำนาจในฐานะผู้รับมอบอำนาจ โดยสามารถพิจารณาได้จากภารกิจ อำนาจหน้าที่ ลักษณะงานที่ปฏิบัติตามที่ปรากฎในกฎหมาย และได้รับเงินประจำตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตามกฎหมายว่าด้วยการได้รับเงินประจำตำแหน่งของข้าราชการตำรวจ
เมื่อพิจารณา มาตรา 9 วรรคสอง (2) ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 จะเห็นได้ว่ากฎหมายกำหนดคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหา มี 2 กรณี คือ…
(1) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือ
(2) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
ซึ่งในกรณีของข้อ 1. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี ไม่มีประเด็นหรือข้อสงสัย
แต่ในกรณีของข้อ 2. รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นั้นเห็นว่า เนื่องจากหน่วยงานทางราชการของประเทศไทยมีหลายหน่วยงาน ซึ่งมีโครงสร้างและมีชื่อเรียกหัวหน้าส่วนราชการแตกต่างกันไป และไม่ได้มีชื่อเรียกตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการว่าอธิบดี และบางหน่วยงานมีลักษณะของโครงสร้างหน่วยงานที่ใหญ่โต มีหน่วยงานหรือส่วนราชการในสังกัด และกำลังพลภายใต้การบริหารงานและการบังคับบัญชาจำนวนมาก แต่ละหน่วยย่อยได้รับการจัดสรรงบประมาณ สามารถบริหารงบประมาณได้เองโดยตรง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองทัพบก กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ ฯลฯ ซึ่งมีกำลังพลหลักแสนนาย
ซึ่งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า คือ ตำแหน่งใดบ้าง จึงต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 ที่มีเจตนารมณ์ในการประกาศใช้คือ เป็นหลักเกณฑ์กลางในการเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการอื่นกับตำแหน่งอธิบดี เพื่อให้การปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ มีความสอดคล้องกัน ดังที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 3 ที่ให้นิยามของคำว่า ‘ส่วนราชการ’ (หมายถึง หน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน, ทหาร หรือตำรวจ ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ) กับมาตรา 4 (หลักเกณฑ์การพิจารณาเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี) และ มาตรา 5 (กำหนดให้องค์กรกลางบริหารงานบุคคลตามกฎหมายของแต่ละส่วนราชการวางระเบียบที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี)
โดยในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก.ตร. ได้ออกระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 แล้ว ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 ทุกประการ โดยได้กำหนดบัญชีตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี ซึ่งได้รับอนุมัติจาก ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ 3/2563 เมื่อ 27 เม.ย.63 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่ง ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อ 16 มี.ค.63 สรุปได้ว่า…
‘ตำแหน่งระดับ’ >> “ผู้บังคับการ, ผู้บัญชาการ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี ซึ่งเมื่อระเบียบดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการเทียบตำแหน่งแล้ว (คณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.ฯ) บัญชีตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ย่อมใช้บังคับได้เป็นการทั่วไป เทียบได้กับหน่วยงานหรือส่วนราชการอื่นตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว
การที่ สว. เห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับแค่หน่วยงานตำรวจหรือทหาร ไม่ครอบคลุมถึงองค์กรอิสระนั้น จึงไม่อาจเห็นพ้องด้วย
ดังนั้น ข้าราชการตำรวจที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ย่อมเป็นผู้มีคุณสมบัติ ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2661 มาตรา 9 วรรคสอง (2)
นอกจากนี้ ในประเด็นอำนาจหน้าที่ของผู้พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครหรือผู้ได้รับการสรรหา ตามมาตรา 16 วรรคหนึ่งแห่ง พ.ร.ป.ดังกล่าว กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของของคณะกรรมการสรรหาเป็นผู้วินิจฉัย คำวินิจฉัยของคณะกรรมการสรรหาให้เป็นที่สุด โดยที่คณะกรรมการสรรหา ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ป.ดังกล่าวประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา, ประธานสภาผู้แทนราษฎร, ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มิใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรมการสรรหาแต่ละท่าน ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่สำคัญของประเทศและมีตำแหน่งสูงสุดของหน่วยงาน
ดังนั้น หากมีประเด็นปัญหาข้อขัดข้องเรื่องการเทียบตำแหน่งอันเป็นประเด็นสำคัญที่จะพิจารณาคุณสมบัติของผู้ได้รับการสรรหา ย่อมเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการสรรหาที่จะพิจารณาเทียบตำแหน่งจนได้ข้อยุติและเป็นที่สุด
ทั้งนี้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ออกมาใช้บังคับเมื่อปี พ.ศ.2561 ส่วน พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 ได้ออกบังคับใช้ปี พ.ศ.2562 ภายหลัง พ.ร.ป.ฯ ดังกล่าว ซึ่งหลักการพิจารณาออกกฎหมายแต่ละฉบับ จะต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองตรวจทานเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เนื้อหาหรือข้อความขัดหรือแย้ง กับกฎหมายที่ออกมาบังคับใช้ก่อนหน้าแล้ว
เมื่อ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 มาตรา 3 ได้ให้นิยามของคำว่า ‘ส่วนราชการ’ หมายความว่า หน่วยงานของรัฐในฝ่ายพลเรือน, ทหาร หรือตำรวจ ที่มีกฎหมายกำหนดให้มีฐานะหรือเรียกว่าส่วนราชการ จึงสอดคล้องกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 9 วรรคสอง (2) ที่บัญญัตติว่า …
“……หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี” แล้ว … กระผมจึงเห็นว่า พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2562 และ ระเบียบ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเทียบตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เทียบเท่าอธิบดี พ.ศ.2563 ครอบคลุมถึง องค์กรอิสระอื่นๆ ซึ่งรวมถึง ป.ป.ช. ด้วยการที่ สว. พิจารณาว่า พ.ร.บ.ฯ และระเบียบ ตร. ดังกล่าวซึ่งเทียบตำแหน่ง ‘ผู้บังคับการ’ และ ‘ผู้บัญชาการ’ ให้เทียบเท่าอธิบดีนั้นไม่สามารถใช้บังคับเป็นการทั่วไปได้
กระผมเห็นว่าเป็นการตีความที่แคบจนเกินไป!! … ทำให้ผู้มีคุณสมบัติที่จะเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเหลือเพียงตำแหน่ง ผบ.ตร. ซึ่งจะต้องดำรงตำแหน่งไม่น้อยกว่า 5 ปี และหมายความรวมถึงข้าราชการฝ่ายทหารที่เป็นผู้นำสูงสุดของหน่วยด้วย ซึ่งตามประวัติศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ถึง 5 ปี มีเพียงคนเดียว ทั้งตามมาตรา 9 วรรคสอง (2) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ใช้คำว่า ..อธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า… ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า ไม่ได้ประสงค์ที่จะจำกัดแต่เฉพาะหัวหน้าหน่วยงานเท่านั้น
ดังนั้น การพิจารณาตีความคุณสมบัติของกรรมการ ป.ป.ช. จึงควรที่จะพิจารณาตีความอย่างกว้างเพื่อเปิดโอกาสให้กับบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทั้งในด้านความมั่นคง และด้านการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อทำหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช. ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐและประเทศชาติต่อไป
อนึ่ง การลงบทความของกระผมครั้งนี้ เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นในเชิงกฎหมาย ไม่ได้พาดพิงหรือต้องการกระทำให้บุคคลใดได้รับความเสียหาย หรือเสื่อมเสียชื่อเสียงแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นการแสดงออกในแง่มุมของกฎหมายที่เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมโดยรวม ตลอดจนเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ขอบคุณครับ