“….เนื่องจากภาพที่ปรากฏตามสื่อมวลชนนายทักษิณยังช่วยตัวเองได้ นั่งริมสระน้ำได้ ร่วมรับประทานอาหารกับอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จฮุนเซนได้ …”
วันศุกร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เวลา ๑๑.๓๐ น.ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ผ่าน นายพันศักดิ์ เจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้เพิกถอนการพักโทษ นช.ทักษิณ ชินวัตร หมายเลขทะเบียนนักโทษ ๖๖๕๐๑๐๒๖๖๘ เนื่องจากมิได้พักโทษตามกฎหมายและประกาศกรมราชทัณฑ์
โดยนายวัชระ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ตามที่กรมราชทัณฑ์ได้แถลงข่าวเมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ กรณีการปล่อยตัวพักการลงโทษนายทักษิณ ชินวัตร หมายเลขทะเบียนนักโทษ ๖๖๕๐๑๐๒๖๖๘ จัดอยู่ในกลุ่มผู้มีอายุตั้งแต่ ๗๐ ปีขึ้นไปโดยมีคุณสมบัติและหลักเกณฑ์ทั่วไปครบตามที่กำหนดไว้ในประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ ๗๐ ปีขึ้นไป ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ คือ เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลาง ต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า ๖ เดือน หรือ ๑ ใน ๓ ของกำหนดโทษแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นายแก้วสรร อติโพธิ ทำจดหมายเปิดผนึกถึง ป.ป.ช. เรื่องขอแจ้งเค้ามูลการพักโทษนายทักษิณ ชินวัตร โดยผิดกฎหมาย มีสาระสำคัญข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้
๑. ข้อกฎหมาย ตามหลักเกณฑ์การพักโทษของกรมราชทัณฑ์ได้วางหลักเกณฑ์ไว้เป็นองค์ประกอบ ๓ ประการประกอบกัน คือ
๑.๑ นักโทษอายุ ๗๐ ปีขึ้นไป
๑.๒ รับโทษมาแล้วเป็นเวลา ๖ เดือนหรือ ๑ ใน ๓ ของโทษตามกฎหมาย แจ้งโทษอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ว่าเงื่อนเวลาใดจะยากกว่ากัน
๑.๓ นักโทษนั้นต้องอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย
๒. ข้อเท็จจริง ข่าวกรมราชทัณฑ์ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ระบุแต่เพียงเงื่อนไขทางอายุและเวลาที่ต้องโทษเท่านั้น มิได้ยืนยันระบุให้เห็นว่านายทักษิณมีสมรรถภาพช่วยเหลือตัวเองได้เพียงใด มีหลักฐานตามใบประเมินของกรมอนามัยมาแสดงโดยได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน ๑๑ คะแนน ตามที่กำหนดไว้ในประกาศหรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้สร้างความเคลือบแคลงสงสัยให้กับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศว่านายทักษิณเข้าหลักเกณฑ์ข้อ ๔ (๑) ตามประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่องหลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษเนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ ๗๐ ปีขึ้นไป ลงวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ หรือไม่ และคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ พิจารณาชอบด้วยกฎหมายและประกาศกรมราชทัณฑ์หรือไม่ เนื่องจากภาพที่ปรากฏตามสื่อมวลชนนายทักษิณยังช่วยตัวเองได้ นั่งริมสระน้ำได้ ร่วมรับประทานอาหารกับอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา สมเด็จฮุนเซนได้ จนมีการตั้งกระทู้ถามสดในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรกับ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในประเด็นดังกล่าวอภิปรายในสภาฯ ซึ่ง พ.ต.อ.ทวี ก็ยอมรับว่าได้คะแนนประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ตามข่าวที่ปรากฎ แต่ความจริงที่ปรากฏ น.ช.ทักษิณดูอิ่มเอิบสุขสบาย ไม่ใช่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แต่อย่างใด
นายวัชระ กล่าวต่อว่า “…ดังนั้น ขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลโปรดสั่งการให้หน่วยงานของรัฐที่ท่านกำกับดูแลและมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการ ดังนี้
๑. ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาวินิจฉัยการพักการลงโทษ กระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมว่า อนุมัติให้พักโทษถูกต้องตามกฎหมายและข้อเท็จจริงหรือไม่ ตามเหตุผลสำคัญในหนังสือร้องเรียนของนายแก้วสรร อติโพธิ อนึ่งทราบข่าวว่าอนุกรรมการฯ ลาออกไป ๒ คน และอธิบดีไปทำกันเองภายในกับเจ้าหน้าที่ที่กระทรวงจริงหรือไม่
๒. ยกเลิกการอนุมัติพักโทษ นช.ทักษิณ ชินวัตร หมายเลขทะเบียนนักโทษ ๖๖๕๐๑๐๒๖๖๘ เนื่องจากมิได้มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศกรมราชทัณฑ์จริง เพื่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน…” นายวัชระกล่าวในที่สุด