“พาณิชย์-DITP” แนะทริกเจาะตลาดโรมาเนีย ใช้อินฟลูเอนเซอร์แนะนำสินค้าไทย
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) แนะทริกผู้ส่งออก เจาะตลาดโรมาเนีย พิจารณาใช้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยแนะนำสินค้า เพื่อเพิ่มโอกาสขายหลังชาวโรมาเนียนิยมใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้นทั้ง Facebook , Instagram และ TikTok
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) เปิดเผยว่า กรมฯได้มอบนโยบายให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทำการสำรวจลู่ทางและโอกาสการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศที่ประจำอยู่ และให้รายงานผลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้รับรายงานจากนางสาวฐะปะนีย์ เครื่องประดิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ ฮังการี ถึงผลการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้สื่อดิจิทัลจากผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ในประเทศโรมาเนีย และโอกาสในการขยายตลาดสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดโรมาเนียผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย
ทั้งนี้ ทูตพาณิชย์ได้รายงานข้อมูลผลการสำรวจว่า ผู้บริโภคชาวโรมาเนียนิยมใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการค้นหาข้อมูล การติดต่อสื่อสาร และความผ่อนคลาย มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต 89.2% ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่ 91.5% แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสำคัญที่ชาวโรมาเนียนิยมใช้ ได้แก่ Facebook, Instagram และ TikTok โดย Facebook ได้รับความนิยมมากที่สุดในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปี ในขณะที่ Instagram และ TikTok ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี เนื้อหาที่ได้รับความนิยมบนโซเชียลมีเดีย ได้แก่ รูปภาพและวิดีโอ ส่วนประเภทคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมบน TikTok คือ คอนเทนต์เกี่ยวกับแบรนด์แฟชั่นและความงาม
โดยชาวโรมาเนียส่วนมากชอบการมีส่วนร่วมกับชุมชน (Engagement) บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยนิยมใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูล ติดต่อกับเพื่อนและสมาชิกครอบครัว แต่ในระยะหลัง ๆ มานี้ การสร้างชุมชนออนไลน์สำหรับผู้ที่สนใจในประเด็นเดียวกัน เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูล แนะนำสินค้าใหม่ ๆ หรือมีการทำกิจกรรมนอกบ้านร่วมกัน เป็นที่นิยมมากขึ้น การสร้างการรับรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ในโรมาเนีย โดยเฉพาะการใช้วิธีการทางโซเชียลมีเดียเป็นการเพิ่มช่องทางการสื่อสารแบบ Interactive และทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ เกิดเป็นชุมชนออนไลน์ที่ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยเรื่องทั่วไป หรืออาจเป็นช่องทางสำหรับการเริ่มต้นติดต่อประสานงานสร้างเครือข่าย ช่องทางการค้าอย่างต่อเนื่อง และหากมีการพูดคุยนำเสนอสินค้าของแต่ละฝ่ายที่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้ก็อาจเป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการขยายตลาดการค้าจากออนไลน์สู่ออฟไลน์
สำหรับแพลตฟอร์มที่ชาวโรมาเนียทุกช่วงอายุยังคงนิยมใช้มากอยู่คือ Facebook ซึ่งมีช่องทางให้ผู้ใช้สามารถนำไปใช้ต่อได้ เช่น การใช้ประโยชน์จากฟังก์ชันการแท็ก และฟีเจอร์ Local Targeting ในการโฆษณาให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ สำหรับการใช้งาน TikTok มักอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคอายุน้อย แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสในการสร้างกลยุทธ์ทางการตลาดที่สร้างสรรค์สอดคล้องกับความสนใจของผู้บริโภควัยรุ่น
“ปัจจัยสำคัญในปัจจุบันที่มีผลต่อการสนใจสินค้าหรือบริการต่างๆ ก็คือ อินฟลูเอนเซอร์ (Influencers) ซึ่งการสื่อสารของ Influencers มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคตั้งแต่วัยกลางคนลงมาจนถึงวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม Influencers ส่วนใหญ่ที่เป็นที่ชื่นชอบของคนจำนวนมาก มักคิดค่าบริการค่อนข้างสูงต่อการประชาสัมพันธ์ต่อหนึ่งครั้ง ดังนั้น หากผู้ประกอบการไทยต้องการเข้าสู่การค้าในตลาดโรมาเนีย หรือประเทศอื่น ๆ ทูตพาณิชย์มีข้อแนะนำให้พิจารณาเลือก Influencers ที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราคาเหมาะสมกับงบประมาณ และมีความตั้งใจที่จะส่งเสริมสินค้าไทยอย่างแท้จริง”นายภูสิตกล่าว
สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ http://www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169